ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างปี 2566 คาดเติบโตได้จำกัด โดยเฉพาะ SMEs ที่กำลังเผชิญการแข่งขันจากการขยายสาขาของกลุ่ม Modern Trade เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด ส่งผลให้ SMEs ในธุรกิจกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้เล่นรายใหญ่
ผู้ประกอบการวัสดุก่อสร้างเร่งปรับตัว ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างปี 2566 อาจเติบโตได้จำกัด โดยคาดว่ายอดขายรวมของธุรกิจกลุ่มนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท ขยายตัวที่ 1.8% (YoY) ซึ่งน้อยลงกว่าปีก่อน สาเหตุเป็นเพราะอะไร? โพสต์นี้จะมาเล่าถึงที่มาที่ไปกัน
มูลค่าการลงทุนในโครงการก่อสร้างโดยรวมลดลง ทั้งส่วนของภาครัฐบางโครงการที่น่าจะถูกเลื่อนออกไป เพราะความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2567
ส่วนของภาคเอกชนโครงการก่อสร้างอสังหาฯ เชิงพาณิชย์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าน่าจะยังสามารถเดินหน้าต่อได้ แต่โครงการที่พักอาศัยยังคงต้องระมัดระวัง ท่ามกลางสภาพตลาดที่ยังมีความกังวลด้านกำลังซื้อและปัญหาหนี้ครัวเรือน
กำลังซื้อที่ยังเปราะบางจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มที่จะเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงมากขึ้นเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด เนื่องจากภาพรวมของธุรกิจนั้นมีผู้ประกอบการจำนวนมาก ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) และกลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป (Traditional Trade) ซึ่งกระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ จากข้อจำกัดด้านการขนส่ง ทำให้ยังไม่มีผู้เล่นรายใดรายหนึ่งครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ได้ ส่งผลให้ตลาดมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะด้านราคา เพราะสินค้ามีความแตกต่างน้อยและใกล้เคียงกัน
ดังนั้น ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างจึงมีการปรับกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าให้ได้มากขึ้น เช่น การขยายสาขาในทำเลศักยภาพ (Prime Location) ตามการขยายตัวของเมืองที่มีโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยและโครงการเชิงพาณิชย์ต่างๆ, การจัดหาสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับบ้านแบบครบวงจรในหลากหลายช่วงราคา, รวมถึงการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ หรือ Click and Collect สำหรับสินค้าบางประเภท เพื่อให้ตอบโจทย์กับกำลังซื้อและพฤติกรรมของลูกค้าในแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างกันได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
‘กระดูกเรากับนายมันคนละเบอร์’ ผู้เล่นรายย่อยเสียเปรียบในการรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้
ผู้ประกอบการแต่ละรายมีศักยภาพและความยืดหยุ่นในการปรับตัวที่แตกต่างกัน โดยผู้ประกอบการ SMEs ก็มักมีสายป่านที่สั้นกว่าผู้ประกอบการ Modern Trade และผู้ประกอบการทั่วไปรายใหญ่ ทำให้ SMEs ต้องเจอกับปัญหา เช่น ข้อจำกัดในการจัดหาสินค้า สต๊อกสินค้าที่มีไม่มากเท่ากับผู้เล่นรายใหญ่ และความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนที่น้อยกว่า เป็นปัจจัยกดดันในการดำเนินธุรกิจของพวกเขา
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ยังต้องเผชิญความท้าทายจากการพึ่งพิงฐานลูกค้ารายย่อยและการรุกตลาดจากผู้เล่นรายใหญ่ ดังนี้
- กำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานรากในภาคเกษตรกรรมอาจลดลงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ต้นเหตุของภัยแล้งรุนแรงในช่วงปีนี้ถึงต้นปีหน้า: ผลผลิตทางการเกษตรจะได้รับความเสียหาย ซึ่งก็หมายถึงรายได้ของเกษตรกรจะลดน้อยลงไปด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ใต้เขื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมหลัก แต่มีปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างอยู่ในเกณฑ์น้อยถึงน้อยวิกฤต ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้บางส่วนอาจมีการเลื่อนแผนการใช้จ่ายก่อสร้างปรับปรุงที่อยู่อาศัย หรือโรงเรือนทางการเกษตรออกไปก่อน ดังนั้นร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะในพื้นที่นอกตัวเมืองในจังหวัดต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรายย่อยอาจมียอดขายสินค้าลดลงได้
- การรุกตลาดของผู้ประกอบการ Modern Trade รายใหญ่ที่มีแผนขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง รวมกันไม่ต่ำกว่า 30 สาขาในปีนี้: การขยายตัวจะเน้นกระจายสาขาไปในภูมิภาคและพื้นที่นอกรอบเขตเมืองในจังหวัดต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและโครงการก่อสร้างในอนาคต เช่น พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจในแต่ละภาค ซึ่งจะมีทั้งการก่อสร้างของภาคธุรกิจและโครงการที่พักอาศัยสำหรับบุคลากร เป็นต้น
ข้อมูลจากการทำวิจัยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่า แม้ยอดขายของสาขาเดิม (Same Store Sales Growth: SSSG) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ของผู้เล่น Modern Trade หลายรายจะหดตัวลงจากปีก่อน แต่ถ้าเราดูรายได้รวมทั้งสาขาเดิมและสาขาใหม่ของผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ก็ยังเติบโตได้จากปีก่อน หมายความว่าการขยายสาขาใหม่จะเป็นเหตุผลหลักในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ ดังนั้นรายได้รวมทั้งปีของกลุ่ม Modern Trade น่าจะยังเติบโตได้ แม้จะชะลอลงจากปีก่อนตามกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ แต่ที่สุดแล้วผู้ประกอบการกลุ่มนี้น่าจะมีส่วนแบ่งตลาดตามยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับอนาคตของผู้ประกอบการ SMEs ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าปัญหาความท้าทายหลักๆ มีสองปัจจัยคือ ความสามารถในการทำกำไรอาจลดลงและอาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว จากการแข่งขันด้านราคาและฐานลูกค้าที่อาจมีแนวโน้มเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการ Modern Trade
ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการทั่วไปที่น่าจะยังประคองตัวให้ยอดขายเติบโตต่อได้ คาดว่าจะเป็นกลุ่มตัวแทนจำหน่าย หรือ Authorized Dealer ของผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีทั้งการขายส่งและขายปลีก มีเงินทุนในการสต๊อกสินค้า และมีการสั่งซื้อ จากทั้งผู้รับเหมาและโครงการก่อสร้างในพื้นที่
‘โตต่ำ ต้นทุนเพิ่ม’ ภาพอนาคตที่ท้าทายของธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง
เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ประกอบการทั้งค้าส่งและค้าปลีกวัสดุก่อสร้างที่ดำเนินกิจการอยู่ในแต่ละปี โดยเฉลี่ยในช่วงปี 2560-2565 ให้ภาพทรงตัวถึงหดตัว ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า จำนวนผู้ประกอบการทั่วไปอาจไม่สามารถขยายตัวได้มากนักในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ก็ยังต้องติดตามนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งอาจมีการพิจารณามาตรการช่วยลดภาระต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs เพิ่มเติม
มองไปข้างหน้า ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างยังมีโจทย์ท้าทายเฉพาะหน้าเรื่องต้นทุนสินค้าและการดำเนินงานที่คาดว่าจะปรับฐานสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าขนส่งที่จะผันผวนตามราคาเชื้อเพลิง แนวโน้มค่าแรงขั้นต่ำที่อาจปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการ และยังมีประเด็นอัตราค่าไฟฟ้าภาคธุรกิจที่ยังยืนสูงด้วย
นอกจากนี้ เทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเทคโนโลยีจะนำไปสู่ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น เช่น การขยายประเภทสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจมีราคาสูงกว่าสินค้าดั้งเดิมในระยะแรก ทำให้เกิดความท้าทายกับผู้ประกอบการในการปรับความเข้าใจกับลูกค้า ส่วนการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในงานก่อสร้าง เช่น การพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) เพื่อสร้างชิ้นงานหรือส่วนประกอบอาคารพร้อมประกอบ อาจทำให้มีการปรับเปลี่ยนการใช้งานวัสดุก่อสร้างบางประเภท และธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างบางส่วนต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตได้
อ้างอิง:
- บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด (KResearch)