×

ที่ประชุม COP15 บรรลุข้อตกลงว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพครั้งประวัติศาสตร์ สำคัญอย่างไรต่อโลกใบนี้?

20.12.2022
  • LOADING...

วานนี้ (19 ธันวาคม) เสียงปรบมือได้ดังกึกก้องกลางที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ COP15 ในเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา หลังนานาชาติร่วมบรรลุข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์ที่มุ่งป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศบนโลกของเรามายาวนาน

 

THE STANDARD ขอเรียบเรียงสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมสรุปสาระสำคัญจากข้อตกลงประวัติศาสตร์ที่ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) ถึงกับยกย่องว่า นี่คือ ‘สนธิสัญญาสันติภาพที่มนุษย์ลงนามร่วมกับธรรมชาติ’

 

เกิดอะไรขึ้นในการประชุม COP15?

 

  • เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (18 ธันวาคม) ที่ประชุม COP15 ได้เปิดการประชุมพิเศษขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับข้อตกลงในการปกป้องระบบนิเวศของโลกซึ่งมีชื่อว่า Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework โดยมีจีนและแคนาดาเป็นเจ้าภาพ ซึ่งประเทศต่างๆ ได้สนทนากันอย่างเข้มข้นเป็นเวลากว่า 7 ชั่วโมง และในที่สุด ณ เวลาประมาณ 03.30 น. ของวันจันทร์ (19 ธันวาคม) ตามเวลาท้องถิ่น ก็มีข่าวดีว่าประเทศต่างๆ ได้บรรลุข้อตกลงดังกล่าวแล้ว

 

  • หลังผ่านการเจรจาอย่างเข้มข้นมาตลอด 4 ปี (เพราะถูกเลื่อนไปหลายครั้งจากเหตุโควิดระบาด) ในที่สุดประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่า 190 ชาติก็ได้เห็นพ้องที่จะร่วมกันสนับสนุนข้อตกลงฉบับนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องผืนดิน มหาสมุทร และสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ให้พ้นจากปัญหามลพิษ ความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติ รวมถึงวิกฤตโลกรวน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นฝีมือของมนุษย์ที่เราทุกคนมีส่วนต้องรับผิดชอบ

 

  • การประชุมในเมืองมอนทรีออลถูกมองว่าเป็น ‘โอกาสสุดท้าย’ ของหนทางสู่การฟื้นฟูธรรมชาติ โดย สตีเวน กิลโบลต์ (Steven Guilbeault) รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของแคนาดา กล่าวว่า COP15 เป็นการประชุมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดเท่าที่เคยจัดมา พร้อมระบุว่า การบรรลุข้อตกลงในครั้งนี้ถือเป็น ‘ก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์’ ไม่ต่างกับการจัดทำความตกลงปารีสในปี 2015 ที่ทั่วโลกเห็นพ้องกันในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส

 

  • ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เข้าขั้นวิกฤต ทั้งจำนวนแมลงที่ลดลง ปรากฏการณ์ทะเลกรด มหาสมุทรที่เต็มไปด้วยขยะพลาสติก และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่บนโลกแบบเกินพิกัด ผู้เชี่ยวชาญมองว่าหากข้อตกลงนี้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อภาคการเกษตร ห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ และบทบาทของชุมชนพื้นเมืองในการอนุรักษ์ธรรมชาติ

 

ข้อตกลงว่าอย่างไร

 

  • รากฐานสำคัญของข้อตกลงนี้คือเป้าหมาย ‘30×30’ โดยนานาประเทศให้คำมั่นที่จะปกป้องและอนุรักษ์ผืนดิน 30% และทะเล 30% ทั่วโลกภายในปี 2030 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่โลกให้คำมั่นว่าจะปกป้องผืนดิน 17% และทะเล 7% แม้จะมีเสียงคัดค้านจากบางประเทศเกี่ยวกับเป้าหมายการอนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลก็ตาม

 

  • ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า เป้าหมายที่ระดับ 30% นี้ยังถือว่าต่ำมาก และควรเพิ่มให้ถึงระดับ 50% เพื่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติในระยะยาว โดยข้อมูลจาก Greenpeace ระบุว่า ปัจจุบันเหลือผืนป่าบนโลกเพียงแค่ 15% และมหาสมุทรเพียง 3% เท่านั้นที่ยังไม่ถูกมนุษย์เข้าไปตักตวงทรัพยากร

 

  • สิทธิชนพื้นเมืองเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงในข้อตกลงนี้ โดยนานาชาติจะต้องร่วมกันปกป้องสิทธิชนพื้นเมืองและให้การดูแลผืนดินที่พวกเขาอยู่อาศัย พร้อมต้องรับประกันว่าชนพื้นเมืองจะไม่ถูกลิดรอนสิทธิหรือถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ใดๆ

 

  • ทั้งนี้ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นระบุว่า ชนพื้นเมืองเป็นผู้พิทักษ์ธรรมชาติที่ดีที่สุด เพราะถึงแม้พวกเขาจะมีสัดส่วนเพียง 5% ของประชากรโลก แต่กลับสามารถปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพของโลกไว้ได้ถึง 80%

 

  • ส่วนในแง่ของเงินทุนนั้น ข้อตกลงดังกล่าวระบุว่า ประเทศร่ำรวยควรรับหน้าที่จัดหาเงินทุนอย่างน้อย 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2025 และอย่างน้อย 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี 2030 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเม็ดเงินช่วยเหลือด้านความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบัน 2-3 เท่าตัว

 

  • นอกจากนี้ข้อตกลงยังระบุประเด็นเกี่ยวกับการลดการใช้ยาฆ่าแมลงด้วย โดยสาระสำคัญคือ ‘การลดความเสี่ยงโดยรวมจากยาฆ่าแมลงและสารเคมีอันตรายสูงลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจากระดับปัจจุบัน’ ซึ่งในประเด็นนี้ผู้แทนจากบางประเทศแย้งว่าควรเน้นที่การลด ‘การใช้’ สารกำจัดศัตรูพืชโดยรวม เพราะจะสามารถวัดผลได้ง่ายกว่า แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า ยาฆ่าแมลงบางชนิดมีฤทธิ์รุนแรงสูงแม้จะใช้ในปริมาณเพียงน้อยนิด ฉะนั้นการเน้นที่ ‘ความเสี่ยง’ จึงถือว่าเหมาะสมแล้ว

 

  • ข้อตกลงนี้เรียกร้องให้ผู้คนต้องได้รับประโยชน์จาก ‘ทรัพยากรพันธุกรรม’ (Genetic Resources) ที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น สินทรัพย์ทางธรรมชาติบางอย่าง อาทิ สารประกอบจากพืชที่ใช้เป็นส่วนผสมในยาหรือเครื่องสำอางบางประเภท อาจมีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศกำลังพัฒนา แต่หลังจากนั้นก็ถูกประเทศที่พัฒนาแล้วนำไปวิเคราะห์เป็นข้อมูลลำดับดิจิทัล (DSI) โดยข้อตกลงระบุว่า ทุกฝ่ายจะต้อง “รับรองการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรมและเท่าเทียมจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม และจากข้อมูล DSI รวมถึงองค์ความรู้ของชุมชนท้องถิ่น (Traditional Knowledge) ที่เกี่ยวข้อง”

 

  • แม้ในการประชุมครั้งนี้จะมีความวิตกกังวลเรื่องประเด็นการฟอกเขียวในกลุ่มธุรกิจ แต่ผู้แทนจากหลายประเทศและผู้สังเกตการณ์จากหลายองค์กรกล่าวว่า ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในเชิงบวกอย่างมากหากมองย้อนกลับไปในการประชุม COP25

 

  • อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ปัจจุบันโลกของเรายังขาดการออกคำสั่งที่เด็ดขาดในการให้ภาคธุรกิจประเมินและรายงานผลกระทบที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยเหตุนี้ กรอบการทำงาน Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework จึงเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเปิดเผยความเสี่ยงและผลกระทบที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อพลิกโฉมแนวปฏิบัติของธุรกิจในอนาคต

 

เสียงจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย

 

  • อย่างไรก็ตาม กว่าที่จะเกิดความสำเร็จในการประชุม COP15 ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 7-19 ธันวาคม ก็มีหลายครั้งที่นานาชาติเกิดข้อถกเถียงกันในรายละเอียดที่เกือบทำให้ดีลล่ม

 

  • ในชั่วโมงท้ายๆ ของการเจรจาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ได้แสดงจุดยืนคัดค้าน โดยกล่าวว่าคองโกขอปฏิเสธที่จะสนับสนุนข้อตกลงนี้ เพราะไม่ได้มีการจัดตั้งกองทุนใหม่เพื่อแก้ปัญหาด้านความหลากหลายทางชีวภาพให้แยกออกไปจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) ของ UN อย่างเป็นเอกเทศ โดยปัจจุบัน บราซิล อินโดนีเซีย อินเดีย และเม็กซิโก เป็นผู้รับเงินทุนจาก GEF รายใหญ่ที่สุด และประเทศในแอฟริกาบางประเทศต้องการเงินมากกว่านี้เพื่อนำไปใช้ในการอนุรักษ์แผ่นดินของตนเอง

 

  • อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด หวงยุ่นฉิว (Huang Runqiu) รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของจีน และประธานการประชุม COP15 ก็ได้เคาะค้อนในที่ประชุม อันเป็นการส่งสัญญาณชี้ขาดว่าความคิดเห็นของประเทศส่วนใหญ่เป็นที่สิ้นสุดแล้ว

 

  • แต่ถึงเช่นนั้นผู้แทนจากแคเมอรูน ยูกันดา และคองโก ต่างแสดงข้อกังขาว่าเหตุใดประธาน COP15 จากจีนถึงผ่านข้อตกลงดังกล่าว โดยคองโกกล่าวว่าประเทศของตนได้แสดงการคัดค้านอย่างเป็นทางการ แต่ทนายของ UN กล่าวยืนยันว่าการตัดสินดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้อง ขณะที่ผู้แทนจากแคเมอรูนโจมตีว่านี่เป็น ‘การฉ้อโกง’ ส่วนยูกันดากล่าวว่าการประชุม COP15 ‘ถูกยึดอำนาจไปแล้ว’

 

  • ด้านผู้เชี่ยวชาญบางส่วนได้แสดงความผิดหวังที่ข้อตกลงนี้ไม่มีการออกข้อบังคับให้บริษัทต่างๆ ติดตามและเปิดเผยผลกระทบของธุรกิจที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดย เอวา ซาเบย์ (Eva Zabey) กรรมการบริหารของ Business for Nature มองว่า การกระตุ้นเตือนให้บริษัทต่างๆ ดำเนินการดังกล่าว ‘ตามความสมัครใจ’ ไม่เพียงพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

 

  • นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญยังผิดหวังที่ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่มีการจัดการกับภาคส่วนที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศในวงกว้าง เนื่องจากไม่มีการออกข้อเรียกร้องไปยังภาคอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมสูงอย่างเจาะจง เช่น การประมงเชิงพาณิชย์และการเกษตร หรือกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อให้การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหัวใจหลักที่ทุกอุตสาหกรรมจะต้องคำนึงถึง

 

แม้ข้อตกลงนี้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ประเทศต่างๆ ก็มีหน้าที่ที่จะต้องแสดงความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้โลกเห็น ซึ่งเราหวังว่าภายใต้กรอบการทำงานใหม่นี้ นานาชาติจะลงมือลงแรงให้บรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพราะนี่คือภารกิจปกป้องระบบนิเวศที่คนทั้งโลกต้องร่วมมือกัน

 

แฟ้มภาพ: Yu Ruidong / China News Service / VCG via Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising