×

โรคโควิด-19 กระทบท่องเที่ยว-เศรษฐกิจไทยทรุด แต่โรคนี้จะอยู่กับชาวโลกอีกนานเท่าไร?

18.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • สภาพัฒน์-บล.กสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยโตต่ำ 2% ผลจากโรคโควิด-19 ส่งออก การท่องเที่ยวหดตัว ภัยแล้ง และงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า
  • โรคโควิด-19 ฉุดนักท่องเที่ยวไทยปี 2563 เหลือ 37 ล้านคน พ่วงรายได้จากการท่องเที่ยวหายหลักแสนล้านบาท  
  • บล.กสิกรไทย เปิดรายชื่อหุ้น Top Pick และหุ้นน่าสนใจ เช่น CHAYO, AOT, CPN, KCE, TU, BGC, DCC, PTTEP, TOP, STEC

 

‘โรคโควิด-19’ หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่แพร่ระบาดและส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวถึง 12% ของ GDP ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะโตเกิน 3% ได้ยาก 

 

แต่คนไทยและนักลงทุนต้องรับมือกับเศรษฐกิจปี 2563 นี้อย่างไร? 

 

สภาพัฒน์-บล.กสิกรไทย ชี้โรคโควิด-19 กระทบนักท่องเที่ยวต่างชาติหด-เศรษฐกิจไทยทรุด?

 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจไทย ปี 2663 เหลือ 1.5-2.5% จากก่อนหน้านี้ที่ประเมินไว้สูงถึง 2.7-3.7% สาเหตุหลักเพราะ 3 ปัจจัยคือ การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ภัยแล้ง และงบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า นอกจากนี้ยังเห็นได้ชัดว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัว เพราะ GDP ไตรมาส 4 ปี 2562 เติบโต 1.6% ทำให้ปี 2562 GDP อยู่ที่ 2.4% ต่ำกว่าที่สภาพัฒน์คาดหวังไว้ และถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี 

 

โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบสูงมาก โดยสภาพัฒน์ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 จะเหลือ 37 ล้านคน จากก่อนหน้าที่อยู่ราว 40.8 ล้านคน ซึ่งจะทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งมองว่าผลกระทบนี้จะคงอยู่ถึงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 

 

ขณะที่ บล.กสิกรไทย อ้างอิงข้อมูลจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงกันยายน 2563 จะหดตัว 8-10% โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์นี้ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลง 30%     

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าหากจีนและประเทศต่างๆ ควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019  ได้ จะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวในเดือนเมษายน 2563 ส่วนหนึ่งเพราะอาจได้รับข่าวดีจากมาตรการของภาครัฐที่จะเปิดฟรีวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย 

 

ทำไมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2563 จะติดลบ? 

 

ภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย (บล. กสิกรไทย) กล่าวว่า จากผลกระทบโรคโควิด-19 ตัวเลขการส่งออกของไทยที่ติดลบต่อเนื่อง และอื่นๆ ทาง บล.กสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2563 จะหดตัว 1% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ไตรมาส 2 ปี 2563 จะกลับมาขยายตัวได้ และทำให้ทั้งปี 2563 GDP ไทยอยู่ที่ 2% ซึ่งลดลงจากประเมินก่อนหน้าที่อยู่ 2.8%

 

ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า  ไตรมาส 1 ปี 2563 มีโอกาสที่ GDP ของไทยจะติดลบ (ในกรณีการเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า) ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจไทยชะลอตัว และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว 

 

ปี 2563 ความไม่แน่นอนสูงขึ้นจากหลายด้าน ทั้งปัจจัยต่างประเทศ โรคระบาดที่ควบคุมได้ยาก ดังนั้นสิ่งที่รัฐไทยทำได้คือ เร่งการเบิกจ่ายภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เพื่อเร่งเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจ เช่น โครงการรถไฟฟ้าต่างๆ ทั้งนี้คาดว่าจะเห็นมาตรการของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

 

แต่มองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ Technical Recession คือ GDP ไม่น่าจะติดลบต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาสขึ้นไป ซึ่งปี 2563 นี้เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยที่ต้องจับตา เช่น ภัยแล้ง ฯลฯ โดยในไตรมาส 2 จำนวนนักท่องเที่ยวจะลดในอัตราที่น้อยลง และเห็นเศรษฐกิจไทยเร่งขึ้นช้าๆ จนกระทั่งไตรมาส 3 คาดว่านักท่องเที่ยวจะใกล้ระดับปกติ”

 

โรคโควิด-19 จะระบาดไปถึงเมื่อไร หุ้นกลุ่มไหนยังน่าสนใจ? 

 

ภาสกร กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงปัจจุบันพบว่า มีอัตราการตายอยู่ 2-3% โดยในประเทศจีนมีกลุ่มคนที่ต้องสังเกตอาการรวม 140,000 ราย ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่อยู่จุดสูงสุดที่ระดับ 190,000 ราย 

 

ดังนั้น ประเมินว่าทางการจีนจะสามารถคัดกรองผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งจะทำให้การแพร่ระบาดลดลง และคาดว่าภาคเอกชนของจีนจะเริ่มกลับมาทำงานเต็มรูปแบบในเดือนมีนาคมนี้ หลังจากช่วงวันหยุดยาว และผลกระทบจากไวรัสฯ

 

ทั้งนี้ ทาง บล.กสิกรไทย ประเมินว่าดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET INDEX) ในระยะสั้น จะอยู่ที่ระดับ 1,520-1,570 จุด ขณะที่กรอบระยะยาวในปี 2563 จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 1,570-1,614 จุด ภายใต้สมมติฐานว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม, การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สิ้นสุดในเดือนเมษายนนี้  และต้องมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินรวมถึงการคลังจากภาครัฐ 

 

อย่างไรก็ตามในช่วงภาวะดอกเบี้ยต่ำส่งผลดีต่อหุ้นหลายกลุ่ม เช่น

  • กลุ่มที่มีต้นทุนทางการเงินเป็นดอกเบี้ย เช่น กลุ่มไฟแนนซ์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ รวมถึงกลุ่มโรงไฟฟ้าและกลุ่มกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ที่มีอัตราเงินปันผล (Dividend Yield) สูงกว่าการฝากเงินในธนาคาร เพราะนักลงทุนบางส่วนจะโยกเงินมาที่หุ้นกลุ่มนี้เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น
  • หุ้นกลุ่มสินเชื่อ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการปล่อยกู้แบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) และหุ้นกลุ่มสินเชื่อ (Non-Bank) 

 

ทั้งนี้ทาง บล.กสิกรไทย มีรายชื่อหุ้นเด่น (Top Pick) ได้แก่ 

  • กลุ่มบริษัทบริหารสินทรัพย์ เช่น บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) 
  • กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากไวรัสโคโรนา 2019 (Virus Play) เช่น
    บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) 
  • กลุ่มหุ้นที่ได้แนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า ได้แก่ บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) และ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) 
  • กลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากต้นทุนก๊าซที่ปรับลดลง ได้แก่ บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) และ บมจ.ไดนาสตี้เซรามิค (DCC) 
  • กลุ่มพลังงาน เช่น บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) อานิสงส์กลุ่มโอเปกยังคงประคองการลดอัตราการผลิตลงเพื่อประคองราคาน้ำมันดิบ
  • กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ได้แก่ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) ซึ่งอานิสงส์การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising