หุ้นกู้แปลงสภาพที่ออกโดยบริษัทมหาชน จะเป็นจุดจบของตลาดคริปโตในรอบนี้ และครั้งนี้จะส่งผลกระทบไม่ใช่แค่ในตลาดคริปโตแต่จะส่งผลกระทบลงไปถึงตลาดหุ้น และสถาบันทางการเงิน เอ๊ะ..มันยังไง?
การออกหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Note) เพื่อใช้ในการซื้อคริปโต เริ่มเป็นเทรนด์ที่เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก เริ่มจาก MicroStrategy ที่ระดมทุนในการซื้อ Bitcoin จนมาถึง Sharplink ที่ใช้ท่าเดียวกันในการซื้อ Ethereum ไปมากกว่า 350,000 ETH มูลค่าเกินกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์
และการออกหุ้นกู้เพื่อถือครองคริปโตเหล่านี้ ทำให้บริษัทต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็น zombie company หรือเป็นบริษัทที่ไม่มีกำไร ขาดความสามารถในการเติบโต มีราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นสูงขึ้นกว่า 50-200 เท่า จน MicroStrategy สามารถเข้า Nasdaq 100 และมีแนวโน้มสูงมากในการที่จะได้เข้า S&P 500 จนตอนนี้เรายิ่งเห็นบริษัทที่จะทำสิ่งนี้ มากขึ้น มากขึ้นเรื่อยๆ
หุ้นกู้แปลงสภาพคืออะไร
เมื่อบริษัทมหาชน ต้องการกู้เงินจากประชาชน หรือสถาบันต่างๆ สามารถทำได้โดยการออกหุ้นกู้ ซึ่งหุ้นกู้จริงๆ ก็คือหนี้ แต่หุ้นกู้แปลงสภาพหรือ CN มีลักษณะพิเศษเพิ่มเติม คือเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ แปลงหนี้เป็นหุ้นได้ เมื่อราคาหุ้นขึ้นถึงจุดจุดหนึ่ง
สำหรับผู้ให้กู้ มีแต่ได้ กับได้?
ในมุมมองของผู้ให้กู้ สมมติว่าหุ้นปัจจุบันราคา 10 บาท แปลงสภาพได้ที่ 15 บาท ดอกเบี้ย 0.5% 4 ปี นั่นแปลว่าถ้าใน 4 ปี ราคาของหุ้นไม่ถึง 15 บาท ผู้ให้กู้มีสิทธิ์รับเงินคืนเต็มจำนวนบวกดอกเบี้ย (เหมือนให้บริษัทกู้เงินปกติ) แต่ถ้าราคาหุ้นของบริษัทขึ้นไปสูงกว่า 15 บาท เช่น 20 บาท ผู้ให้กู้มีสิทธิ์เปลี่ยนหนี้เป็นหุ้นของบริษัทที่ราคา 15 บาท และได้ capital gain หรือกำไรจากราคาหุ้น
ปัญหาคือ บริษัทส่วนใหญ่ที่ออกหุ้นกู้แปลงสภาพอาจจะไม่สามารถคืนหุ้นกู้ได้
เงินที่บริษัทได้จากการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ จะถูกนำไปใช้ในการซื้อคริปโต ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin, Ethereum, BNB ซึ่งถ้าเหรียญเหล่านี้มูลค่าเพิ่มขึ้นก็ไม่มีปัญหาอะไร ก็จะสามารถระดมทุนต่อไปได้เรื่อยๆ แต่ถ้าเหรียญเหล่านี้ราคาลดลง บริษัทจะขาดทุนจากการขายเหรียญ (คล้ายๆ การกู้ margin เพื่อเอาเงินมาซื้อคริปโต) และเนื่องจากบริษัทเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ไม่มีกำไรจากการทำธุรกิจ จะทำให้บริษัทจะไม่มีความสามารถในการชำระหนี้คืนได้
ทุกบริษัทจะต้องเทคริปโตออกมา เพื่อชำระหนี้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของหายนะ
เมื่อต้องชำระหุ้นกู้ บางบริษัทที่เคยซื้อคริปโตมาก่อน และมีกำไร ก็จะต้องขายคริปโตของตัวเองเพื่อชำระหนี้ และเมื่อมีบริษัทนึงขาย ราคาก็จะเริ่มลง ก็จะทำให้บริษัทอื่น ๆ ก็จะต้องขายตามมาเป็นโดมิโน สุดท้ายเราจะเห็นการ Crash ของราคาอย่างรุนแรง
รอบนี้จะกว้าง และรุนแรง
การล้มลงของตลาดคริปโตในรอบที่แล้ว เริ่มต้นจาก Luna จนไปถึง การล้มลงของ FTX กระดานเทรดคริปโตอันดับสองของโลก จำกัดความเสียหายอยู่ในกลุ่มของนักลงทุนคริปโต
แต่รอบนี้ผลกระทบจะเป็นวงกว้างและรุนแรง เพราะถ้าบริษัทมหาชนไม่สามารถจ่ายหุ้นกู้คืนได้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบแรกคือผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ที่มูลค่าจะลดลงอย่างรุนแรง รวมไปถึงผู้ซื้อหุ้นกู้ที่มีทั้งกองทุน สถาบันการเงิน และธุรกิจประกันภัยอย่าง Allianz Global
มากกว่านั้น ในปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปสามารถให้บริการคริปโตได้ รวมถึงมีการนำคริปโตไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งการล้มลงของตลาดคริปโตรอบนี้ อาจจะสร้างความเสียหายลงไปถึงระบบ และสถาบันทางการเงินแบบดั้งเดิมด้วย
ผมไม่ได้บอกว่ามันจะเกิดเร็วๆ นี้ เพราะเรา ‘อาจจะ’ กำลังอยู่ในช่วงก่อตัวของ bubble
ทั้งหมดนี้อาจจะฟังดูน่ากลัว แต่ถ้าเราสังเกตตอนนี้ เรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของเหตุการณ์ ตอนนี้เรายังเห็นบริษัทจำนวนมากพยายามทำสิ่งนี้ โดยเริ่มจากเหรียญใหญ่ๆ อย่าง Bitcoin จนเริ่มมีโมเดลในการทำในเหรียญที่เล็กกว่าลงมาบ้างแล้ว
การที่มีเพิ่มขึ้นของบริษัทเหล่านี้ทั่วโลก เป็นการดูดเอาเงินจากตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก เข้าสู่ตลาดคริปโต และอาจจะทำให้ราคาวิ่งขึ้นไปได้รุนแรงขึ้นไปอีก เพราะหลายๆ ครั้ง bubble ก็ทำให้คนที่ไม่โลภ และรู้จักพอ สามารถคว้ากำไรจากตลาดไปได้มหาศาลเหมือนกัน
หมายเหตุ:
- บทความนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น มิใช่คำแนะนำทางการเงิน (Not Financial Advice) ผู้อ่านควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และพิจารณาความเสี่ยงด้วยตนเองก่อนตัดสินใจลงทุน การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ราคาสามารถผันผวนอย่างรุนแรง และอาจทำให้สูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดได้ ผู้ลงทุนควรใช้ดุลยพินิจและบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
ภาพ: Candido Ferreira / Getty Images