การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP28 ปิดฉากลงแล้ว หลังจากประชุมกันอย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน – 13 ธันวาคม 2566 ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยการประชุมนั้นยืดเยื้อเกินกำหนดจัดงานที่มีถึงเพียงวันที่ 12 ธันวาคม เนื่องจากหาข้อสรุปในข้อตกลงที่สำคัญไม่ได้ ทำให้ต้องขยายเวลาประชุมถึงวันที่ 13 ธันวาคม ก่อนจะจบลงด้วยการประกาศข้อตกลง Global Stocktake ภายใต้การดำเนินการตาม Paris Agreement โดยมีผู้แทนจากรัฐภาคีที่เข้าร่วมลงนามกว่า 200 คน
ผมอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Global Stocktake กันก่อนครับว่า คืออะไร แล้วมีความเกี่ยวโยงกับการลงทุนที่ต้องคำนึงถึงประเด็น ESG ได้อย่างไร
Global Stocktake เรียกย่อๆ ว่า GST คือ ข้อตกลงของการเริ่มต้นที่นำไปสู่จุดสิ้นสุดของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยจะมีการดำเนินการสำรวจความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งการสำรวจนี้จะนำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศระดับชาติ ภายใต้กลไก ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ หรือ Nationally Determined Contributions (NDCs) ที่ประเทศต่างๆ มีกำหนดยื่นแผนระดับชาติในปี 2568
ขณะที่ในการประชุมครั้งนี้ เน้นพูดคุย 4 ประเด็นสำคัญ คือ
- การจัดการความสูญเสียและเสียหาย ที่เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านกลไกการช่วยเหลือทางการเงินให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้
- การบรรเทาผลกระทบ โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนในอนาคต มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานทดแทน และเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
- การเงินด้านสภาพภูมิอากาศ ที่มีข้อเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมให้ประเทศกำลังพัฒนาใช้ในการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการใช้นวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ
- การปรับตัวรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มุ่งเน้นไปยังการช่วยเหลือชุมชนเปราะบาง ที่ต้องเผชิญผลกระทบจากความเสียหายที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
เป้าหมายสำคัญด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานในครั้งนี้ ได้แก่ การตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บพลังงาน 2 เท่า ภายในปี 2573 นอกจากนี้ ยังเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ 3 เท่า ภายในปี 2593 พร้อมทั้งลด ละ เลิก การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ เร่งลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน ลดก๊าซมีเทน ลดก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการขนส่งทางถนน เป็นต้น
ผมมองว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจากการประชุม COP28 นี้ ไม่ได้เป็นเพียงปรากฏการณ์ที่คาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นบนประเด็นสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมบริบทด้านสังคมและธรรมาภิบาลด้วย เนื่องจากการดำเนินการตามข้อตกลงปารีสให้สำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยหลักธรรมาภิบาล และการคำนึงถึงผลกระทบทางสังคมที่มาจากสิ่งแวดล้อมมาประกอบ
ขณะเดียวกัน การประชุมครั้งนี้ยังสะท้อนโอกาสของการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนได้ชัดเจนขึ้น จากการที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องเร่งลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เร่งพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะแผงโซลาร์เซลล์ และแบตเตอรี่ เพื่อช่วยให้ต้นทุนการใช้พลังงานหมุนเวียนลดลง เพื่อให้ทั้งในระดับประเทศ องค์กร พลเมือง เข้าถึงพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้น รวมทั้งเป็นการลดช่องว่างในการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาด้วย
ด้วยเหตุนี้ ก็จะทำให้เงินลงทุนไหลไปสู่การลงทุนที่ยั่งยืนมากขึ้น เช่น การลงทุนในบริษัทในทุกกลุ่มธุรกิจที่แสดงให้เห็นในรายงานความยั่งยืนได้ว่า กำลังปรับตัวไปสู่การดำเนินธุรกิจที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานของพลังงานหมุนเวียน การดักจับและกักเก็บคาร์บอน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
มาถึงตรงนี้ ผมขอย้ำครับว่า การลงทุนที่ใส่ใจประเด็น ESG ไม่ใช่แค่ ‘ทางเลือก’ อีกต่อไป แต่เป็น ‘ทางรอด’ ของการลงทุน รวมถึงการดำเนินธุรกิจในช่วงต่อจากนี้ เพราะเราเองจะใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่างสงบสุขและมีคุณภาพได้นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราทุกคนสามารถร่วมกันดูแลให้การดำรงอยู่ของประเทศ ขององค์กร ของชีวิตเรา มีส่วนร่วมทำเพื่อโลกที่ยั่งยืนด้วยการปฏิบัติตามแนวทาง ESG ได้มากน้อยแค่ไหน
ฉะนั้น อย่าลืมนะครับว่า ทุกครั้งที่พิจารณาเลือกสินทรัพย์ลงทุน ต้องนำประเด็น ESG เข้าไปพิจารณาด้วย โดยเฉพาะการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็น E ที่มีความเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นสูงครับ และยังเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้โลกเราสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ ดังนั้นก็เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุนระยะยาวครับ
คำเตือน:
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน
- สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 0 2777 7777
อ้างอิง: