โควิด-19 กลายเป็นตัวเร่งกระตุ้นให้ผู้บริโภคในตลาดต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งรวมถึงการใช้งานอุปกรณ์และการสื่อสารต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The Korea Herald ของเกาหลีใต้เขียนบทความพิเศษ ที่แสดงให้เห็นบทบาทสำคัญของ ‘เทคโนโลยีไร้สัมผัส’ (Contactless Technology) ที่เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กลายเป็นชนวนเร่งให้ผู้คนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งจะช่วยสกัดกั้นการแพร่ระบาด
ทั้งนี้ หนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้คนในสังคมที่แม้จะเว้นระยะห่างแต่ก็ยังสามารถดำรงชีวิตร่วมกันได้ ก็คือการพึ่งพาโลกออนไลน์และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ในการพูดคุยติดต่อสื่อสาร ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในเกาหลีใต้ขณะนี้ก็คือแวดวงการศึกษาในทุกระดับชั้น ที่หันหน้าเข้าหาการเรียนออนไลน์กันมากขึ้น
แม้ในช่วงแรกที่ปรับมาเรียนออนไลน์จะมีปัญหาร้องเรียน และข้อติดขัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในเชิงเทคนิคหรืออุปกรณ์ แต่ทั้งนักเรียนและครูผู้สอนต่างเห็นตรงกันว่า หากเริ่มคุ้นเคยแล้ว ครูและนักเรียนก็สามารถสนุกกับห้องเรียนออนไลน์ได้ไม่ยาก
สำหรับพระเอกในกลุ่ม Contactless Techology ตัวต่อมาที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ Zoom หนึ่งในแพลตฟอร์มวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยปีที่ผ่านมามีการเติบโตของผู้ใช้งานอย่างรวดเร็ว เฉพาะในเกาหลีใต้ก็มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ต้นปีที่ 30,000 คน มาอยู่ที่ 7 ล้านคนในช่วงปลายปี
นอกจากนี้ บทบาทของเทคโนโลยีไร้สัมผัสยังมีผลต่อตลาดแรงงานที่บรรดานายจ้างต่างสัมภาษณ์งานผ่านระบบวิดีโอและ AI กันมากขึ้น
ขณะเดียวกันเทคโนโลยีไร้สัมผัสยังกลายเป็นช่องทางเข้าถึงคอนเทนต์บันเทิงและเกมต่างๆ ตลอดจนการทำงานอยู่กับบ้าน หรือ Work from Home และการรักษาสายสัมพันธ์ของคนในสังคมในทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทคโนโลยีไร้สัมผัสจะทำให้การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตในยุคโควิด-19 เป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งก็แสดงความเห็นว่า สุดท้ายแล้วเทคโนโลยีไร้สัมผัสก็ไม่อาจแทนที่สัมพันธภาพและการสื่อสารแบบพบปะเผชิญหน้าของมนุษย์ได้
โดย Lee Kwang-suk ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาดิจิทัลและนโยบายวัฒนธรรมแห่งมหาวิทยาลัย Seoul National University of Science and Technology กล่าวว่า ข้อเสียอีกประการหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีไร้สัมผัสเหล่านี้ก็คือ หากใช้มากเกินไป ร่างกายจะเกิดอาการต่อต้านเพราะเหนื่อยล้าได้
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: