×

การประชุมภาวะโลกร้อนได้ข้อสรุป หวังจำกัดอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาฯ

16.12.2018
  • LOADING...

หลังจากประชุมยืดเยื้อเกือบ 1 วัน ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปแล้วสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 24 หรือ Conference of the Parties (COP) ซึ่งเป็นการเจรจาระหว่างผู้นำประเทศจากกว่า 196 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ณ เมืองคาโตวีตเซ สาธารณรัฐโปแลนด์ ระหว่างวันที่ 2-15 ธันวาคม 2018

 

การประชุม COP24 ถือเป็นการประชุมภาวะโลกร้อนที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่ที่ได้มีการลงนามในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2015 โดยวาระสำคัญคือการคลอดกฎกติกาใหม่เพื่อให้ทุกประเทศนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งมีเป้าหมายคือจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยปีนี้เป็นปีสุดท้ายในการจัดทำแนวทางปฏิบัติ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี 2020

“มันเป็นเส้นทางที่ยาวไกล แต่เราจะทำให้ดีที่สุดโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การทำให้ทุกประเทศมีส่วนร่วมต่อความตกลงปารีสคือความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่” มิคาล คูร์ไทกา ประธานการประชุม COP24 กล่าว

 



 

ประเด็นที่ถกกันมากที่สุดในการประชุมครั้งนี้คือการจัดทำ Paris Rulebook (Katowice Rulebook) หนากว่า 156 หน้า ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สำหรับลดก๊าซเรือนกระจกตามความตกลงปารีสเพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละประเทศใช้ปฏิบัติ

 

ฟังดูเหมือนง่าย แต่การนำไปปฏิบัตินั้นยากมาก มีรายละเอียดเชิงเทคนิคมากมาย เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา (หรือประเทศที่ยากจน ประสบภัยพิบัติ) มีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศที่ยากจนต้องการ ‘ความยืดหยุ่น’ ที่ต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

 

ในที่สุดก็ได้หลักเกณฑ์ใหม่ซึ่งอนุญาตให้มีกฎที่แตกต่างกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา นั่นคือประเทศที่กำลังพัฒนาจะได้รับการสนับสนุนเงินทุนและมีกลไกติดตามผลที่ยืดหยุ่นกว่า

 

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และคูเวต ไม่ยอมรับผลการรายงานจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) แต่ให้ลงบันทึกไว้ท้ายรายงานเป็นข้อสังเกตเท่านั้น ซึ่งสร้างความผิดหวังอย่างมากให้กับบรรดานักวิทยาศาสตร์

 

การประชุมครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางความไม่ลงรอยในจุดยืนต่อปัญหาโลกร้อนของประเทศมหาอำนาจโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลกที่ประกาศย้ำอีกครั้งบนเวทีซัมมิต G20 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปว่า รัฐบาลจะถอนตัวจากความตกลงปารีสที่จัดทำเมื่อปี 2015 รวมถึงพันธกิจทั้งหมดที่ให้ไว้เกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงานจากฟอสซิล ขณะที่จีนซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซมลพิษมากที่สุดในโลกยืนยันว่าจะปฏิบัติตามกรอบความตกลงปารีส โดยถือเป็นวาระสำคัญระดับชาติ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X