×

ไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ทำพิษ หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์หั่น GDP ไทยปีนี้โตเหลือ 2.4%

โดย THE STANDARD TEAM
30.01.2020
  • LOADING...

หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลง จากเดิมที่คาดว่า GDP ในปีนี้จะโต 2.7% ลงเหลือ 2.4% เนื่องจากคาดการณ์เอาไว้ว่า ‘การบริโภคและการลงทุนเอกชน’ จะได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่หายไปในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ (ไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่), ภัยแล้งที่จะเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นจนกระทบรายได้ภาคการเกษตร

 

รวมถึง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ที่น่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ในช่วงกลางไตรมาส 2 ปีนี้ โดยปัจจัยต่างๆ น่าจะรุนแรงในช่วงครึ่งปีแรก และเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งอาจจะทำให้การนำเข้าฟื้นตัวขึ้นบ้าง แต่ยังคงต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้ (3.0%)

 

ทั้งนี้ หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ประเมินว่ากรณีผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่มีระดับความรุนแรงปานกลาง จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสแรกของปีนี้จะลดลง 56% หรือหายไป 1.9 ล้านคนจากปี 2019 มาเหลือ 1.2 ล้านคน ใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการของ ททท.

 

ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวม หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์มองว่ายอดนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกจะลดลงจากปีที่แล้วเหลือ 20% มาอยู่ที่ประมาณ 16.8 ล้านคน ซึ่งจะกลับมาเติบโตในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ที่ 18% และ 24% และจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีอยู่ที่ 40.4 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.5% จากปีก่อน

 

แต่หากกรณีรุนแรง หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์เชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะหดตัวในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้สูงถึง 65% และ 12% ตามลำดับ เนื่องจากวิกฤตโรคระบาดที่กินระยะเวลานาน 2-3 เดือน อาจจะทำให้ชาวจีนงดเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าว

 

ขณะที่ครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มว่าการท่องเที่ยวของชาวจีนอาจจะเริ่มฟื้นตัว โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 38.6 ล้านคน ลดลงจากปีที่แล้ว 3% (39.8 ล้านคน)

 

ด้านความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรม มีการประเมินว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงประกอบด้วย กลุ่มท่องเที่ยว, กลุ่มพลังงาน (อุปสงค์การใช้น้ำมันลดลง), บริษัทขนาดเล็กที่พึ่งพาจีน (หลายบริษัทขนาดเล็กที่ส่งออกสินค้าไปจีน) ส่วนกลุ่มพาณิชย์, อสังหาริมทรัพย์, อิเล็กทรอนิกส์ และธนาคาร คือกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์คาดว่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อม

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising