หลังจบโปรเจกต์ภาพยนตร์เรื่อง ฮาวทูทิ้งฯ ที่เพิ่งฉายเสร็จมาหมาดๆ หลายคนชอบถามผมว่า หลังจากทำภาพยนตร์มาหลายเรื่อง อยู่กับอุตสาหกรรมนี้มาก็หลายปี ตอนนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง เปลี่ยนไปจากเรื่องแรกๆ ที่ทำหรือไม่ ผมมักจะตอบพวกเขาว่า ถ้าหมายถึงการทำภาพยนตร์เพื่อเชิงพาณิชย์ ยิ่งทำก็ยิ่งรู้สึกว่ามันเหมือนการแทงม้ามากขึ้นไปเรื่อยๆ
ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ผู้สร้างและผู้ริเริ่มโปรเจกต์ต่างเอาเงินและเวลามาพนันกับโปรเจกต์ที่จะกินชีวิตพวกเขาเป็นเวลาครึ่งปีถึงหนึ่งปีเป็นอย่างน้อย หมดไปกับกิจกรรมที่เดาไม่ถูกว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ข้อมูลเก่าๆ และสถิติที่ผ่านมาในอดีตอาจจะช่วยให้ประเมินผลลัพธ์ได้จำนวนหนึ่ง แต่มันก็ไม่ใช่ทุกครั้งไปที่จะสำเร็จ เพราะในกระบวนการสร้างภาพยนตร์ไม่สามารถควบคุมควอลิตี้ได้เป๊ะตามที่คิดไว้ในวันแรก มันคือผลิตภัณฑ์ที่จะต้องเดินทางข้ามผ่านเวลาอันยาวนานในช่วงก่อสร้าง ต้องผ่านมือคนอีกหลายคนหลายฝ่าย กว่าที่ตัวภาพยนตร์จะได้ไหลเข้าไปในดวงตาของคนดูในโรงภาพยนตร์ (หรือที่หน้าจอคอมพิวเตอร์) มันคล้ายๆ การวิ่ง 31 ขา คือถ้าล้มเพียงหนึ่งคน ก็มีสิทธิ์ทำให้พังทั้งขบวนได้
ที่เสี่ยงกว่านั้นคือ การทำภาพยนตร์มันคือการวิ่ง 31 ขา…ที่วิ่งเข้าไปในภูมิประเทศที่คาดเดาไม่ได้ตลอดเวลา การสร้างภาพยนตร์ใหม่หนึ่งครั้งก็ต้องเจอกับสภาวะรอบๆ ตัวใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปทุกปี ว่าง่ายๆ คือ ถึงจะฝึกจากบ้านมาดีขนาดไหน วิ่งมาอย่างมั่นใจขนาดไหน อยู่ๆ เจอแผ่นดินถล่มก็หงายได้เหมือนกัน อันนี้ก็อยู่ที่โชคชะตาที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา (จะบอกว่าเบื้องบนส่งลงมาแกล้งก็ได้ ถ้าคิดแบบนั้นแล้วสบายใจ) ถ้าถามว่า เราจะรอดหรือไม่รอด อันนี้ตอบยาก
หลังเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจากเมืองอู่ฮั่นของประเทศจีน ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ภาพยนตร์จีนทั้งหมด 7 เรื่อง ที่ต้องการเปิดตัวฉายในช่วงเวลานี้ ซึ่งจริงๆ เป็นช่วงตรุษจีนอันเป็นสัปดาห์ทองแห่งการทำเงินของภาพยนตร์เรื่องต่างๆ และภาพยนตร์หลายเรื่องได้ขายตั๋วล่วงหน้ารวมกันแล้วเป็นเงินจำนวนเกือบร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ยอดจองก็หยุดชะงักทันที เมืองอู่ฮั่นเองต้องคืนเงินสำหรับผู้จองตั๋วล่วงหน้าทั้งหมด บริษัทภาพยนตร์หลายแห่งถึงกับหุ้นตก สร้างความปั่นป่วนให้กับวงการแบบที่ไม่มีใครคาดเดาได้
อีกไม่กี่วันกระแสเรียกร้องให้ผู้จัดจำหน่ายเลื่อนฉายภาพยนตร์ตรุษจีนก็เริ่มกลายเป็นแฮชแท็กในโลกออนไลน์ของจีน ทำให้ค่ายผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ถึงกับเครียด คำถามคือ แล้วทำไมไม่เลื่อนฉายไปล่ะ ในเมื่อมันก็ยังไม่ฉาย ยังไม่มีใครได้ดูภาพยนตร์อยู่ดี ไม่น่าจะเป็นอะไร คำตอบคือ ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์นั้นได้ลงเงินไปกับค่าโฆษณาต่างๆ ที่โหมเทโปรโมตกันสุดขีดมาตลอดหลายสัปดาห์ไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าเกิดยกเลิกการฉาย การโปรโมตก็จะเท่ากับศูนย์ และสิ่งที่จะตามมาก็คือ เมื่อค่ายนำภาพยนตร์เข้าฉายใหม่อีกรอบ พวกเขาก็อาจจะไม่มีเงินสำหรับการโปรโมตภาพยนตร์แล้วก็เป็นได้ รวมถึงความรู้สึกของคนดูก็อาจจะรู้สึกว่ามันกลายเป็นภาพยนตร์เก่าโดยปริยาย ความอยากดูก็น้อยลง
ในขณะเดียวกัน ถ้ายังทู่ซี้ฉายช่วงตรุษจีนต่อไป ก็อาจจะโดนสังคมประณามได้ว่า โรคมันระบาดขนาดนี้ มึงยังจะฉายภาพยนตร์อีกเหรอ ไม่ห่วงชีวิตคนดูบ้างหรืออย่างไร ว่าง่ายๆ คือผู้จัดจำหน่ายมีแต่เสียกับเสียเท่านั้นในโมเมนต์นี้ สุดท้ายทุกคนก็ต้องประกาศเลื่อนฉายกันทั้งหมดอย่างไม่มีใครคาดคิด และต้องทำการหันหัวเรือใช้สื่อที่ตัวเองซื้อไปแล้ว เปลี่ยนเอามาให้กำลังใจชาวจีนทุกคนให้ช่วยกันต่อสู้กับโรคนี้แทน รวมถึงคืนเงินคนดูทั้งหมดจากการที่จองตั๋วล่วงหน้ากันไปแล้ว ทั้งหมดทำให้ค่ายสูญเสียรายได้กันไปทั้งหมดถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ตรุษจีนปีที่แล้ว เหตุการณ์ปกติ ภาพยนตร์จีนสามารถทำเงินไปถึง 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
