มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทำสถิติสูงสุดในรอบ 8 เดือน หลังคนไทยมองเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยวดีขึ้น แต่ยังกังวลปัญหาค่าครองชีพ สงคราม และน้ำท่วม
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) ในเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 44.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 43.7 โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์ฯ ระบุว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนของรัฐบาล ประกอบด้วยโครงการคนละครึ่งเฟส 5, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรคนจน หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ยังผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางระหว่างประเทศ และยกเลิกระบบ Thailand Pass สำหรับคนไทยและชาวต่างชาติ พร้อมทั้งปรับระดับพื้นที่สถานการณ์เป็นระดับเฝ้าระวังสีเขียวทั้งประเทศ ตลอดจนมาตรการใส่หน้ากากอนามัยให้เป็นความสมัครใจ เพื่อประชาชนและผู้ประกอบการได้ใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ
โดยปัจจัยเหล่านี้ส่งผลเชิงบวกต่อการท่องเที่ยว ตลอดจนภาคธุรกิจและภาคบริการต่างๆ ของไทย ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวดีขึ้น การส่งออกและราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วงเดือนกันยายนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบ 8 เดือน
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับการที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ในเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 38.6, 41.9 และ 53.3 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ในระดับ 37.8, 40.9 และ 52.3 ตามลำดับ แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวขึ้น
แต่การที่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนยังคงกังวลในสถานการณ์โควิดในไทยและทั่วโลกที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะคลายตัวลงก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต และทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
“เรายังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพราะผู้บริโภคยังวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำท่วม สงครามรัสเซีย-ยูเครน เงินเฟ้อ และเศรษฐกิจถดถอย หากความเชื่อมั่นยังฟื้นต่อเนื่องในไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยในปีนี้ก็น่าจะเติบโตได้ที่ 3.0-3.5%” ธนวรรธน์กล่าว