×

สภาองค์กรผู้บริโภคชี้ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยแพงที่สุดในโลก เสนอราคาทั้งระบบไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ

04.03.2021
  • LOADING...
สภาองค์กรผู้บริโภคชี้ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยแพงที่สุดในโลก เสนอราคาทั้งระบบไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ

วันนี้ (4 มีนาคม) ที่ทำการพรรคภูมิใจไทยมีการเสวนาหัวข้อ ‘ชำแหละค่ารถไฟฟ้าที่เหมาะสม’ โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ประเด็นค่าโดยสารรถไฟฟ้ากลับมาได้รับความสนใจ เมื่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกประกาศเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ปรับเพิ่มราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) จากสถานีคูคต-สมุทรปราการ เป็น 104 บาทตลอดสาย ซึ่งเดิมทีจะมีผลบังคับใช้วันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หลังถูกกระแสวิจารณ์และกดดันอย่างหนัก ทำให้ทาง กทม. ได้ออกประกาศอีกฉบับเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้เลื่อนการขึ้นค่าโดยสารไปก่อน

 

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส. จังหวัดศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ค่ารถไฟฟ้าไม่ใช่แค่เรื่องของคนกรุงเทพฯ แต่คนต่างจังหวัดที่มาอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 50% ที่ต้องแบกรับภาระค่าโดยสาร ทั้งที่รถไฟฟ้าควรเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่คนทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงได้ แต่หาก กทม. จะขึ้นค่าโดยสารเป็น 104 บาท รถไฟฟ้าจะกลายเป็นระบบขนส่งที่คนมีเงินถึงจะใช้บริการได้ จึงเป็นที่มาให้พรรคภูมิใจไทยไปยื่นศาลปกครอง

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยยกคำร้องไปก่อน เพราะเห็นว่า กทม. ได้ประกาศเลื่อนการขึ้นค่าโดยสารไปก่อนแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม มีโอกาสที่ทาง กทม. จะขึ้นราคาอีกครั้ง เพราะประกาศล่าสุดเป็นการประกาศเลื่อน ไม่ใช่ประกาศยกเลิก โดยหากจะขึ้นราคาอีก พรรคภูมิใจไทยก็จะไปร้องศาลปกครองอีกครั้ง

 

ค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยแพง และแพงที่สุดในโลก 

ในวงเสวนาชำแหละค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เหมาะสม วิทยากรและผู้ร่วมเสวนาทุกคนเห็นตรงกันหมดว่าราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยแพง 

 

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยแพงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ และราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้าในเมืองใหญ่ๆ ก็ถือว่าแพง 

 

ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวเสริมว่า ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยแพงที่สุดในโลกเพราะเทียบเป็น 26-28% ของค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่ต่างประเทศเฉลี่ย 3-5% ของค่าแรงขั้นต่ำ

 

ด้าน กิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า การคิดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งโลกมี 3 แบบ แบบแรกคือราคาเดียวตลอดสาย แบบที่ 2 คือเก็บตามระยะทาง และแบบที่ 3 คือเก็บตามโซนพื้นที่ เช่น ประเทศยุโรปถ้าเข้าในกลางเมืองจะราคาสูงกว่านอกเมือง

 

สำหรับประเทศไทยใช้แบบคิดตามระยะทาง แต่มีลักษณะของการแลกเข้า ปัจจุบันค่าแรกเข้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประมาณ 14 บาท แต่ปลายทางแล้วจะไม่เกิน 42-44 บาท 

 

กิตติพันธ์กล่าวต่อไปว่า หนึ่งในสาเหตุที่ประเทศไทยค่าโดยสารยังแพงอยู่มาก เพราะจริงๆ เราต้องมีการเก็บค่าพัฒนาพื้นที่รอบสถานี รวมทั้งร้านค้าและกิจการบนสถานีมาร่วมชดเชยค่าโดยสาร แต่ประเทศไทยยังห่างไกลจากจุดนั้นพอสมควร

 

สภาองค์กรผู้บริโภคเสนอ ค่ารถไฟฟ้าไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ

ด้านสารีกล่าวว่า เรามีกฎหมายการตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ซึ่งกฎหมายเขียนระบุให้องค์กรทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้บริโภค ซึ่งราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าตอนนี้ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคเลย คนเงินเดือน 15,000 บาทใช้ไม่ได้ ตอนนี้รถไฟฟ้ามีเพิ่มหลายสายมากขึ้น เป็นไปไม่ได้ที่คนทุกคนจะมีบ้านในแนวแนวรถไฟฟ้าสีเดียวกัน 

 

ดังนั้นต้องกำหนดอัตราสูงสุดของค่าโดยสาร โดยค่ารถไฟฟ้าทั้งระบบควรไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ และเราไม่ควรยึดดัชนีผู้บริโภคในการขึ้นราคาซึ่งขึ้นทุกปี แต่ควรยึดจากดัชนีค่าแรงขั้นต่ำของผู้บริโภค เพราะรถไฟฟ้าควรเป็นการขนส่งมวลชนหลัก ไม่ใช่ขนส่งมวลชนทางเลือก ดังนั้นคนที่มีค่าแรงถูกที่สุดในสังคมก็ควรใช้บริการได้

 

“ที่ผ่านมาเรายึดค่าโดยสารจากรายได้ในครัวเรือน ซึ่งมันไม่ถูกต้อง เพราะทุกคนในครัวเรือนควรมีสิทธิ์ขึ้นรถไฟฟ้าทุกคน ไม่ใช่ครัวเรือนหนึ่งสมมติมี 3 คน สามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้แค่ 1 คน” สารีกล่าว

 

สารียังย้ำอีกว่า เราต้องทบทวนวิธีคิดใหม่ เป้าหมายหลักที่ควรกำหนดคือ ค่ารถไฟฟ้าไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเอกชนไปคำนวณมาเลยว่าถ้าคิดในราคานี้จะต้องใช้เวลาสัมปทานกี่ปี ขณะที่ผ่านมาการประมูลสัมปทานไม่เคยมีการคำนึงเลยว่าเอกชนรายใดจะให้ราคากับผู้โดยสารต่ำสุด มีแต่คำนึงว่ารายใดจะให้ผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด

 

“ตอนคุณสร้างเราทุกข์มาก รถติด เรารับขี้ฝุ่น แต่พอสร้างเสร็จแล้วเราได้แค่ยืนมองเฉยๆ เพราะขึ้นไม่ได้” สารีกล่าว

 

ด้าน ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นระบบที่ลงทุนไปแล้ว โดยช่วงนี้เป็นช่วงเก็บเกี่ยว ดังนั้นเมื่อใกล้หมดสัญญาสัมปทานแล้วก็เป็นโอกาสที่ดี ซึ่งรัฐจะมีโอกาสได้เอาทรัพยากรนี้กลับมาเป็นของรัฐอีกครั้ง และบริหารจัดการในเรื่องราคาใหม่ทั้งระบบ ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียวถือเป็นกระดูกสันหลังของ กทม. เพราะผ่านเส้นสุขุมวิท เราควรจะนำรายได้และกำไรจากเส้นนี้มาเฉลี่ยชดเชยกับราคารถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ เพื่อให้ราคาค่าโดยสารทั้งระบบถูกลง

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X