กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) แจ้งข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่าอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากปัจจัยต่างๆ รวมถึงภาวะโลกรวน อาจทำให้เกิดเหตุปะการังฟอกขาวได้ในปีนี้
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (สวพ.) ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำทะเลมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสมุทรศาสตร์และอุณหภูมิน้ำทะเลอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ประกอบกับการที่หน่วยงานองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา (NOAA) รายงานว่า ขณะนี้มหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ El Niño-Southern Oscillation (ENSO) ซึ่งทำให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดปะการังฟอกขาวในประเทศไทยในช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2567 โดยระดับความรุนแรงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
โดย ทช. ได้แจ้งข่าวแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจ รวมถึงแนวทางการเผชิญเหตุ และขอความร่วมมือแจ้งข่าวพบเห็นการเกิดปะการังฟอกขาว ผ่านเว็บไซต์ https://thailandcoralbleaching.dmcr.go.th/th ซึ่ง ทช. จะติดตามและแจ้งข่าวสถานการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างใกล้ชิดต่อไป
ปะการังฟอกขาวคืออะไร
โดยปกติแล้วปะการังในทะเลจะมีสีสันที่หลากหลาย ดึงดูดให้บรรดานักท่องเที่ยวและนักดำน้ำลงไปแหวกว่ายเพื่อชื่นชมความงาม แต่เมื่อเกิดภาวะที่อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 31 องศาเซลเซียสอย่างต่อเนื่อง (ประมาณ 1 สัปดาห์ถึง 1 เดือน) จะทำให้ปะการังเครียด จนเนื้อเยื่อของมันมีสีจางลงจนกลายเป็นสีขาว ซึ่งเราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘ปะการังฟอกขาว’
นอกจากอุณหภูมิน้ำที่ร้อนขึ้นแล้ว ปัจจัยที่ทำให้เกิดปะการังฟอกขาวได้ก็ยังมีอีกหลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเล ความเป็นกรด-ด่าง ความเค็ม คุณภาพน้ำทะเล มลพิษ คราบน้ำมันหรือสารเคมีต่างๆ แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปะการังฟอกขาวและทำให้ปะการังตายในบริเวณกว้างในปัจจุบันคือการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเล
ข้อมูลจาก ทช. ระบุว่า ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอันเนื่องมาจากภาวะโลกรวน ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มขึ้น กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปะการังได้รับความเสียหายและมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มว่าจะเกิดถี่และทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย โดยมักจะพบปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในฤดูร้อนช่วงเดือนเมษายน ถึงพฤษภาคม ที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกิน 30 องศาเซลเซียสต่อเนื่องกันหลายวัน
อันตรายแค่ไหน
ถามว่าเมื่อฟอกขาวแล้ว มันยังพอมีโอกาสรอดชีวิตได้หรือไม่นั้น ทช. ให้ข้อมูลว่า ในช่วงแรกของการฟอกขาว แม้ปะการังจะอ่อนแอลงอย่างหนักแต่พวกมันก็ยังไม่ตาย หากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นลดลงกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ปะการังจะสามารถฟื้นตัวได้เอง แต่ถ้าอุณหภูมิน้ำยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานจะส่งผลให้ปะการังตายในที่สุด
ผลพวงที่ตามมาจะทำให้สัตว์น้ำขาดแหล่งที่อยู่อาศัย วางไข่ และหลบภัย ขณะที่นักท่องเที่ยวเองก็อาจไม่อยากไปเที่ยวชมอีก ทำให้กระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมด้วย โดยปะการังฟอกขาวมักเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในเวลาใกล้เคียงกัน
เราช่วยอะไรได้บ้าง
ในฐานะประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนซึ่งหลายคนอาจเลือกทะเลไทยสวยๆ เป็นจุดหมายปลายทางในการพักผ่อนหย่อนใจ ให้ระมัดระวังเป็นพิเศษในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่อาจเพิ่มความเครียดให้กับแนวปะการัง งดการทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูล ที่สำคัญคือควรหลีกเลี่ยงการจับต้องหรือสัมผัสปะการัง ยืน หรือตีขาเตะปะการัง อีกทั้งควรร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ภาพ: Alexis Rosenfeld / Getty Images
อ้างอิง: