×

โควิด-19 ตัวเร่งปฏิกิริยา พลิกโฉม ‘รถไฟฟ้า’ เร่งแจ้งเกิดเร็วขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
01.01.2021
  • LOADING...
โควิด-19 ตัวเร่งปฏิกิริยา พลิกโฉม ‘รถไฟฟ้า’ เร่งแจ้งเกิดเร็วขึ้น

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่ง ‘ผลลบ’ ทำให้ยอดขายตลาดรถยนต์ทั่วโลกลดลงอย่างฮวบฮาบราว 30-40% แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับกลายเป็นการเร่งให้รถยนต์ไฟฟ้า (xEV) นั้นแจ้งเกิดเร็วขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
  • ‘ประเทศไทย’ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้บริโภครับรู้เรื่องราวของรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอย่างดีในระดับต้นๆ ของโลก จากการสำรวจของค่ายรถยนต์ในประเทศไทย รวมถึงมีการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแบบไฮบริด, ปลั๊กอินไฮบริด หรือแบตเตอรี่ 100%
  • ถึงเวลานี้เราคงไม่ต้องถามหาความพร้อมในการรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า แต่ควรถามว่า ทุกท่านพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนแล้วหรือยัง  

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในปี 2020 นี้ตลาดรถยนต์ทั่วโลกนั้นได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดขายลดลงอย่างฮวบฮาบราว 30-40% รวมถึงในแง่ของการผลิตได้รับผลกระทบชะลอตัวด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้ค่ายรถยนต์ต่างต้องมีการเร่งปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในช่วงวิกฤตเช่นนี้

 

แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลลบเป็นส่วนใหญ่ แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับกลายเป็นการเร่งให้รถยนต์ไฟฟ้า (xEV) นั้นแจ้งเกิดเร็วขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยปัจจัยหลายประการ

 

โดยประเด็นหลักอันดับหนึ่งคงเป็นเรื่องของเงินลงทุน ซึ่งเมื่อทุกบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ยอดขายหดตัว ฉะนั้นกระแสเงินสดที่จะใช้ในการลงทุนจึงต้องกระทำด้วยความรอบคอบอย่างยิ่งยวด

 

โรงงานใหม่ เน้นผลิตรถไฟฟ้า

ด้วยการพัฒนารถยนต์ของทุกค่ายนั้นต่างมุ่งในไปทิศทางเดียวกันคือการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อันเนื่องมาจากข้อกำหนดด้านมลพิษที่เข้มงวดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป 

 

รวมถึงการเริ่มประกาศแบนไม่ให้รถที่ก่อมลภาวะสูง (รถดีเซล) เข้ามาวิ่งในพื้นที่บางส่วน และยังมีประกาศห้ามจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีมอเตอร์ไฟฟ้าเข้าช่วย ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งปี 2025 ไปจนถึงปี 2040 

 

จากเหตุดังกล่าว ทำให้บางค่ายมีการประกาศยุติการพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซล และมุ่งหน้าพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแต่เพียงอย่างเดียว รวมถึงการแจ้งเกิดของแบรนด์น้องใหม่หลากหลายยี่ห้อที่ล้วนแล้วแต่เป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชนิดใช้แบตเตอรี่ล้วนๆ อีกด้วย

 

 

ฉะนั้นแล้วหากค่ายรถยนต์มีแผนการลงทุนในการขยายโรงงานไปตั้งในตลาดใหม่ๆ จะมีการพิจารณาตั้งโรงงานที่ประกอบรถยนต์ไฟฟ้าแทนการตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ปกติ

 

ดังเช่นตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ การเตรียมที่จะตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ของ Audi ในประเทศไทย ซึ่งมีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากผู้บริหารระดับสูงของ Audi AG ว่าจะมีการตั้งโรงงานในไทยอย่างแน่นอน แต่อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าแทนการตั้งโรงงานประกอบรถแบบปกติตามแผนเดิมที่เคยวางแผนเอาไว้ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปในเวลานี้

 

รถยนต์ไฟฟ้า พาเหรดเปิดใหม่

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าทิศทางการพัฒนารถยนต์นั้นมุ่งหน้าไปในเรื่องของการสร้างรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้มอเตอร์เข้ามามีส่วนช่วยในการขับเคลื่อน ซึ่งหากมองไปที่บรรดารถต้นแบบทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใดนั้น ทุกคันล้วนแล้วแต่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าแทบทั้งสิ้น ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่ารถยนต์ที่เปิดตัวใหม่ในปีหน้านั้นจะเริ่มเห็นรถที่เป็นไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งนี้รวมถึงบรรดารถไฮบริดด้วยเช่นกัน 

 

ซึ่งหากจะให้นับว่ามีกี่รุ่น กี่แบรนด์นั้น ขอกล่าวแบบสรุปว่า ปีหน้าเราจะเห็นรถยนต์ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อนเปิดตัวเพิ่มมากขึ้นในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับรถที่ใช้เครื่องยนต์เลยทีเดียว เพราะปัจจุบันรถยนต์ที่เปิดตัวใหม่เกือบทุกโมเดลจะต้องมีเวอร์ชันไฮบริด หรือไม่ก็มีรุ่นย่อยที่เป็นไฮบริดมากกว่ารุ่นใช้เครื่องยนต์แล้วนั่นเอง 

 

สำหรับไฮไลต์ในปีหน้าที่จะมีการเปิดตัวหรือวางจำหน่ายและน่าจับตามอง เช่น Nissan Ariya รถยนต์ไฟฟ้าชนิดแบตเตอรี่รุ่นที่ 3 ของ Nissan, Toyota Mirai เจเนอเรชันที่สองของรถฟิวเซลล์ (FCEV) ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการขับเคลื่อน

 

Audi E-Tron GT, Porsche Macan EV ซึ่งสองแบรนด์นี้เป็นการแชร์เทคโนโลยีร่วมกันของกลุ่มแบรนด์ในเครือ Volkswagen Group และ Ford Mustang Mach-E ที่คาดหมายว่าจะเปิดตัวด้วยราคาเริ่มต้นราว 45,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.35 ล้านบาทเท่านั้น

 

 

ภาครัฐไทยหนุน EV เต็มที่

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้บริโภครับรู้เรื่องราวของรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอย่างดีในระดับต้นๆ ของโลก จากการสำรวจของค่ายรถยนต์ในประเทศไทย รวมถึงมีการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นแบบไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด หรือแบตเตอรี่ 100%

 

ด้านการสนับสนุนของภาครัฐนั้นยิ่งชัดเจนมากขึ้น เมื่อรัฐบาลประกาศแผนการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าเฟสที่สอง ซึ่งรอบสองนี้ประกาศให้สิทธิ์คลอบคลุมยานยนต์ไฟฟ้าครบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น จักรยานยนต์, สามล้อ, เรือ, รถบัส และรถบรรทุก จากเดิมที่ให้เพียงรถยนต์เท่านั้น โดยแผนการลงทุนเฟสแรกนั้นมีค่ายรถยนต์ผ่านการอนุมัติทั้งสิ้น 13 โครงการ

 

ทั้งนี้การเปิดรอบสองนั้น เป้าหมายแรกคือหวังการลงทุนจากแบรนด์ Great Wall ของจีน ที่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยด้วยการซื้อโรงงานต่อจาก GM

 

ส่วนเป้าหมายที่สองคือ การหวังดึงให้ Tesla ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทย โดยข้อมูลนี้เผยแพร่ผ่านสื่อโดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยเป็นผู้เปิดเผย 

 

ซึ่งหากรัฐบาลไทยสามารถโน้มน้าวให้ Tesla เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยได้ นอกจากจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่แล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่ลังเลในการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง

 

รวมถึงจะทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าในไทยนั้นถูกลงอย่างมาก โดยเฉพาะ Tesla ที่ปัจจุบันมีการนำเข้าสำเร็จรูป ทำให้ราคาขายปกติจากราว 1.2 ล้านบาท กลายเป็น 3 ล้านบาท 

 

 

นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้ประกาศแผน 30@30 หรือเป้าหมายการขายรถยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วน 30% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในประเทศไทยภายในปี 2030 นั่นหมายความว่าหากใน 10 ปีข้างหน้าประเทศไทยมียอดขายรถยนต์ตลาดรวม 2,500,000 คัน จะมีรถยนต์ไฟฟ้าขายรวมอยู่ในยอดนั้นราว 750,000 คัน

 

อย่างไรก็ตาม การมาของโควิด-19 ทำให้การประเมินยอดขาย 30% นั้นเปลี่ยนแปลงไป โดยคณะทำงานด้านยานยนต์ไฟฟ้าได้เปิดเผยเป้าหมายใหม่ล่าสุดที่คาดว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของไทยจะมีสัดส่วนถึง 50% ในปี 2030 เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าชาวไทยที่ให้ความสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ประกอบกับค่ายรถยนต์ต่างเร่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเช่นเดียวกัน

 

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่เปิดตัวมาใหม่ล่าสุดในประเทศไทยมีด้วยกันหลายรุ่น เช่น Nissan Kicks, Toyota Corolla Cross, Mitsubishi Outlander PHEV, MG HS PHEV, MG EP, Lexus UX300e, Honda City e:HEV, Volvo XC40 Recharge เป็นต้น

 

ถึงเวลานี้เราคงไม่ต้องถามหาความพร้อมในการรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า แต่ควรถามว่าทุกท่านพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนแล้วหรือยัง

 

หมายเหตุ: รถยนต์ไฟฟ้า หรือ xEV คือการระบุรวมรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ไฮบริด (HEV), ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV), แบตเตอรี่ (BEV) และฟิวเซลล์ (FCEV)

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X