×

เช็กความพร้อมเมื่อไทยประกาศแนวคิด ‘อยู่ร่วมกับโควิด’ ก่อนเริ่ม 1 ตุลาคมนี้

โดย THE STANDARD TEAM
23.09.2021
  • LOADING...
เช็กความพร้อมเมื่อไทยประกาศแนวคิด ‘อยู่ร่วมกับโควิด’ ก่อนเริ่ม 1 ตุลาคมนี้

1 ตุลาคม 2564 เป็นกำหนดการเริ่มมาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID-FREE Setting) ในการเปิดสถานประกอบการ เช่น ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ซึ่งผ่านความเห็นชอบจาก ศบค. เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม โดย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ชี้แจงเมื่อวันที่ 6 กันยายนว่า “เป็นมาตรการที่จะบังคับใช้ในอนาคต ซึ่งจะพิจารณาตามสถานการณ์ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป” 

 

อาจมีบางสถานประกอบการที่มีความพร้อมนำร่องไปก่อนแล้ว เช่น COVID-FREE Personel พนักงานทุกคนฉีดวัคซีนครบโดส หรือ COVID-FREE Environment บางข้อที่บังคับใช้ไปแล้ว อย่างการจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการร้อยละ 50 หากเป็นร้านอาหารที่เปิดเครื่องปรับอากาศ ทว่าในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้านี้ ประชาชน ผู้ประกอบการ รวมถึงภาครัฐ มีความพร้อมในการดำเนินมาตรการนี้มากน้อยเพียงใด

 

3 สิงหาคม 2021 , สยามพารากอน – Siam Paragon , ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า เปิดขายได้แล้ว ไรเดอร์ GrabFoodนั่งรอรับอาหาร , ช่างภาพ : ศวิตา พูลเสถียร

 

มาตรการ COVID-FREE Setting คืออะไร

 

ศบค. ประกาศคลายล็อกดาวน์ และเตรียมความพร้อมเปิดประเทศอย่างปลอดภัยภายใต้มาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ (Smart Control and Living with COVID-19) หรือแนวคิด ‘อยู่ร่วมกับโควิด’ เหมือนกับต่างประเทศบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก ถึงแม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่หลักหมื่นรายอยู่ จึงมีมาตรการเสริมเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดที่เรียกว่า COVID-FREE Setting

 

คำว่า ‘Setting’ ที่กรมอนามัยใช้คำในภาษาไทยว่า ‘องค์กร’ น่าจะหมายถึง ‘สถานที่’ โดยเฉพาะสถานที่เสี่ยงที่ ศบค. มักประกาศปิดเมื่อสถานการณ์การระบาดแย่ลง แต่การปิดเป็นประเภทสถานที่หรือเหมารวม เช่น ห้ามนั่งในร้านอาหารทุกร้าน เกิดผลเสียกับผู้ประกอบการจำนวนมาก ส่วนผลดีกลับไม่สามารถควบคุมโรคได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทางออกจึงเป็นการเปิดสถานที่โดยมีมาตรการควบคุมโรคควบคู่กัน

 

 

องค์ประกอบของ COVID-FREE Setting แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 

  • COVID-FREE Environment: ระบบระบายอากาศ สุขอนามัย สะอาด ปลอดภัย เว้นระยะห่าง
  • COVID-FREE Personnel: วัคซีนครบตามเกณฑ์ และตรวจ ATK ทุกสัปดาห์
  • COVID-FREE Customer: Green Card (วัคซีนครบตามเกณฑ์), Yellow Card (เคยติดเชื้อ หรือ ATK เป็นลบภายใน 7 วัน)

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนน่าจะเป็นร้านอาหาร องค์ประกอบ 3 ด้านคือ พนักงานที่ให้บริการภายในร้าน (Personnel) ลูกค้าที่มารับประทานอาหาร (Customer) และสิ่งแวดล้อมภายในร้าน (Environment) หรือโครงสร้างของร้าน ซึ่งในรายละเอียดข้อเสนอของกรมอนามัยจะให้น้ำหนักกับการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในร้านมากที่สุด รองลงมาเป็นพนักงานซึ่งกำกับดูแลโดยเจ้าของร้านได้ง่ายกว่า

 

COVID-FREE Environment แบ่งออกเป็น 3 ด้านย่อย คือ Clean & Safe, Distancing และ Ventilation ซึ่งการเว้นระยะห่าง (Distancing) นอกจากการจัดโต๊ะให้ห่างกัน 1-2 เมตรแล้ว ยังรวมถึงความหนาแน่นของผู้ใช้บริการ ที่กำหนดให้พื้นที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ และพื้นที่อากาศถ่ายเทสะดวก สามารถนั่งได้ร้อยละ 50 และ 75 ตามลำดับ และการจำกัดระยะเวลานั่งรับประทานไม่เกิน 1 ชั่วโมง

 

แต่ที่สำคัญคือการระบายอากาศ (Ventilation) เพราะโควิดสามารถแพร่กระจายทางอากาศ (Airborne) ไกลเกิน 2 เมตรในพื้นที่ปิด ดังนั้น เจ้าของร้านควรปรับปรุงการะบายอากาศ เช่น ติดตั้งพัดลมระบายอากาศ เครื่องฟอกอากาศ หรือเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศสลับกับเปิดหน้าต่างทุก 1 ชั่วโมง เป็นต้น แต่เจ้าของร้านจะต้องลงทุนเพิ่ม หรือพึ่งพามาตรการองค์กรที่ใหญ่กว่า เช่น ห้างสรรพสินค้า 

 

COVID-FREE Personel แบ่งออกเป็น 3 ด้านย่อย (เช่นกัน) ได้แก่ มีภูมิคุ้มกัน ไม่พบเชื้อโดยการคัดกรอง และ UP-DMHTA ขณะนี้พนักงานส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ น่าจะมีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ทุกคนต้องตระหนักว่าวัคซีนป้องกันอาการรุนแรงเป็นหลัก ส่วนการป้องกันการติดเชื้อ จะขึ้นกับฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไร ฉีดมานานแล้วเท่าไร และสายพันธุ์ที่ระบาดเป็นสายพันธุ์ใดด้วย

 

เพราะวัคซีนชนิด mRNA กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงและอยู่ได้นานกว่าวัคซีนชนิดอื่น ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจะลดลงตามระยะเวลาที่ผ่านไป และประสิทธิผลต่อสายพันธุ์เดลตาลดลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อัลฟา จึงมีโอกาสเกิดการระบาดในกลุ่มพนักงานได้ ถึงแม้จะได้รับวัคซีนครบแล้ว แต่ถือว่ายอมรับได้ตามแนวทางอยู่ร่วมกับโควิด ซึ่งยอมรับการระบาดที่ไม่เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข

 

ทว่าร้านอาหารจะต้องลดความเสี่ยงของการระบาดด้วยมาตรการตรวจหาเชื้อเป็นประจำ โดยจัดหาชุดตรวจ ATK ให้พนักงานตรวจทุก 1 สัปดาห์ จะได้ตรวจพบการระบาดได้รวดเร็วและควบคุมไม่ให้ขยายเป็นวงกว้าง ปัจจุบันรัฐบาลส่งเสริมการตรวจหาเชื้อด้วยการอนุญาตให้บริษัทที่มีรายจ่ายค่าซื้อชุดตรวจ ATK สำหรับพนักงาน สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ 1.5 เท่า

 

ส่วนมาตรการ UP-DMHTA คือการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention: UP)cซึ่งใจความสำคัญไม่ต่างจาก DMHT ได้แก่ Distancing-การเว้นระยะห่าง, Mask-การสวมหน้ากากอนามัย, Hand Washing-การล้างมือ, Testing-การคัดกรองอาการ ส่วน Application-การสแกนไทยชนะ ปัจจุบันประชาชนน่าจะสแกนแอปพลิเคชันน้อยลง ส่วนภาครัฐก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันนี้

 

สุดท้าย COVID-FREE Customer ลูกค้าจะต้องฉีดวัคซีนครบโดส หรือเคยมีประวัติการติดเชื้อมาก่อนอยู่ในช่วง 1-3 เดือน หรือผลการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK เป็นลบไม่เกิน 7 วัน แต่เกณฑ์นี้ไม่ได้ยืนยันว่าลูกค้าจะไม่ติดเชื้อ เพียงแต่ลดความเสี่ยงลง อย่างการฉีดวัคซีนลดความเสี่ยงของอาการรุนแรง แต่ถ้าหากผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วติดเชื้อจะยังสามารถแพร่เชื้อสายพันธุ์เดลตาได้

 

ส่วนชุดตรวจ ATK มีความจำเพาะสูง (เกณฑ์ของ อย. ≥98%) หมายความว่า ถ้าผลเป็นบวก ค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นผู้ติดเชื้อจริง ในขณะที่มีความไวไม่สูงมาก (เกณฑ์ของ อย. ≥90%) หมายความว่า ถ้าผลเป็นลบ อาจเป็นผู้ติดเชื้อก็ได้ หากมีปริมาณเชื้อน้อย ทั้งนี้ ปริมาณเชื้อน้อยก็หมายถึงโอกาสในการแพร่เชื้อต่ำด้วย ส่วนอายุผลลบ 7 วัน ก็เป็นการลดความเสี่ยงแทนการไม่เคยตรวจหาเชื้อเลย

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญสำหรับชุดตรวจ ATK คือการเข้าถึงชุดตรวจ เพราะปัจจุบันประชาชนยังเข้าถึงชุดตรวจยากอยู่ ทั้งปริมาณและสถานที่จำหน่ายไม่เพียงพอ และราคาแพงมากกว่า 200-300 บาทต่อชุด อาจทำให้มาตรการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วน สปสช. แจกชุดตรวจ 8.5 ล้านชุดเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น และล่าสุดคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์เตรียมปลดล็อกให้ขายในร้านทั่วไปได้

 

16 กันยายน 2021 , ร้านยา , แจกชุดตรวจโควิดแบบ Antigen Test Kit (ATK) ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ที่มีความจำเป็นต้องตรวจ ผ่านร้านยา , ช่างภาพ : ศวิตา พูลเสถียร

 

ข้อเสนอแนะสำหรับ COVID-FREE Setting

 

ถ้ายังเป็นไปตามแผนเดิม COVID-FREE Setting จะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้ง 3 องค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า หรือสิ่งแวดล้อม ล้วนมีความสำคัญในการผ่อนคลายมาตรการตามแนวทางอยู่ร่วมกับโควิด บางมาตรการผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้เลย เช่น การจัดพื้นที่ให้มีการเว้นระยะห่าง การปรับปรุงการระบายอากาศภายในร้าน หรือพนักงานก็สามารถดำเนินการได้เลย เช่น DMHT 

 

แต่บางมาตรการยังต้องพึ่งพามาตรการหรือการสนับสนุนของภาครัฐ โดยเฉพาะวัคซีน และชุดตรวจ ATK เพราะผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มของไทยยังมีประมาณ 16 ล้านคน หรือคิดเป็น 22% แน่นอนว่าในบางจังหวัดอาจสูงกว่านี้ เช่น ภูเก็ต 73.5% กรุงเทพฯ 43.2% แต่จังหวัดส่วนใหญ่ยังได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเพียง 10-20% เท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ และมาตรการนี้ไม่สามารถใช้ได้ทั้งประเทศ

 

ส่วนชุดตรวจ ATK สปสช. กระจายชุดตรวจมาได้ 1 สัปดาห์ (ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน) และเริ่มจากพื้นที่สีแดงก่อน ภาครัฐควรมีนโยบายเพิ่มการเข้าถึงชุดตรวจให้มากที่สุด ทั้งในปริมาณที่เพียงพอ สถานที่จำหน่ายทั่วถึง และราคาที่ถูกลง เพราะปัจจุบันยังแพงกว่าราคาที่ภาครัฐประมูลชุดตรวจได้ 3-5 เท่า ซึ่งจะทำให้ภาครัฐสามารถตรวจจับการระบาดและควบคุมได้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising