สำหรับการประชุม COP27 ในปีนี้ หนึ่งในวาระสำคัญที่หลายคนจับตาคือ บรรดาประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (ไม่นับรวมจีน) จะสามารถผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage Fund) ได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ เนื่องจากในฝั่งของประเทศในกลุ่มเปราะบางและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมมองว่า ประเทศร่ำรวยเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาโลกรวน เนื่องจากมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องมานานหลายปี พวกเขาจึงสมควรที่จะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่มียอดการปล่อยคาร์บอนต่ำกว่ามาก
อย่างไรก็ตาม ประเทศร่ำรวยบางชาติยังคง ‘ดึงเชิง’ พยายามบ่ายเบี่ยงที่จะจัดตั้งกองทุนให้เป็นรูปธรรม บ้างก็อ้างว่าการกำหนดขอบเขตในด้านความสูญเสียและความเสียหายนั้นทำได้ยาก บ้างก็แนะให้จัดสรรประมาณจากกองทุนระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้ว ขณะนักวิเคราะห์บางส่วนระบุว่า การที่ประเทศเหล่านี้รีรอไม่บรรลุข้อตกลงเรื่องกองทุนให้แล้วเสร็จ เป็นเพราะกลัวว่าหากมีการจัดตั้งจริง ก็อาจนำไปสู่การฟ้องร้องของบรรดาประเทศยากจน รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศ ซึ่งเราจะต้องดูกันว่าในการประชุมปีนี้ บรรดาประเทศกลุ่มเปราะบางจะมีความเข้มแข็งมากพอที่จะเรียกร้องให้มีการตั้งกองทุนด้านความสูญเสียและความเสียหายในช่วง 2 สัปดาห์ของการประชุม COP27 ได้สำเร็จหรือไม่
แม้ในที่ประชุมจะยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ว่า ประเทศร่ำรวยควรต้องจ่ายเงินดังกล่าวจริงหรือ แต่เราก็ได้เห็น ‘ประกายความหวัง’ หลังจากที่มีบางประเทศที่ให้คำมั่นแล้วว่า พวกเขาพร้อมสำหรับการสนับสนุนกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหาย ซึ่งถึงแม้จะเป็นเพียงก้าวเล็กๆ แต่ก็ถือเป็นความก้าวหน้าที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยมีมา
สกอตแลนด์
- สกอตแลนด์เป็นประเทศแรกที่เสนอมอบเงินทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหาย ในการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศ COP26 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยให้คำมั่นว่าจะมอบเงิน 2 ล้านปอนด์ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ ดำเนินการตามด้วย
- แม้กลุ่มประเทศเปราะบางจะกล่าวว่า การเสนอมอบเงินแค่ครั้งเดียวนั้นไม่สามารถทดแทนกองทุนระยะยาวได้ แต่ก็มีบางส่วนที่ชื่นชมความเป็นผู้นำของสกอตแลนด์ที่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวก่อนใครเพื่อน
- สำหรับการประชุม COP27 วานนี้ (8 พฤศจิกายน) นิโคลา สเตอร์เจียน นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มเงินอีก 5 ล้านปอนด์ ส่งผลให้ยอดรวมสำหรับเงินทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหายจากสกอตแลนด์อยู่ที่ 7 ล้านปอนด์แล้วในตอนนี้
เดนมาร์ก
- เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เดนมาร์กให้คำมั่นที่จะมอบเงินทุน 100 ล้านโครนเดนมาร์ก (13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อเป็นค่าชดเชยความสูญเสียและความเสียหายจากภาวะโลกรวนให้กับประเทศยากจน โดยจะเน้นมอบเงินให้กับเขตซาเฮล ซึ่งตั้งอยู่ที่ในทวีปแอฟริกาเหนือ และประเทศกลุ่มเปราะบางแห่งอื่นๆ
- เงินจำนวนดังกล่าวจะทำให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีเงินทุนสำหรับวางแผนรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต รวมถึงนำเงินที่ได้มาใช้ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งสร้างผลกระทบต่อทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคม
เยอรมนี
- โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (7 พฤศจิกายน) ณ การประชุม COP27 ว่า เยอรมนีจะมอบเงิน 170 ล้านยูโรให้กับโครงการ Global Shield ซึ่งริเริ่มโดยกลุ่ม G7 และรัฐมนตรีคลังจากกลุ่ม Climate Vulnerable Forum ของประเทศกำลังพัฒนา 58 ประเทศที่กำลังเผชิญกับผลกระทบจากภาวะโลกรวน โดยโครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการใช้เงินทุนในภาคการประกันภัยและการป้องกันภัยพิบัติ
- อย่างไรก็ตาม โชลซ์ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเงินทุนของเยอรมนีจะครอบคลุมในส่วนใดบ้าง หรือจะจัดสรรให้ในช่วงเวลาใด โดยประเทศต่างๆ เตรียมที่จะเปิดตัวโครงการ Global Shield อย่างเป็นทางการในการประชุม COP27 ครั้งนี้
ออสเตรีย
- รัฐบาลออสเตรียให้คำมั่นวานนี้ (8 พฤศจิกายน) ว่า จะมอบเงินทุนอย่างน้อย 50 ล้านยูโร เพื่อช่วยกลุ่มประเทศเปราะบางรับมือกับความสูญเสียและความเสียหายจากสภาพอากาศตลอดช่วง 4 ปีข้างหน้า
- โดยเงินทุนดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนโครงการ Santiago Network ซึ่งเป็นโครงการขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ให้การสนับสนุนด้านเทคนิคแก่ประเทศต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับความเสียหายจากภัยธรรมชาติอันเป็นผลพวงจากภาวะโลกรวน รวมถึงโครงการที่มุ่งเน้นด้านระบบเตือนภัยล่วงหน้า สำหรับประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะเผชิญกับเหตุสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) เช่น คลื่นความร้อน ฝนตกรุนแรง หรือภัยแล้งหนัก
ไอร์แลนด์
- ไมเคิล มาร์ติน นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ ให้คำมั่นมอบเงิน 10 ล้านยูโรแก่โครงการ Global Shield ในปี 2023
เบลเยียม
- เมื่อวันจันทร์ (7 พฤศจิกายน) เบลเยียมให้คำมั่นมอบเงิน 2.5 ล้านยูโรแก่ประเทศโมซัมบิกที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแอฟริกาตั้งแต่ปี 2023-2028 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสนับสนุนด้านสภาพอากาศ จากวงเงินทั้งสิ้น 25 ล้านยูโร
- รัฐบาลระบุว่า เงินทุนดังกล่าวจะมุ่งเน้นไปที่การป้องกันและจำกัดวงของความสูญเสียและความเสียหาย เช่น การกำหนดแผนที่สำหรับพื้นที่เสี่ยงเผชิญคลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surge) รวมถึงระบบเตือนภัยล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศเปราะบางที่กล่าวว่า เงินทุนจากหลายชาติร่ำรวยไม่ใช่เงินด้านความสูญเสียและความเสียหายจากสภาพอากาศอย่างแท้จริง เพราะเงินที่ว่านี้ควรเป็น ‘ค่าชดเชย’ สำหรับประเทศที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอย่างน้อยนี่ถือเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญ ซึ่งอาจนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือประเทศที่เป็นเหยื่อจากโลกรวนได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
แฟ้มภาพ: rafapress Via Shutterstock
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/business/cop/cop27-which-countries-have-offered-loss-damage-funds-2022-11-08/
- https://www.theguardian.com/environment/2022/sep/21/denmark-offers-loss-and-damage-for-climate-breakdown-as-protests-gather-pace
- https://www.euronews.com/green/2022/11/08/cop27-austria-pledges-50m-of-funding-for-loss-and-damage-from-climate-change
- https://us.boell.org/en/2021/12/16/deferred-not-defeated-outcome-loss-and-damage-finance-cop26-and-next-steps#:~:text=In%20the%20early%20days%20of,funding%20specifically%20for%20that%20purpose.