เกิดอะไรขึ้น:
วันนี้ (7 เมษายน) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาโควิดระยะ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย
- ออก พ.ร.ก. กู้เงินวงเงินประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น ใช้เยียวยาเศรษฐกิจวงเงิน 6 แสนล้านบาท ซึ่งจะใช้ไปกับการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น การจ่ายเงินเยียวยาประชาชน 5,000 บาท ใน 6 เดือน (เดิม 3 เดือน) การเยียวยาเกษตรกร และด้านสาธารณสุข
สำหรับวงเงินอีก 4 แสนล้านบาท จะใช้สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เช่น การดูแล สร้างความเข้มแข็งในเศรษฐกิจชุมชน และสนับสนุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ โดยจะเริ่มกู้เงินได้ในเดือนพฤษภาคม 2563
- ออก พ.ร.ก. ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการออกซอฟต์โลนเพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท ประกอบด้วยวงเงินสินเชื่อใหม่ 5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 ร้อยล้านบาท และให้ธนาคารพาณิชย์พักชำระหนี้ (เงินต้นและดอกเบี้ย) ระยะเวลา 6 เดือน ให้แก่ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1 ร้อยล้านบาท
- ออก พ.ร.ก. ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท ด้วยการตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund (BSF) และให้ ธปท. ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว
ทั้งนี้ การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ตาม พ.ร.ก. กู้เงินนั้นจะเป็นการกู้เงินในสกุลเงินบาท ระยะเวลาการกู้เสร็จสิ้น 30 กันยายน 2564 โดยการกู้จะเป็นการทยอยกู้ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งบประมาณตามที่กำหนดไว้
กระทบอย่างไร:
ในช่วงเช้า SET Index เคลื่อนไหวในแดนบวกอยู่ในกรอบ 1,174-1,199 จุด โดยปรับตัวขึ้นตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังคลายกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากสหรัฐฯ และยุโรปมีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่และผู้เสียชีวิตลดลง ขณะที่ช่วงบ่ายมีการแถลงผลการประชุม ครม. ออกมาตรการเยียวยาระยะ 3 จึงส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยขานรับเชิงบวกต่อเนื่อง โดยปรับตัวขึ้นต่อจากช่วงเช้า และปิดที่ระดับ 1,214.95 จุด เพิ่มขึ้น +76.11 จุด หรือเพิ่มขึ้น +6.68%DoD
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองว่า มาตรการเยียวยาผลกระทบระยะ 3 ที่ประกาศออกมาในวันนี้ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนมากขึ้น โดยมาตรการข้อที่ 1 จะสามารถช่วยชะลอการหดตัวของ GDP ในปี 2563 ได้ในระดับหนึ่ง สำหรับมาตรการใน 2 และ 3 จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน และลดโอกาสการเกิดวิกฤตการเงินที่อาจลุกลามกลายเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจได้
ทั้งนี้ ต้องติดตามการออกมาตรการเยียวผลกระทบทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากทางภาครัฐ ซึ่งอาจช่วยสร้าง Sentiment เชิงบวกต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยได้ รวมถึงติดตามจำนวนผู้ติดโควิด-19 รายทั่วโลก หากเริ่มเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง จะช่วยคลายความกังวลต่อภาพรวมการลงทุนได้
มุมมองระยะยาว:
SCBS ยังคงมองว่า กรณีพื้นฐานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม 2563 กรณีปานกลางจะสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคม 2563 และกรณีเลวร้าย สถานการณ์จะสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2563
โดยมี 2 ปัจจัยสำคัญที่ SCBS เชื่อว่าจะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดได้คือ อุณหภูมิทั่วโลกที่เริ่มอุ่นขึ้น และการเว้นระยะห่างทางสังคม นอกจากนี้ยังคงต้องติดตามการคิดค้นพัฒนาวัคซีน ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อภาพรวมการลงทุนที่ต้องติดตาม
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล