×

เมื่อโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนชีวิตทุกคน บ้าน ย่าน และเมือง อาจต้องถึงเวลาออกแบบกันใหม่

06.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • Universal Design คือการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ให้งานออกแบบสถาปัตยกรรม บ้าน ย่าน และเมือง ในยุคที่เรากำลังเผชิญความท้าทาย 2+1 ด้าน 
  • สิ่งที่เรากำลังเผชิญคือ 1. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบออนไลน์อย่างรวดเร็ว 2. ความไม่สมดุลของโครงสร้างประชากร และที่บวกอีกหนึ่งด้านคือการแพร่ระบาดอย่างกว้างและรวดเร็วของโรคอุบัติใหม่อย่างเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
  • หลังวิกฤต หรือ Post COVID-19 วงการสถาปนิกและนักออกแบบบ้าน ย่าน เมือง ควรมีเป้าหมาย 3 ประการให้งานออกแบบสถาปัตยกรรมสามารถส่งเสริม 1. Healthy ให้คนมีสุขภาวะที่ดี 2. Resilient ให้สภาพแวดล้อมสามารถยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ง่ายต่อความท้าทายใหม่ๆ และ 3. Inclusive Society ให้เกิดสังคมที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน

บทความนี้ต้องการเสนอการประยุกต์แนวความคิดการออกแบบเพื่อทุกคน หรือ Universal Design ในการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ให้งานออกแบบสถาปัตยกรรมบ้าน ย่าน และเมือง ในยุคที่เรากำลังเผชิญความท้าทาย 2+1 ด้านคือ 1. การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบออนไลน์อย่างรวดเร็ว 2. ความไม่สมดุลของโครงสร้างประชากร และที่บวกอีกหนึ่งด้านคือการแพร่ระบาดอย่างกว้างและรวดเร็วของโรคอุบัติใหม่อย่างเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

ในช่วงที่เขียนบทความนี้ ประเทศไทยเป็น 1 ในประมาณ 200 ประเทศทุกทวีปที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรือที่เรียกกันทั่วโลกว่า โควิด-19 ตัวเลขตามชื่อปีที่พบครั้งแรกช่วงเดือนพฤศจิกายน 2019 ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก ณ วันที่ 29 มีนาคม 2563 จำนวน 730,870 คน เสียชีวิต 34,399 คน และรักษาหาย 142,361 คน ขณะที่ประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อ จำนวน 1,531 คน เสียชีวิต 8 คน และรักษาหาย 97 คน

 

ด้วยไวรัสตัวนี้ได้พัฒนาตัวมันเอง โดยทำให้คนที่ติดเชื้อในระยะแรกแทบไม่มีอาการป่วย จากคนติดเชื้อไม่มีอาการ จึงกลายเป็นพาหะนำเชื้อโรค ซึ่งสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้กว้างขึ้น จากนั้นไม่นานก็เกิดการระบาดหนักไปถึงคนในทุกวิชาชีพ ทุกชนชั้น ตั้งแต่ระดับคนในราชวงศ์จนถึงแรงงานรายวัน เรียกได้ว่าแทบทุกพื้นที่จริงๆ ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศต้องกำหนดมาตรการในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค เช่น มาตรการเว้นระยะห่างทางบุคคลและสังคม (Social Distancing Measure) เพื่อลดการติดเชื้อ เพื่อหน่วงระยะเวลาให้มนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) หรือให้บุคลากรทางการแพทย์คิดค้นวัคซีนที่จะมาจัดการกับไวรัสนี้ได้ทัน และหน่วงเวลาการเพิ่มจำนวนผู้ป่วยจากการติดเชื้อใหม่ เพราะสถานพยาบาลและอุปกรณ์ทางการแพทย์เริ่มขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ไปจนถึงเครื่องช่วยหายใจ และที่สำคัญพื้นที่กักเชื้อโรคได้ เพื่อรองรับคนป่วยในสถานพยาบาล

 

เหตุนี้เองที่ทำให้คนในแวดวงการออกแบบสถาปัตยกรรม ผังเมือง อาคารสาธารณะ หรือแม้แต่ที่พักอาศัย เริ่มกลับมาทบทวนแนวคิดในการออกแบบบ้าน ย่าน และเมืองกันอีกครั้ง

 

Universal Design: Beyond Creating Inclusive Society

กลับมาดูแนวคิดสำคัญๆ ที่น่าจะช่วยให้วงการสถาปัตยกรรมปรับตัวให้ยืดหยุ่นได้เท่าทัน หรือ Resilience กับโจทย์ใหม่ๆ ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ ลองย้อนดูการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่ผ่านมา ได้ถูกท้าทายจากสองปัจจัยสำคัญคือ หนึ่ง การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารและระบบดิจิทัล และสอง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เมื่อโลกกำลังเข้าสู่สังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ในขณะที่ลดจำนวนการเพิ่มขึ้นของเด็กเกิดใหม่ ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลของโครงสร้างประชากรดังกล่าว อีกทั้งเมื่อประมาณ 20 ปีมานี้ วงการออกแบบสถาปัตยกรรมได้ต่อยอดแนวความคิดการออกแบบที่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนที่มีความสามารถแตกต่างกัน หรือ Universal Design แนวความคิดที่ว่าด้วยการออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่ม ให้ครอบคลุมการออกแบบอาคารสถานที่ให้เอื้อต่อการอยู่อาศัยของกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น การปรับที่พักอาศัยในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้มีห้องนอนไว้ข้างล่าง มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำ ทางลาด ลิฟต์ติดกับบันได สมาร์ทโฮมที่มาพร้อมระบบ Internet of Thing (IoT) ให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่บ้านโดยลำพังกับระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยระยะไกลส่งไปยังลูกหลานหรือคนในครอบครัว หรือโครงการขนาดใหญ่ อย่างโครงการที่พักอาศัยรองรับวัยหลังเกษียณ เป็นต้น

 

สังเกตว่าแนวความคิดการออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่ม (Universal Design) นั้นอาจมีคำเรียกได้หลากหลาย เช่น Friendly Design, Design for All หรือ Inclusive Design เป็นต้น แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ งานออกแบบที่คำนึงถึงความต้องการแตกต่างหลากหลายของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะมีความสามารถในการดำรงชีวิตประจำวันแตกต่างกันอย่างไร ไม่ว่าจะมีสถานะต่างกันอย่างไร หรือไม่ว่าจะมีอายุและความแตกต่างทางร่างกายแตกต่างกันอย่างไร งานออกแบบอาคารสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ต้องช่วยให้ผู้ใช้ได้รับความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการใช้ชีวิตประจำวัน

 

ขอยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม ทั้งแบบที่ใช้เทคโนโลยีขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง เช่น จัดให้มีทางลาดที่ทางเข้าหลักของอาคารทุกประเภท เพื่อให้คนใช้วีลแชร์หรือคนที่ไม่สามารถเดินด้วยเท้าขึ้นลงบันไดได้ สามารถเข้าถึงอาคารนั้นๆ ได้โดยไม่ต้องมีคนช่วยยกวีลแชร์ หรือถูกแยกให้ไปใช้ทางลาดสำหรับขนของที่ทางเข้ารอง ด้านหลังอาคาร หรือจัดให้มีลิฟต์เมื่ออาคารมี 2 ชั้นขึ้นไป หรือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการมีปุ่มกดลิฟต์ที่อยู่ในระดับต่ำใกล้พื้นที่สามารถใช้เท้ากดได้ด้วย ก็เอื้อให้คนที่มือไม่ว่าง หรือนิ้วมือไม่สามารถใช้การได้ รวมถึงการเอาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้ในการออกแบบที่พักอาศัยเพื่อสร้างความปลอดภัยให้คนกลุ่มเปราะบาง เช่น ระบบแจ้งเตือนเชื่อมกับมือถือ เมื่อมีการล้มของผู้สูงอายุ เป็นต้น 

 

ที่ยกตัวอย่างแนวความคิด Universal Design ขึ้นมา เพราะต้องการสะท้อนให้เห็นว่าสามารถเป็นแนวทางแก้ปัญหา หรือ Solution ลดข้อจำกัดเมื่อเจอความท้าทายทั้งสองเรื่อง ทั้งโครงสร้างประชากรที่ไม่สมดุล และการเปลี่ยนแบบหักศอกของดิจิทัลเทคโนโลยี เพราะแนวคิด Universal Design สามารถพัฒนาให้ตอบสนองความต้องการของคนที่แตกต่างด้วยเทคโนโลยีได้หลายระดับ

 

อย่างไรก็ดี ความท้าทายดังกล่าวข้างต้นยังไม่นับรวมวิกฤตจากหายนะที่เกิดจากสิ่งที่มองไม่เห็น นั่นคือการระบาดของโรคอุบัติใหม่ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของมนุษยชาติแน่นอน หากเรามองผ่านสายตาของโรคโควิด-19 จะพบว่า ไวรัสโคโรนาไม่แยกแยะการแพร่เชื้อไปที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทุกคนได้รับความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคร้ายนี้ และเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้เท่ากัน ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด จะมีความเชื่อแบบไหน จะมีหรือจะจน จะเป็นเด็ก เป็นคนหนุ่มสาว หรือเป็นคนสูงวัย

 

Resilient Design for Life

ในช่วงที่รัฐบาลกำลังใช้มาตรการ Social Distancing นี้ เป็นโอกาสดีให้เราในแวดวงสถาปัตยกรรมได้มีเวลาทบทวนและคิดเตรียมปรับกระบวนทัศน์ในการออกแบบสถาปัตยกรรม ตั้งแต่บ้าน ย่าน และเมือง 

 

ผู้เขียนศึกษาวิจัยและนำแนวความคิด Universal Design ไปประยุกต์ใช้ในอาคารสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ปี 2544 พบว่า หลักการของแนวความคิด Universal Design สามารถนำมาประยุกต์กับการออกแบบอาคารสถานที่ให้ยืดหยุ่น ให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับภาวะโรคระบาดได้ เพราะการระบาดใหญ่ครั้งนี้กำลังจะเปลี่ยนโลกให้ต้องสร้างความคุ้นเคยกับความปกติใหม่ หรือ ‘New Normal of the World We Live In’ เราจะออกแบบพื้นที่สาธารณะให้ยืดหยุ่น รองรับคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งนานาชาติ ต่างวัย ต่างอาชีพ ต่างระดับรายได้ มารวมตัวกันเยอะๆ ให้ทุกคนปลอดภัยได้อย่างไร โดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่อย่างท่าอากาศยาน โรงแรม โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง โรงยิม สถานออกกำลังกาย หรือสถานประกอบการขนาดต่างๆ

 

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เทคโนโลยีที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารและทำงาน ได้รับการพัฒนาให้เป็นระบบออนไลน์มากขึ้น จนเกิดการเปลี่ยนรูปแบบของสถานประกอบการ หรือออฟฟิศหลายแห่งปรับเป็นรูปแบบเปิด (Open Office) ให้ทุกคนที่ทำงานสามารถปรับเปลี่ยนใช้พื้นที่ในที่ทำงานได้หลายรูปแบบ เพื่อประหยัดงบประมาณ และง่ายต่อการเข้าถึงเชิงกายภาพของคนที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าคนพิการ คนไม่พิการ แต่ก็เกิดข้อกังขาว่า อาจสูญเสียความเป็นส่วนตัว ควบคุมเสียงไม่ได้ จึงเกิดแนวคิด Anti-Open-Office ด้วยการออกแบบระบบอะคูสติกให้ดูดซับเสียงในพื้นที่เปิดโล่งให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น จะเห็นได้ว่ามีความพยายามปรับกระบวนทัศน์การออกแบบ อาคารสถานที่ในยุคอุตสาหกรรมเดิมให้มีความยืดหยุ่น ปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัลและออนไลน์มากขึ้น คนใช้อาคารสามารถเคลื่อนย้ายได้อิสระมากขึ้น การออกแบบเชิงพื้นที่ พยายามเปิดให้คนมีปฏิสัมพันธ์กันทางสังคมมากขึ้นไปพร้อมๆ กับยังรักษาความเป็นส่วนตัวในระดับปัจเจกบุคคลได้ด้วย พื้นที่อย่าง Open Office หรือโคเวิร์กกิ้งสเปซเอื้อให้คนติดต่อกันมากขึ้น แต่จะป้องกันการติดต่อของสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างไร

 

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง อาคารสาธารณะที่ใช้ระบบปรับอากาศ หรือที่เรียกเข้าใจง่ายว่า ‘อาคารที่มีระบบปิด’ นั้น กลับกลายเป็นพื้นที่เสี่ยง เพราะมันเอื้อในการแพร่กระจายของละอองไวรัสได้ง่ายขึ้น และอยู่ในอาคารแบบนี้ได้นานขึ้น แต่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการอยู่อาศัยในอาคารแบบนี้ได้ จึงขอเสนอให้นำเอาแนวความคิด Universal Design มาประยุกต์ใช้กับการออกแบบรับมือกับการอยู่ร่วมกับภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในปัจจุบันและอนาคต

 

หลักการพื้นฐานของ Universal Design ที่จัดทำขึ้นโดย School of Architecture and Planning, The State University of New York, USA ประกอบด้วย 8 เป้าหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึง และใช้อาคาร สถานที่ต่างๆ ของคนทุกกลุ่มให้สะดวก ปลอดภัย ได้แก่

 

  1. Body Fit เอื้อต่อทุกความแตกต่างและความสามารถของร่างกายผู้ใช้แต่ละคน
  2. Comfort ตอบสนองความต้องการของคนทั้งทางร่างกายและการรับรู้ที่อาจต่างกันมากๆ
  3. Awareness ให้ข้อมูลที่สำคัญจำเป็นและง่ายต่อการเข้าใจของผู้ใช้งาน
  4. Understanding ออกแบบให้มีขั้นตอนการใช้สอยได้ง่าย ชัดเจน และไม่คลุมเครือ
  5. Wellness ส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดี เลี่ยงการติดเชื้อ และปกป้องจากการเสี่ยงอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ
  6. Social Integration ดูแลผู้ใช้งานให้ได้รับความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่แยกแยะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
  7. Personalization ผสมผสานการสร้างโอกาสให้ผู้ใช้ได้แสดงออกถึงความชอบส่วนบุคคลในงานออกแบบนั้นๆ
  8. Cultural Appropriateness ออกแบบให้เคารพและเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรมและบริบททางสังคมและสภาพแวดล้อมของโครงการนั้นๆ

 

เมื่อศึกษาดูแล้วพบว่าเป้าหมาย 8 ประการของ Universal Design สามารถเปิดแนวทางใหม่ๆ ให้นักออกแบบ สถาปนิก ท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้นำแนวคิดนี้ประยุกต์ใช้กับโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการปรับที่พักอาศัยให้ยืดหยุ่น ปรับเป็นที่กักตัว (Self-Quarantine) กรณีที่พบว่าเข้าข่ายเสี่ยง หรือ ปรับที่พักอาศัยตามมาตรการ Shelter In Place แม้อาจจะมีรายละเอียดแตกต่างกับการล็อกดาวน์ในอาคารสถานที่สาธารณะ แต่ทั้งสองมาตรการเน้นการอยู่ในที่พักอาศัยตนเอง หรือในที่ตั้งที่ปลอดภัย ไม่เคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ของคน (รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงและไม่เสี่ยง) เพื่อลดการติดต่อ ลดการแพร่เชื้อ ในช่วงการระบาดหนัก กรณีที่ที่พักอาศัยต้องกลายเป็นที่พักพิงเพื่อเลี่ยงการติดเชื้อ การออกแบบที่พักอาศัยให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุกคนสามารถดำรงชีวิตได้เอง ลดการช่วยเหลือใกล้ชิด กลายเป็นสิ่งสำคัญ 

 

นอกจากนี้เป้าหมายทั้ง 8 ข้อยังสามารถปรับใช้กับอาคารสาธารณะในการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารด้วย อาทิ Touchless Technology ลดการสัมผัส Automatic Door ประตูอัตโนมัติ หรือการออกแบบให้มีปุ่มลิฟต์ระดับต่ำที่สามารถกดควบคุมได้ด้วยเท้า การใช้ระบบเสียงเพื่อควบคุมลิฟต์ การใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อควบคุมระบบไฟฟ้าภายในห้อง หรือไปจนถึง Self-cleaning Restroom ห้องน้ำที่มีระบบทำความสะอาดตัวเองได้ การเลือกใช้วัสดุปิดผิวที่เรียบ เป็นมันวาว เช่น โลหะ อย่างทองแดง (Copper) ลดการเกาะติดของเชื้อโรค ดังเห็นได้จากเป้าหมายข้อที่ 5 เน้น Wellness คือการออกแบบจะต้องเน้นไปที่การส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดี อาคารที่ใช้ระบบปิด ก็ต้องมีระบบระบายอากาศที่ดี มีประสิทธิภาพในการระบายเชื้อโรคออกจากอาคารได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย หรือการใช้แสง UV ภายในอาคารเพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น

 

New Normal of Architecture in Pandemic: Healthy – Resilient – Inclusive Society

หากสถาปนิก นักออกแบบ มีความข้าใจหลักการพื้นฐาน และเป้าประสงค์ของ Universal Design จากหลักทั้ง 8 ประการดังที่กล่าวมาแล้ว ก็สามารถนำไปกำหนดทิศทาง (Trend foresight) ในการออกแบบบ้าน ย่าน เมือง ให้ปรับตัวรับกับการอยู่ร่วมกับทั้งสามความท้าทายในโลกปัจจุบันและอนาคตได้ ดังที่กล่าวถึง Wellness เน้นส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดี เลี่ยงการติดเชื้อ และปกป้องจากการเสี่ยงอันตราย เราสามารถออกแบบห้องน้ำสาธารณะให้มีระบบ Self-cleaning Toilet โรงแรมที่มีห้องพักแบบ Modular ขนาดเล็กกระชับ หรือ Pod Rooms เพื่อลดการติดต่อแพร่เชื้อ ให้สามารถปิดกั้นจากผู้อื่นได้สนิท หรือห้องพักสามารถถอดประกอบ-รื้อได้ง่าย เพื่อการฆ่าเชื้อได้อย่างรวดเร็วในยามที่เกิดการระบาด นอกจากนี้การวางผังรวมของอาคารขนาดใหญ่ ก็ต้องเพิ่มจุดคัดกรองก่อนเข้าอาคาร ประหนึ่งว่าเป็นป้อมรักษาความปลอดภัยที่บริเวณทางเข้าโครงการ อยู่ภายนอกอาคาร เป็นยามคัดกรองเชื้อโรคระบาดที่ออกแบบให้ความปลอดภัยทั้งคนตรวจและผู้ได้รับการตรวจ ก่อนเข้าถึงโครงการ

 

สรุป 

สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอเสนอแนะแนวทางในการออกแบบสถาปัตยกรรมให้เท่าทันกับการรับมือกับโรคระบาดอุบัติใหม่ถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการออกแบบ ก่อสร้างและบริหารจัดการโครงการ หรือแม้แต่ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบสถาปัตยกรรม เช่น กระทรวงมหาดไทย สภาสถาปนิก เครือข่ายคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือสมาคมวิชาชีพด้านออกแบบต่างๆ ในหลายระดับว่าทิศทางการกำหนดนโยบาย มาตรการ การเรียนการสอน หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับการออกแบบสภาพแวดล้อมทางกายภาพจะเป็นอย่างไร 

 

หากตลอดมานั้นบทบาทของงานออกแบบสถาปัตยกรรมคือการสร้างสรรค์พื้นที่ให้คนมาเจอกัน ออกแบบให้เอื้อการปฏิสัมพันธ์กัน สนับสนุนการสร้างชุมชนของคนในรูปแบบต่างๆ แต่ต่อจากนี้งานออกแบบทางสถาปัตยกรรมจะตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤตสุขภาวะของคนที่ต้องการการแยกการกักตัวให้เว้นระยะห่างเชิงกายภาพกันได้อย่างไร

 

อันที่จริงแนวความคิด Universal Design เอื้อให้การออกแบบทางสถาปัตยกรรม ส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดี และเอื้อต่อการเว้นระยะห่างทางกายภาพและเชิงสังคมอยู่แล้ว เช่น ระบบการออกแบบห้องน้ำสาธารณะที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ง่ายต่อการเข้าถึงของคนทุกกลุ่ม และง่ายต่อการรักษาความสะอาด ปลอดเชื้อโรค (อย่างที่เราเห็นตัวอย่างในห้องน้ำท่าอากาศยานที่ฮาเนดะ ประเทศญี่ปุ่น) หรือการมีทางเลือกในการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ของคนในหลายรูปแบบ ผ่านสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ อาทิ ระบบการสื่อสาร การเรียนการสอนแบบออนไลน์สำหรับคนใช้วีลแชร์ การใช้ Caption ในคลิปต่างๆ สำหรับคนหูหนวก ที่คนทั่วไปก็สะดวกด้วย การใช้ลิฟต์ที่ควบคุมด้วยเสียง สำหรับคนตาบอดเกิดระบบ Contactless-technology ที่ใช้ในการเปิด-ปิดประตู ลดการสัมผัส ลดการแพร่เชื้อโรค ระบบระบายอากาศภายในบ้านด้วยระบบแรงดันบวก (Positive Pressure) ปลอดภัยไร้ฝุ่น ลดการสะสมเชื้อโรคสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น

 

นอกจากนี้การปรับกระบวนทัศน์ในการออกแบบสถาปัตยกรรม ยังสามารถขยายผลในหลายมิติ ตั้งแต่สภาพแวดล้อมภายในบ้าน พื้นที่ที่คนอยู่รวมกันในระดับย่าน หรือมีความซับซ้อนมากขึ้นในระดับเมือง ขอส่งท้ายข้อเสนอแนะในการนำระเบียบใหม่ ในการออกแบบสถาปัตยกรรมไปปรับใช้ โดยอ้างอิงแนวทางจากบทความของ Ann Forsyth, Department of Urban Planning and Design, Graduate School of Design, Harvard University ดังนี้

 

มิติของบ้านและที่พักอาศัย

ระยะต่อจากนี้ การอยู่บ้านจะเป็นเรื่องสำคัญจำเป็นมากขึ้น แต่ก็อาจไม่ใช่สำหรับคนบางกลุ่ม ในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข คนรับส่งของ-ส่งอาหาร คนที่มีหน้าที่ดูแลระบบสาธารณูปโภคทางกายภาพต่างๆ เช่น คนทำงานด้านรักษาความสะอาด ซ่อมบำรุงอาคาร สถานที่ ซึ่งยังต้องใช้พื้นที่ทำงานนอกบ้านอีกมาก อย่างไรก็ตาม บ้านควรจะเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมการมีสุขภาวะทางกายและทางจิตใจที่ดี ให้ผู้อาศัยมีสุขภาพแข็งแรง ปัญหาของคุณภาพอากาศภายในอาคารจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่น ความชื้นที่ก่อให้เกิดเชื้อรา การระบายอากาศ หรือฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว เช่น PM2.5 ที่เกิดกับวัสดุพื้นผิวเป็นที่สะสมฝุ่นในบ้าน ส่วนบ้านสำหรับคนที่มีข้อจำกัดทั้งทางกายภาพและทางเศรษฐกิจ หากไม่ได้รับการออกแบบปรับให้ส่งเสริมสุขภาวะที่ดี ก็จะยิ่งป่วยง่ายเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีการกักตัวที่บ้าน 

 

นอกจากการเข้าถึงทุกพื้นที่ได้อย่างสะดวกปลอดภัยแล้ว ภาคนโยบายต้องจัดให้แต่ละบ้านมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เท่าเทียมกันด้วย เพราะเมื่อถึงช่วงวิกฤต การสื่อสารออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญจำเป็นทั้งในช่วงที่มีมาตรการ Social Distancing หรือล็อกดาวน์

 

มิติของย่านและละแวกบ้าน

บทบาทของการออกแบบวางผังย่านสำคัญที่สุด เมื่อเข้าสู่สถานการณ์ภายในมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่คนยังต้องการการส่งอาหาร การออกกำลังกาย การพบปะสันทนาการกัน เพื่อคงความมีสุขภาวะที่ดี ตรงนี้เองที่หน้าที่ของการออกแบบทางสถาปัตยกรรมจะต้องออกแบบให้ยืดหยุ่น ทั้งการใช้พื้นที่ส่วนกลางของชุมชน ของย่าน และละแวกบ้าน ให้สามารถรองรับการออกมาใช้พื้นที่สาธารณะช่วงมีมาตรการ Physically Distancing ได้อย่างปลอดภัยด้วย

 

มิติของเมือง

สำหรับการเสนอทิศทางการออกแบบเมือง หลังช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น Ann Forsyth กล่าวว่า ณ ขณะนี้คงไวเกินไปที่จะคาดการณ์วิถีชีวิตคนเมืองในอนาคต ความเป็นเมืองยังคงอยู่ เพียงแต่ปัญหาเดิมของความเป็นเมืองอาจเพิ่มระดับความแย่ลงอีก เช่น วิกฤตสุขภาวะที่สำคัญๆ ที่เกิดในช่วงโควิด-19 คือ ความขาดแคลนระบบสาธารณสุขที่ดี และการเข้าถึงน้ำสะอาดในเขตที่พักอาศัยของคนรายได้น้อย ทั้งในพื้นที่เมืองและชนบท อย่างไรก็ดี Ann Forsyth ยังมีความหวังกับระบบการบริหารจัดการทั้งแบบเป็นทางการของรัฐกับของคนทั่วไปในเมือง อย่างกรณีมาตรการรับมือต่อการระบาดที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพของประเทศสิงคโปร์ หรือกรณีประเทศอิตาลีในช่วงมาตรการกักตัวเข้มข้น ผู้คนในเขตเมืองที่มีความหนาแน่นสูง ได้แสดงพลังให้เห็นความเป็นปึกแผ่นทางสังคม ผ่านการออกมาขับร้องเพลงที่ริมระเบียงให้กำลังใจกัน อย่างไรก็ดี รูปแบบพฤติกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นนี้เป็นภาวะชั่วคราว แต่หากวิกฤตการแพร่ระบาดยังทิ้งระยะเวลายาวนานขึ้นกว่านี้ วิถีชีวิตของคนเมืองอาจจะต้องถูกปรับเปลี่ยนไปในที่สุด

 

ถึงที่สุดแล้ว โดยส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่ามนุษย์จะสามารถใช้พลังสมอง พลังทางสังคม สติปัญญา นำพาเพื่อนมนุษย์ด้วยกันผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้อีกครั้งหนึ่ง เหมือนที่คนรุ่นก่อนทำได้มาแล้ว และเชื่ออย่างยิ่งว่าในทุกวิกฤตที่เลวร้าย ย่อมมีโอกาสที่ดีเดินเคียงข้างด้วยกันมาเสมอ 

 

ช่วงหลังวิกฤต หรือ Post COVID-19 นี้ วงการสถาปนิกและนักออกแบบบ้าน ย่าน เมือง ควรมีเป้าหมาย 3 ประการ ให้งานออกแบบสถาปัตยกรรมสามารถส่งเสริม 1. Healthy ให้คนมีสุขภาวะที่ดี 2. Resilient ให้สภาพแวดล้อมสามารถยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ง่ายต่อความท้าทายใหม่ๆ และ 3. Inclusive Society ให้เกิดสังคมที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน

 

อ่านเพิ่มเติม

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X