ราคาทองแดงในตลาดโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นมากถึง 75% ในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ ท่ามกลางอุปทานจากเหมืองต่างๆ ที่ลดลง และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน
BMI หน่วยงานด้านการวิจัยของ Fitch Solutions ระบุว่า อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านของโลกไปสู่พลังงานสีเขียว (Green Energy Transition) รวมทั้งแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2024 จะช่วยให้ราคาทองแดงปรับตัวขึ้น
ขณะที่ Matty Zhao หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ดูแลด้านวัตถุดิบพื้นฐาน (Basic Materials) ของ Bank of America Securities เปิดเผยกับ CNBC ว่า “มุมมองเชิงบวกต่อราคาทองแดงจะยิ่งดูดีมากขึ้นจากปัจจัยมหภาค” ไม่ว่าจะเป็นแรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ย และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์
มากไปกว่านั้น จากการประชุม COP28 ที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีมากกว่า 60 ประเทศสนับสนุนแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานสะอาดให้ได้อีก 3 เท่าตัวภายในปี 2030 ทำให้ Citibanks ให้น้ำหนักเชิงบวกอย่างมากต่อราคาทองแดง
จากรายงานเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา Citibanks คาดการณ์ว่า เป้าหมายด้านพลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้นจะช่วยหนุนความต้องการใช้ทองแดงเพิ่มขึ้นอีก 4.2 ล้านตันในปี 2030
ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยดันให้ราคาทองแดงพุ่งขึ้นแตะ 15,000 ดอลลาร์ต่อตันในปี 2025 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าสถิติสูงสุดเดิมที่ 10,730 ดอลลาร์ต่อตัน ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2023
นักวิเคราะห์ของ Citibanks กล่าวว่า “การคาดการณ์นี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปจะชะลอตัวแบบ Soft Landing ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด รวมทั้งปัจจัยสำคัญคือการผ่อนคลายนโยบายของจีน”
ล่าสุดราคาทองแดงที่ซื้อขายผ่าน London Metal Exchange (LME) อยู่ที่ราว 8,559 ดอลลาร์ต่อตัน
ทองแดงถือเป็นวัสดุหลักที่ถูกใช้ในระบบนิเวศของกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก และเป็นส่วนประกอบสำคัญของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งใช้ในการทำงานของกริดไฟฟ้าและกังหันลม
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs คาดการณ์ว่า อุปทานของทองแดงจะลดลงไปกว่า 500,000 ตันในปีนี้
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา First Quantum Minerals หยุดการผลิตชั่วคราวสำหรับเหมืองใน Cobre Panamá ซึ่งเป็นหนึ่งในเหมืองทองแดงที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลังจากถูกศาลสูงสุดสั่งห้าม และการประท้วงในระดับนานาชาติจากความกังวลว่าการผลิตจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs เชื่อว่า ราคาทองแดงมีโอกาสจะพุ่งขึ้นไปแตะ 10,000 ดอลลาร์ในปีนี้ และจะเพิ่มขึ้นไปสูงกว่านั้นในปี 2025
ขณะที่ BMI ประเมินว่า ประเทศที่จะเป็นเหมือนผู้ชนะจากการที่ราคาทองแดงพุ่งขึ้นสูงคือ ชิลี และเปรู โดยทั้งสองประเทศมีสำรองของแร่ธาตุที่เป็นที่ต้องการ อย่างเช่น ลิเธียม และทองแดง ซึ่งจะช่วยหนุนการลงทุนและการส่งออกของประเทศ ปัจจุบันชิลีมีปริมาณสำรองของทองแดงคิดเป็น 21% ของปริมาณสำรองทั่วโลก
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า เมื่อพูดว่าทองแดงส่วนตัวจะนึกถึง 2 ส่วน
- อัตราส่วนระหว่างราคาทองแดงกับราคาทองคำ (Copper/Gold Price Ratio) หากอัตราส่วนนี้สูงจะเป็นตัวชี้วัดว่าเศรษฐกิจดี แต่ถ้าอัตราส่วนนี้ลดลงแรงก็จะสะท้อนว่าเศรษฐกิจแย่ลง
“ทองแดงเป็นวัตถุดิบของหลายอุตสาหกรรม หากภาคการผลิตและอุตสาหกรรมดี จะมีอุปสงค์ต่อทองแดงมากขึ้น”
- หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทองแดงเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น การผลิตแผงวงจร โดยปกติหากราคาทองแดงสูงขึ้นจะกระทบอัตรากำไรของบริษัท แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละบริษัทจะสามารถส่งผ่านต้นทุนได้มากแค่ไหน ซึ่งการส่งผ่านต้นทุนจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วง และสินค้าแต่ละชนิดว่ามีความต้องการมากน้อยเพียงใด และมีการแข่งขันรุนแรงหรือไม่
อ้างอิง: