รายงานที่จัดทำร่วมกันโดยรัฐบาลอังกฤษและรัฐบาลอียิปต์ ซึ่งมีการนำเสนอในการประชุม COP27 เปิดเผยว่า เม็ดเงินที่จะใช้สำหรับช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกรวน คาดว่าจะสูงถึง 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030
โดยงบประมาณดังกล่าวจะถูกกระจายไปยังประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั่วโลก เพื่อช่วยให้ชาติต่างๆ ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล พร้อมเพิ่มการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน รวมถึงเทคโนโลยีที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ตลอดจนการนำไปใช้เพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่มีผลพวงมาจากภาวะโลกรวน โดยไม่นับรวมจีน ซึ่งมียอดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน โดยครึ่งหนึ่งจะมาจากการระดมทุนช่วยเหลือจากภายนอกประเทศ รวมถึงธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งต่างๆ ส่วนที่เหลือนั้นจะมาจากภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศเหล่านั้นเอง ซึ่งปัจจุบันยอดเงินดังกล่าวอยู่ที่เพียง 500 ล้านดอลลาร์ ยังห่างไกลจากตัวเลขของรายงานฉบับนี้อย่างมาก
รายงานแนะนำว่า ยอดเงินที่ควรเพิ่มขึ้นมากที่สุดนั้นควรมาจากภาคเอกชนทั้งในและนอกประเทศ ขณะที่ยอดเงินประจำปีจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งต่างๆ ควรเพิ่มขึ้นกว่าเดิม 3 เท่า รวมถึงอาจยกระดับความช่วยเหลือในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Loan) เพิ่มเติมด้วย
วีรา ซอนเกว หนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับนี้ระบุว่า การปลดล็อกเงินทุนด้านสภาพอากาศถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาของประเทศต่างๆ ได้ โดยผู้แทนที่เข้าร่วมประชุม COP27 เตรียมที่จะหารือเกี่ยวกับประเด็นการเงินที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาสภาพอากาศในวันพรุ่งนี้ (9 พฤศจิกายน) ซึ่งต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นหรือไม่
แฟ้มภาพ: Piyaset Via Shutterstock
อ้างอิง: