ตอนที่ 1: What’s Going On
นี่เพิ่งจะสิ้นไตรมาสแรกของปี 2020 รังสีแห่งความเศร้าสร้อยพารานอยด์หงอยเหงาระคนได้เข้ามาครอบคลุมดาวเคราะห์น้อยๆ ของเราเข้าอย่างจังโดยไม่ทันตั้งตัว ทั่วทุกหัวระแหงต่างได้รับผลกระทบจากหายนะครั้งใหม่ที่คงไม่ต้องอธิบายว่ามันคืออะไร เพราะแค่นี้ก็เครียดหัวใจกันจะแย่อยู่แล้ว
อุตสาหกรรมดนตรีเหมือนเป็นปราการด่านแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบก่อนใคร เมื่อคอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีแทบทั้งหมดต้องเป็นอันยกเลิกในพริบตา ทะลวงไปถึงกิจกรรมตามผับบาร์ กิ๊กเล็กกิ๊กน้อยของเหล่าศิลปินนักดนตรีต่างก็โดนล้างออกจากปฏิทินกันเกลี้ยงก่อนใครเพื่อนเช่นเดียวกัน
ย้อนรอยหายนะที่เคยเกิดกับอุตสาหกรรมดนตรีเมื่อกาลก่อน
ปรากฏการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้เราหวนนึกถึงว่าครั้งหนึ่งในวงการดนตรีเคยเกิดมรสุมลูกใหญ่ขึ้นจนค่ายเพลงน้อยใหญ่ต่างแทบจะพังพาบ และใช้เวลาอยู่หลายปีกว่าจะปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้เข้าสู่จุดสมดุลอีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนั้นหายนะมันไม่ได้มาในรูปแบบทางชีวภาพจุลชีวันพันธุ์ใหม่ หากแต่มันเกิดจากเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่เรียกว่า MP3 ที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงกลางยุค 90 โดยมีวัตถุประสงค์ตั้งต้นคือการลดขนาดไฟล์เสียงให้เล็กลงจาก Audio CD ได้ถึง 10 เท่า โดยที่คุณภาพเสียงยังคงพอไปวัดไปวาได้ เพื่อความสะดวกในการพกพาหรือโยกย้ายถ่ายโอนในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังเป็นระบบโมเด็มจิ้งหรีดความเร็วต่ำ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว นวัตกรรมนี้กลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่ย้อนกลับมาทำลายล้างอุตสาหกรรมดนตรี ซึ่งเหตุการณ์คล้ายๆ กับในภาพยนตร์เรื่อง Terminator ที่เทคโนโลยี Skynet ที่มนุษย์เราสร้างขึ้น ได้ย้อนกลับมาทำลายมนุษยชาติด้วยกันเอง เมื่อ MP3 ถูกนำมาใช้เป็นสื่อในการละเมิดลิขสิทธิ์ดนตรีอันมีฐานที่มั่นเป็นแพลตฟอร์มหัวใสที่ชื่อ Napster ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1999 อันเป็นต้นกำเนิดในการแชร์เพลงแบบ Peer-to-Peer ไม่เสียสตางค์ จนเป็นที่นิยมกันแบบไฟลามทุ่ง เพราะสิ่งที่คนทั้งโลกชื่นชอบเหมือนกันนั้นไซร้คือ ‘ของฟรี’
ในยุคนั้นที่สื่อแข็งที่จับต้องได้อย่างเทปคาสเซตต์และซีดีเป็นสื่อหลักที่คนเราใช้ในการเสพดนตรีมาอย่างยาวนาน ได้ถูก MP3 เข้ามาตีหัวแตกล้มคะมำไม่เป็นท่า เป็นการปฏิวัติยึดอำนาจโดยละม่อมที่ไม่ต้องใช้อาวุธสงครามใดๆ นอกจากก้อนเนื้อส่วนที่เรียกว่าสมองของ ฌอน พาร์กเกอร์ ผู้ก่อตั้ง Napster ซึ่ง ณ ตอนนั้นเขามีอายุได้เพียง 20 ปีเท่านั้น และด้วยความที่ในสมัยนั้นยังไม่เคยมีกฎหมายหรือคดีความตัวอย่างที่ครอบคลุมถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ในโลกเสมือนที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ทำให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างทุลักทุเลมะล่องก่องแก่ง กว่าจะมีการตัดสินเด็ดขาดจากศาลให้สั่งปิด Napster ได้สำเร็จ ฌอน พาร์กเกอร์ ก็ได้กลายเป็นมหาเศรษฐีอายุน้อยร้อยล้านไปเป็นที่เรียบร้อย แต่นั่นเป็นเพียงจุดกำเนิดของการแพร่ระบาดต่อเนื่องของ MP3 ผ่านเว็บไซต์ใต้ดินอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่มีทางปราบได้หมดจวบจนปัจจุบัน
ขอบคุณภาพตารางงานโชว์จาก https://www.facebook.com/PALMY5/
แล้วหายนะครั้งนั้นได้ถูกกอบกู้อย่างไร
ปรากฏการณ์มหากาพย์แห่ง MP3 ครั้งนั้น เรียกได้ว่าเป็นจุดพลิกผันครั้งยิ่งใหญ่ของวงการดนตรี เมื่อไฟล์ดิจิทัลสามารถเคลื่อนย้ายถ่ายโอน และแบ่งตัวไปได้ทั่วโลกภายในเวลาไม่นานราวกับเชื้อไวรัส รายได้ของทั้งอุตสาหกรรมดนตรีจากเทปและซีดีแทบจะดิ่งลงสุดกู่ จนธรรมเนียมการฉลองยอดขายหนึ่งล้านตลับโดยการเปลี่ยนปกแล้วเพิ่มเพลงพิเศษ 1 เพลงมาเต๊าะขายอีกระลอกแบบที่เคยทำๆ กันมานั้น ได้สูญพันธุ์ไปโดยสิ้นเชิง
โมเดลการแก้ปัญหาในครั้งนั้นเป็นไปอย่างเรียบง่ายแต่ได้ผล นั่นก็คือการหันมามุ่งธุรกิจ Showbiz หรือเน้นการพาศิลปินไปออกแสดงโชว์ เพราะศิลปินทุกคนมีเพียงหนึ่งเดียว ไม่สามารถโคลนนิ่งไปตามที่ต่างๆ ได้เหมือนไฟล์ MP3 ถ้าอยากฟังตัวจริงเสียงจริงต้องมาสัมผัสในคอนเสิร์ตเท่านั้น ประเพณีการตะลุยแสดงโชว์ตามที่ต่างๆ อย่างเอาเป็นเอาตายจึงกำเนิดขึ้น วงการผับบาร์ก็คึกคักขึ้นจากการที่ต้องมีศิลปินตัวจริงมาโชว์แทบทุกสัปดาห์ โดยเฉพาะในบ้านเราที่โชว์ของศิลปินได้ถูกผูกเข้ากับงานอีเวนต์ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น วันเกิดร้าน งานภายใน งานบวช งานแต่ง หรือแม้กระทั่งงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นกลิ่นใหม่ก็ยังต้องจัดสักเพลงสองเพลง
ซึ่งจริงๆ แล้วนั่นไม่ใช่วิธีใหม่ แต่เป็นการกลับไปใช้วิธีการเผยแพร่เพลงแบบโบราณกาลเหมือนเมื่อครั้งหลายร้อยปีก่อน ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีการบันทึกเสียง เพลงทุกเพลงเข้าถึงโสตประสาทผู้คนได้ด้วยการแสดงสดเท่านั้น และสิ่งเดียวที่เป็นเครื่องมือในการเก็บบันทึกรายละเอียดของดนตรีในยุคนั้นคือ ‘กระดาษบรรทัดห้าเส้น’…ใช่แล้ว ที่เขาเอาไว้เขียนโน้ตเพลงสำหรับนักดนตรีนั่นแหละ มีเฉพาะนักดนตรีเท่านั้นที่อ่านมันออกแล้วสามารถถ่ายทอดมาเป็นภาษาเสียงได้ ถ้ากาลครั้งนั้นไม่มีใครบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรลงบนโน้ตเพลงแล้วมีการส่งต่อถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบันที่เรามีสื่อบันทึกเสียงที่ครบพร้อม เราคงไม่มีโอกาสได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของคีตกวีอย่างโมสาร์ต, บราห์มส์, บาร์ค, บีโธเฟน, ฯลฯ เอาเสียเลยอย่างแน่นอน
กลับมาว่าด้วยเรื่อง MP3 ในครั้งนั้น ทำให้วิถีของวงการดนตรีได้เปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะในบ้านเรา ซึ่งงาน Showbiz ได้ถูกยกขึ้นมาเป็นความหวังของรายได้หลัก หากเทียบกับในอังกฤษหรืออเมริกานั้น หนทางสู่ความเป็นศิลปินของฝั่งนั้นส่วนใหญ่เริ่มจากการตระเวนทัวร์ในระดับท้องถิ่น สะสมความนิยมจนขยายวงกว้างขึ้น และได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงในที่สุด เหตุการณ์เหมือนกับที่เราเห็นในภาพยนตร์ชีวประวัติของศิลปินต่างๆ นั่นแหละ เพราะฉะนั้นการแสดงโชว์ของศิลปินในโลกตะวันตกจึงเป็นสิ่งที่ถูกทำคู่ขนานไปกับการขายอัลบั้มมานานแล้ว แต่สำหรับบ้านเรา การเน้นการแสดงโชว์กลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ต้องทำบ่อยๆ ถี่ๆ จนเรียกว่าเป็นเป้าหมายหลักของศิลปินและค่ายเพลงเลยก็ว่าได้ บทเพลงจึงถูกลดคุณค่าเชิงธุรกิจลงให้กลายเป็นแค่เครื่องมือในการนำพาศิลปินไปสู่การขายโชว์ได้เท่านั้น ขอให้เพลงมาแล้วมันจะพาไปโชว์เอง นี่คือข้อเท็จจริง
มาถึงปัจจุบันนี้ วัฒนธรรมการขายโชว์เป็นทางออกที่ลงตัวมาได้เกือบ 2 ทศวรรษแล้ว นับตั้งแต่ยุค 2000 กลางๆ นำพารายได้มาอย่างทั่วถึงทั้งสายระบบ ตั้งแต่ค่ายเพลง ศิลปิน นักดนตรีแบ็กอัพ ผู้ให้บริการเช่าเครื่องเสียง ทีมงานแบ็กสเตจ เทคนิเชียน ไปจนถึงผับบาร์และนายหน้าทั่วประเทศ ทุกฝ่ายต่างชื่นมื่น
บททดสอบครั้งใหม่ของวงการดนตรี
เหตุการณ์เหมือนจะสมดุล แต่หากมองลงไปถึงโครงสร้างแล้ว จุดอ่อนของโมเดลนี้ที่เรามองข้ามไปคือ ความเสี่ยงจากการที่เราเอาอุตสาหกรรมดนตรีแทบทั้งหมดมาพึ่งพิงผลประกอบการจากช่องทางเดียวคือการขายโชว์เท่านั้น โดยไม่ได้ตระหนักถึงการขยายไปยังช่องทางอื่นๆ หรือสร้างโมเดลใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อเพิ่มช่องทางสำหรับธุรกิจดนตรีให้มีเสารับน้ำหนักต้นน้อยใหญ่หลายๆ ต้นไว้คอยพยุงอุตสาหกรรมนี้ไว้ เผื่อว่าวันใดวันหนึ่งที่เสาหลักมีอันต้องล้มลง หรือน้องต้องพักก่อน เสาต้นอื่นๆ ก็ยังคงทำหน้าที่ค้ำยันไว้ได้บ้าง หากว่าเสาต้นรองๆ เหล่านั้นไม่ได้ทำจากไม้จิ้มฟันเหมือนที่เป็นอยู่
บททดสอบฉบับย่อยๆ ได้มีเข้ามาอยู่เนืองๆ เมื่อในบางวาระที่จำเป็นต้องงดงานแสดงชั่วคราว แต่ยังไม่เคยมีเหตุการณ์ไหนมาสะกิดให้ใครไหวตัวทัน หรือเริ่มเล็งเห็นว่าโครงสร้างที่ดำรงอยู่มานิ่งๆ อยู่ได้เกือบสองทศวรรษแล้วควรจะมีพัฒนาการไปทางไหนได้บ้าง เมื่อสะกิดไปแล้วยังไม่ไหวติงราวกับยามที่หลับคาป้อมตอนตีสาม ในที่สุดก็ถึงวันที่ของแรงของจริงบุกเข้ามาสู่ทุกทวารทั่วโลก เหมือนภาคใหม่ของภาพยนตร์เรื่อง Resident Evil ที่มีชื่อตอนว่า ‘โควิด-19’
ความเคลื่อนไหวก้าวแรกของศิลปิน เมื่อเกิดภาวะโควิด-19
จะว่าไปแล้ว วิกฤตการณ์ MP3 ระบาดในครั้งนั้น ถือว่าเป็นการนำพาให้เกิดแพลตฟอร์มการฟังเพลงอย่าง Spotify, Apple Music, YouTube Music, JOOX และอื่นๆ อีกมากมายที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันอย่างถูกกฎหมาย และรายได้เข้าถึงตัวศิลปิน นับว่าเป็นการปฏิวัติวิถีการเสพดนตรียุคใหม่อย่างชาญฉลาด ถึงแม้รายได้จากส่วนนี้จะยังห่างไกลจากที่เคยได้จากเทปและซีดีเมื่อกาลก่อนนัก ส่วนสื่อแข็งอย่างคาสเซตต์ ซีดี และแผ่นเสียง ก็ถูกยกระดับให้กลายเป็นของสะสมอันล้ำค่าสำหรับคอเพลงสายแข็ง ทุกสิ่งอย่างในฝั่ง Studio Album หรือ Single ก็มาสู่จุดที่เข้าที่เข้าทางในที่สุด หลังจากเกิดสงครามประสาทมาหลายปี เพียงแต่เราต้องตระหนักไว้เสมอว่ายุคนี้โลกมันหมุนไวนะ ไม่มีอะไรเวิร์กไปตลอดกาลหรอก
ส่วนเหตุการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ อาจจะนำพาอะไรใหม่ๆ มาสู่วงการเพลงให้มีลมหายใจต่อภายใต้เงื่อนไขใหม่อันหนักอึ้งอันนี้ก็เป็นได้ เพราะ ณ วันนี้ยังไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าสถานการณ์นี้จะกินเวลายืดยื้อยาวนานแค่ไหน ความเคลื่อนไหวแรกๆ ที่เกิดขึ้นให้เราได้เห็นก็คือ หลายๆ ศิลปินได้หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการสื่อสารกับแฟนเพลงมากขึ้น ทั้งร้องทั้งเล่นสดจากที่บ้านผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ หรืออินสตาแกรม แจมดนตรีออนไลน์กันอย่างสนุกสนาน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีเล็กๆ น้อยๆ ในวิกฤตครั้งนี้ให้เราพอยิ้มออกกันได้บ้าง เมื่อโลกธุรกิจหยุดนิ่ง สิ่งที่ศิลปินทำได้คือย้อนกลับไปโฟกัสกับแก่นของวิชาชีพแบบเพียวๆ คือ ‘การเป็นผู้มอบความสุขให้กับผู้อื่น’ แม้จะเป็นเพียงสุ้มเสียงผ่านหน้าจอ บทเพลงจะเป็นเครื่องเยียวยา แบบไม่มีวัตถุประสงค์แอบแฝงใดๆ
สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ ศิลปินตัวจริงที่เพิ่งถูกยกเลิกการแสดงทั้งหมดไปจนถึงหลังช่วงฤดูร้อนอย่าง คริส มาร์ติน แห่งวง Coldplay ได้เริ่มต้นไอเดียการเล่นดนตรีสดๆ ผ่านอินสตาแกรมไลฟ์จากบ้านพักส่วนตัวของเขาให้แฟนเพลงได้ฟังเป็นคลิปความยาว 30 นาที โดยติดแฮชแท็กชื่อ #TogetherAtHome และคริสยังชักชวนให้เพื่อนศิลปินอย่าง จอห์น เลเจนด์ และ มิเกล มารับไม้ต่อในการแสดงโชว์จากบ้านเพื่อร่วมด้วยช่วยปลอบประโลมโลก แคมเปญนี้ได้ถูกส่งต่อเนื่องไปจนเราได้เห็นศิลปินหลายคนได้เข้าร่วมสนุกด้วย และยังมีศิลปินอื่นๆ ที่เปิดโปรแกรมไลฟ์ผ่านอินสตาแกรมอยู่เป็นระยะๆ ในช่วงนี้อย่าง ชาร์ลี พุท, พิงก์, ชาร์ลี เอ็กซ์ซีเอ็กซ์, เดมี โลวาโต และ ไมลีย์ ไซรัส เป็นต้น จนเรียกได้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการโชว์แบบเอ็กซ์คลูซีฟจากบ้านศิลปินมายังหน้าจอของเรา โดยไม่ต้องมีใครออกจากบ้านไปไหน
View this post on Instagram
Chris played a mini gig at home earlier today on IG Live. @glblctzn @WHO @JohnLegend #TogetherAtHome
ส่วนในผั่งดีเจ ก็มีดีเจชาวสกอตติชอย่าง JD Twitch ที่เริ่มมีไอเดียในการทำเพลงแนวผ่อนคลายโดยใช้ชื่อว่า Tranquility Mixes เพื่อให้ชาว Work from Home ได้เปิดคลอเป็นแบ็กกราวด์บรรยากาศการทำงาน เพื่อลดความตึงเครียด โดยที่เขาได้ปล่อยให้ดาวน์โหลดฟังกันได้ฟรีๆ
แต่อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นสิ่งที่ทำได้ชั่วคราวในฐานะเพื่อนมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่มีกระบอกเสียง ที่สามารถช่วยให้กำลังใจคนหมู่มากได้ด้วยเสียงเพลง ซึ่งเป็นการกระทำโดยจิตสาธารณะล้วนๆ ไม่ได้มีเรื่องธุรกิจมาเกี่ยวข้อง ทุกคนตระหนักกันดีว่าหากสถานการณ์นี้ไม่จบลงโดยเร็ว ผลกระทบต่อวงการดนตรีย่อมต้องยิ่งใหญ่มากถึงมากที่สุดในช่วงชีวิตหนึ่งของศิลปิน นักดนตรี และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวงการเพลงเป็นแน่แท้ แต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการพักผ่อนฟันเฟืองที่หมุนไปในท่วงท่าเดิมมาเนิ่นนาน ให้มีวาระที่ต้องทำการเช็กสภาพ ซ่อมบำรุง และเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ให้ทันสมัยขึ้น หรือไม่ก็ยกเครื่องใหม่ซะเลย ให้นำสมัยกว่ารถเมล์แดงที่ใช้กันมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อยังเด็ก
การเริ่มต้นเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม
จนถึง ณ วันนี้เหตุการณ์ได้เกิดขึ้นมาได้ระยะหนึ่งแล้ว พอให้หายตกใจ จึงเริ่มมีมาตราการเยียวยาต่างๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่อุตสาหกรรมดนตรีมีความเป็นปึกแผ่นอย่างสหรัฐอเมริกา มีองค์กรที่เป็นตัวแทนของบุคลากรดนตรีที่คอยสื่อสารกับรัฐ และในเหตุการณ์ครั้งนี้ได้มีการร่วมมือกันของหน่วยงาน Nashville Songwriters Association International (NSAI), Songwriters of North America (SONA) และ National Music Publishers’ Association (NMPA) เข้าหารือกับเจ้าหน้าที่ของสภาคองเกรส เพื่อขอให้พิจารณางบประมาณจากมาตรการเยียวยาฉุกเฉินของรัฐได้เข้าถึงบุคลากรในสายอาชีพดนตรีด้วย เนื่องจากเหตุโรคระบาดในครั้งนี้ทำให้มีคนตกงานทันทีหลายพันคนจากการที่งานถูกยกเลิกทั้งหมด อุตสาหกรรมดนตรีของอเมริกานั้นใหญ่โตครอบคลุมพื้นที่ 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมดนตรีทั้งโลก ดังนั้นจึงมีการเล็งเห็นว่าควรมีตัวบทกฎหมายที่คุ้มครองเหล่าผู้สร้างสรรค์ และสร้างความมั่นคงให้พวกเขาพ้นจากสภาวะเศรษฐกิจที่ล้มเหลวเช่นเวลานี้
ล่าสุดงบประมาณในการเยียวยาครั้งนี้ได้รับการอนุมัติจากสมาชิกวุฒิสภาแล้ว และอยู่ในกระบวนการส่งต่อให้ประธานาธิบดีเป็นคนกดสวิตช์เริ่มดำเนินการในเร็ววัน
นอกจากนี้ยังมีการร่วมด้วยช่วยกันจากแพลตฟอร์ม และเว็บไซต์ดนตรีต่างๆ มากมาย เริ่มมีแคมเปญมาให้ศิลปิน นักดนตรี และทุกอาชีพที่เกี่ยวกับดนตรีเลยก็ว่าได้ ได้มีกิจกรรมดีๆ ทำในช่วงเวลาอันยากลำบากเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนออนไลน์ที่แจกฟรีเพื่อพัฒนาวิชาชีพในวันที่ถูกบังคับให้ว่าง หรือซอฟต์แวร์ดนตรีที่เปิดให้ใช้ฟรีๆ กับแบบ Full Function ไปเลยสองเดือน
นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น สถานการณ์ยังต้องมีการเฝ้าระวังอัปเดตกันรายวัน ภายใต้วิกฤตของมนุษยชาติครั้งนี้ ได้ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นมากมาย ในเรื่องร้ายมักจะมีเรื่องดีๆ ซ่อนแนบมาด้วยเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นมันได้บ้าง ใครจะนอนจมกองวิกฤต หรือใครจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ใครจะไล่โทษกันไปโทษกันมา ใครจะฟาดงวงฟาดงา ปัญหาไม่แก้ปัญญาไม่เกิด สิ่งนั้นก็จะตกอยู่กับคนผู้นั้นเองนั่นแล จิตที่ขุ่นมัวเป็นจิตที่มีค่าตั้งต้นติดลบ ไม่สามารถนำไปใช้ในการสร้างสรรค์อะไรได้ และยังมีพิษร้ายต่อสังคมทันทีที่มันได้ถูกระบายลงในโซเชียลมีเดีย นำพาความหดหู่มาให้แก่ผู้ไถลผ่านมาอ่านเจอแบบเห็นผลทันที โดยไม่ต้องรอระยะเพาะเชื้อดูอาการเหมือนโคโรนาไวรัส เห็นไหมว่าเราได้เผชิญกับโรคระบาดทางจิตใจมานานแล้ว และมันยังสามารถติดต่อได้ในช่องทางที่ง่ายกว่าโควิด-19 ตั้งเยอะ ดังนั้นเราจึงสามารถทึกทักเอาได้ว่า เราได้อาศัยอยู่กับโรคระบาดที่ร้ายกาจกว่าโควิด-19 มาได้พักใหญ่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงอย่าได้กลัวโรคใหม่จนลนลานขาดสติ
ช่วงนี้เราอาจต้องชำระกายบ่อยเป็นพิเศษ แต่ก็อย่าลืมชำระใจด้วย แล้วพบกันใหม่ในตอนที่ 2 เร็วๆ นี้ เนื่องด้วยสถานการณ์ขณะนี้กำลังเข้มข้นนัก เกินกว่าที่จะบรรยายได้ครบในตอนเดียว ขอเชิญทุกท่านไปเต้น TikTok สักหนึ่งคลิปแล้วแยกย้ายกันเข้านอน…ปฏิบัติ
ป.ล. มีของแถมเป็นเพลย์ลิสต์ประกอบการอยู่บ้านมาแบ่งปัน สามารถฟังได้ใน Spotify ตามลิงก์นี้
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: