×

ชงทำประกันไวรัสโคโรนา ชาวต่างชาติเที่ยวไทย 4 เดือน เสียชีวิตรับ 3 ล้านบาท

โดย THE STANDARD TEAM
30.01.2020
  • LOADING...

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่าจากกรณีที่เกิดการระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019-nCoV) ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน สำนักงาน คปภ. ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการกำหนดมาตรการรองรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้ออกมาตรการในการดูแลช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 

 

ล่าสุดเห็นชอบมาตรการให้มีการจัดทำผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองการเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรนาโดยเร็วที่สุดเพื่อรับมือสถานการณ์ระบาดได้ทันท่วงที และให้บริษัทประกันภัยกำหนดให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมแก่ผู้ทำประกันที่เจ็บป่วยจากไวรัสโคโรนาด้วย

 

นอกจากนี้ยังเห็นชอบมาตรการสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศไทย จากอัตราที่ลดลงของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก 

 

ดังนั้นสำนักงาน คปภ. จึงประสานงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เสนอให้มีการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองชาวต่างชาติ ซึ่งเกิดการเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรนาขณะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยจนทำให้ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลหรือเสียชีวิต เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีสภาวะที่ดียิ่งขึ้น

 

ขณะที่ คปภ. ได้ใช้โมเดลการรับประกันภัยโรคซาร์สเมื่อปี 2546 เป็นต้นแบบพัฒนากรมธรรม์ดังกล่าว  

 

เบื้องต้นมีการเสนอให้กำหนดแผนการรับประกันวงเงินความคุ้มครอง 3 แผนที่ 1 ล้านบาท 2 ล้านบาท และ 3 ล้านบาท ให้ความคุ้มครองทั้งกรณีการเสียชีวิตและเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรนา ทางด้านเบี้ยประกันคาดว่าเป็นหลักสิบหรือไม่เกิน 90 บาทตามที่เคยรับประกันภัยโรคซาร์สที่วงเงินความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต 3 ล้านบาท และเจ็บป่วย 300,000 บาท

 

รวมถึงมีการกำหนดระยะเวลาความคุ้มครองระยะสั้น 3-4 เดือนหรือน้อยกว่านี้ และอาจมีระยะเวลารอคอยการเกิดโรคด้วย

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising