×

10 ภาพบันทึกประวัติศาสตร์พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอดีต

23.04.2019
  • LOADING...
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นโบราณราชประเพณีที่ต้องทำเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์ ปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยสุโขทัยในศิลาจารึกหลักที่ 2 หรือจารึกวัดศรีชุม กล่าวถึงการขึ้นเป็นผู้นำของพ่อขุนบางกลางหาว

 

แต่ตำราราชาภิเษกฉบับเก่าแก่ที่สุดมีขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หลังพระองค์ปราบดาภิเษก จึงให้ระดมผู้รู้ครั้งกรุงเก่าเรียบเรียงตำรา เรียกว่า ‘ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาสำหรับหอหลวง’ ซึ่งแบบแผนราชาภิเษกดังกล่าวได้รับการยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างสืบมา โดยพระมหากษัตริย์บางพระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้งคือ รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6

 

THE STANDARD รวบรวมภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอันหาชมได้ยากในอดีตตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 9 อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) เสด็จสวรรคตก่อนทรงรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2411 เมื่อทรงขึ้นครองราชสมบัติ ขณะมีพระชนมพรรษาเพียง 15 พรรษา ในระยะเวลา 5 ปีแรกของรัชกาล สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

 

กระทั่งเมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา จึงทรงพระผนวช หลังจากทรงลาสิกขาแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2416

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระราชอาสน์ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ 2 ธันวาคม 2454

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้งคือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2453 เนื่องจากอยู่ในช่วงกำลังไว้ทุกข์งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2454 เพื่อให้เป็นส่วนรื่นเริงสำหรับประเทศ อีกทั้งให้นานาประเทศที่เป็นสัมพันธมิตรไมตรีมีโอกาสร่วมงาน

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระชฎากลีบ หรือพระชฎาห้ายอด ซึ่งเป็นพระชฎาที่โปรดให้ทรงสร้างขึ้นใหม่ ภายหลังเรียกว่า พระชฎามหากฐิน ประทับ ณ ที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2454

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเลียบพระนคร เสด็จขึ้นท่าฉนวน วัดอรุณราชวราราม

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระที่นั่งราชยานพุดตานทอง เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคเลียบพระนคร มาทางถนนพระสุเมรุ วันที่ 1 มีนาคม 2468

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระมาลาเพชรน้อย ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่

 

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พร้อมด้วยเจ้านายฝ่ายใน เชิญเครื่องเฉลิมพระราชมณเฑียรและเครื่องราชูปโภค ในการเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2468

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ประทับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงรับน้ำอภิเษกของราชบัณฑิต พราหมณ์ผู้ถือพรต พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระราชาธิบดี ประธานาธิบดีนานาประเทศ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2468

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

พิธีถวายน้ำอภิเษกของรัชกาลที่ 9

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภาทั้ง 8 ทิศ เป็นนัยแสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย จากเดิมที่ราชบัณฑิตและพราหมณ์เป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก

 

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สรงพระมุรธาภิเษก แล้วทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ เสด็จออกจากหอพระสุราลัยพิมานไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศ ภายใต้เศวตฉัตร 7 ชั้น ผู้แทนสมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษก และพระราชครูวามเทพมุนี ทูลเกล้าฯ ถวายน้ำเทพมุนีทูลเกล้าฯ ถวายน้ำเทพมนตร์เวียนไปครบ 8 ทิศ เมื่อเสด็จมาประทับยังทิศบูรพาอีกครั้ง เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานวุฒิสภากราบบังคมทูลถวายชัยมงคลเป็นภาษามคธ แล้วทูลเกล้าฯ ถวายน้ำอภิเษก วันที่ 5 พฤษภาคม 2493”

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

 

พระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันที่ 5 พฤษภาคม 2493

 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

 

ภาพ: กระทรวงวัฒนธรรม และ Getty Images

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X