ธุรกิจภาพยนตร์จึงเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงตลอดเวลา จนกว่าจะฉายภาพยนตร์จบโปรแกรม และออกจากโรง เพราะว่าความซวยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ด้วยลักษณะธรรมชาติของการสร้างและการชมภาพยนตร์นั้นมีลักษณะที่เป็นสาธารณะหรือเป็นอีเวนต์ มันจึงสัมพันธ์กับผู้คนจำนวนมาก (ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้) วัฒนธรรม (ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้) และสภาพดินฟ้าอากาศต่างๆ (ที่ยิ่งเอาแน่เอานอนไม่ได้เป็นที่สุด) สื่อภาพยนตร์เป็นสื่อบันเทิงที่เรียกร้องให้การเสพงานเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น รวมถึงการทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าต้องเสพเดี๋ยวนั้น เพราะเป็นสื่อที่มีระยะเวลาจำกัดในการฉาย ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้คนรู้สึกอยากดูทันที ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวภาพยนตร์จะออกโรงเสียก่อน ในขณะที่ตัวคนดูเองในยุคสมัยนี้ก็มีความขี้เกียจออกจากบ้านมากขึ้น เพราะมีตัวฉุดรั้งให้พวกเขาเสพความบันเทิงที่สะดวกสบายกว่าที่บ้าน (และอาจจะสนุกกว่าด้วย) ปัจจัยอะไรเหล่านี้ทำให้การสร้างภาพยนตร์และฉายภาพยนตร์เรื่องหนึ่งมีเปอร์เซ็นต์ที่จะเฟลตลอดเวลา และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่งนั้นใช้เงินจำนวนมหาศาล ต่อให้เป็นภาพยนตร์ขนาดเล็ก เราก็ไม่สามารถสร้างภาพยนตร์ได้ด้วยเงิน 1,000 บาทอย่างแน่นอน ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะเจ็บตัวทางธุรกิจนั้นอาจจะมีสูงกว่าธุรกิจอื่นๆ
จึงไม่น่าแปลก หากในช่วงก่อนฉายภาพยนตร์ บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์หรือจัดจำหน่ายภาพยนตร์จะมีความระมัดระวังตัวมากเป็นพิเศษ (จะเรียกว่านอยด์ก็ได้) เพราะถ้าหากพลาดแล้ว สิ่งที่เพียรสร้างมาตั้ง 1-2 ปี (หรืออาจจะ 3-4 ปีในบางเรื่อง) อาจจะพังครืนได้ใน 1 อาทิตย์ เราอาจจะยังไม่ต้องไปพูดถึงเรื่องไวรัสอะไรด้วยซ้ำไป เอาแค่บรรดานักแสดงนำต่างๆ ก็มักจะต้องถูกเก็บตัวเป็นอย่างดี (หรืออาจมีการเซ็นสัญญา) เพื่อไม่ให้ทำอะไรพลาดพลั้งก่อนภาพยนตร์ฉาย หรือบางครั้งก็เกิดเหตุการณ์บางอย่างที่มีผลต่อมู้ดและจิตใจผู้คน ตัวอย่างเช่น จากเหตุการณ์ 9/11 ในสหรัฐอเมริกาก็ส่งผลทำให้ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องต้องเลื่อนฉายออกไป เพราะอาจจะมีเนื้อหาคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ เช่น บางเรื่องมีฉากแอ็กชันเกี่ยวกับการจี้ปล้นเครื่องบิน หรือบางเรื่องไม่เลื่อนฉาย แต่ต้องตัดบางฉากออก เพื่อไม่ให้คนรู้สึกแย่ขณะดู (ซึ่งถ้าคนดูรู้สึกแย่ ก็อาจจะไปบอกเพื่อนๆ ต่อได้ว่าอย่าไปดูเลย)
ปัจจัยประมาณ 1,850 ข้อนี้ ล้วนทำให้อนาคตของภาพยนตร์เรื่องหนึ่งดับหายวับไปกับตา เงินหลายร้อยล้านอาจจะสูญไปต่อหน้าต่อตา หลายบริษัททั่วโลกจึงต้องมีการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันพอสมควร (มันคงช่วยไม่ได้จริงๆ) พูดแบบนี้แล้ว คำถามสุดท้ายคือ แล้วอะไรยังทำให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ คำตอบคือ ในมุมมองของนักธุรกิจ เวลามันไม่ผิดพลาด มันอาจจะทำเงินได้อย่างมหาศาลเกินกว่าใครจะคาดคิดได้ และในมุมมองของผู้สร้างภาพยนตร์ เวลามันไม่ผิดพลาด ภาพยนตร์ที่เราทำอาจจะเปลี่ยนโลกหรือเปลี่ยนชีวิตใครสักคนได้เช่นกัน
คนเราก็เลยยังคงทำภาพยนตร์กันอยู่, เหมือนเป็นโรคที่รักษาไม่หาย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล