งานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่ออนไลน์เมื่อวานนี้ (20 กรกฎาคม) ชี้ว่า วัคซีนต้านโควิดแบบใช้โดสเดียวที่ผลิตโดย Johnson & Johnson มีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาและแลมบ์ดา เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม
อย่างไรก็ตาม แม้การค้นพบนี้เป็นผลจากการทดลองกับตัวอย่างเลือดในห้องปฏิบัติการและอาจไม่สะท้อนประสิทธิภาพของวัคซีนในโลกจริง แต่ข้อสรุปนี้เป็นหลักฐานได้ว่าผู้ที่รับวัคซีน J&J ไปแล้วจำนวน 13 ล้านคนอาจต้องรับวัคซีนโดสที่ 2 ซึ่งอาจเป็นวัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer-BioNTech หรือ Moderna
ทั้งนี้ผลการศึกษาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับงานวิจัยที่เผยแพร่โดย Johnson & Johnson เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าวัคซีนเพียงเข็มเดียวของ Johnson & Johnson มีประสิทธิภาพต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แม้ว่าจะฉีดวัคซีนไปแล้ว 8 เดือนก็ตาม
อย่างไรก็ดี งานวิจัยใหม่นี้ยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ และยังไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ ทว่าก็สอดคล้องกับข้อสังเกตที่ว่าวัคซีนเข็มเดียวของ AstraZeneca ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายกับวัคซีน J&J นั้น มีประสิทธิภาพเพียง 33% ในการป้องก้นการเกิดอาการของโรคหลังติดโควิดสายพันธุ์เดลตา
“ข้อความที่เราต้องการสื่อสารไม่ได้หมายถึงว่าประชาชนไม่ควรรับวัคซีน J&J แต่เราหวังว่าในอนาคต จะมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนอีกโดสของ J&J หรือวัคซีน Pfizer หรือ Moderna” นาธาเนียล ลันเดา นักไวรัสวิทยาจาก Grossman School of Medicine ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าว
ด้านผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ระบุว่า ผลการศึกษานี้เป็นไปตามที่พวกเขาคาดไว้ เพราะวัคซีนทั้งหมดจะทำงานได้ดีขึ้นหากฉีด 2 โดส
“ผมคิดเสมอและพูดบ่อยๆ ว่า วัคซีน J&J เป็นวัคซีนแบบ 2 โดส” ดร.จอห์น มัวร์ นักไวรัสวิทยาจาก Weill Cornell Medicine ในนิวยอร์กกล่าว
ดร.มัวร์ ชี้ว่า การศึกษาหลายชิ้นที่ทดลองกับลิงและคน แสดงให้เห็นประสิทธิภาพที่ดีกว่าเมื่อฉีดวัคซีน J&J 2 โดส เขายังกล่าวด้วยว่างานวิจัยใหม่นี้มีความน่าเชื่อถือเป็นพิเศษ เนื่องจากตีพิมพ์โดยทีมงานที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตวัคซีนดังกล่าว
ภาพ: Alex Gottschalk / DeFodi Images via Getty Images
อ้างอิง: