×

ผู้นำฝ่ายค้านงดออกเสียงในการเสนอชื่อ ‘สุธรรม-สราวุธ’ เข้าเป็นตัวเต็งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่

โดย THE STANDARD TEAM
22.07.2025
  • LOADING...
ภาพผู้ถูกเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สุธรรมและสราวุธ

ผู้สื่อข่าวรายงานตามที่ปรากฏเป็นบันทึกในรายงานการพิจารณาสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ (แทนตำแหน่งที่ว่าง) ของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จัดทำโดย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการสรรหาฯ ได้ทำหนังสือถึงประธานวุฒิสภา เพื่อเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน มายังวุฒิสภาเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบต่อไป

 

คณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาดําเนินการสรรหาเสร็จสิ้นแล้ว ผลปรากฏว่า มีผู้ได้รับการคัดสรร โดยได้รับคะแนนเสียงถึง 2 ใน 3 ของจํานวนทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหาฯ จํานวน 2 คน ดังนี้

 

  1. ศาสตราจารย์ ร.ต.อ. สุธรรม เชื้อประกอบกิจ ศาสตราจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

  1. สราวุธ ทรงศิวิไล อดีตอธิบดีกรมการขนส่งทางราง และอดีตอธิบดีกรมทางหลวง

 

▪️ผู้นำฝ่ายค้านงดออกเสียงทุกรอบ

 

โดยก่อนหน้านี้ ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม คณะกรรมการสรรหาฯ จํานวน 8 คน ได้พิจารณาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม รวมตลอดทั้งมีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสําเร็จ โดยคํานึงถึงความหลากหลายของประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละด้านประกอบด้วย หลังจากนั้น ได้ ‘ลงคะแนนเลือกโดยเปิดเผย พร้อมบันทึกเหตุผลในการเลือก’ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนด

 

ผลการลงคะแนนเลือก เป็นดังนี้

 

  1. ผู้สมัครในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 3 คน และมีการลงคะแนน 2 ครั้ง 

 

ในการลงคะแนนครั้งแรก ศ. ร.ต.อ. สุธรรม เชื้อประกอบกิจ ได้ 5 คะแนน ขณะที่ ศ. ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ 2 คะแนน จึงต้องลงคะแนนอีกครั้ง จนในที่สุด ศ. ร.ต.อ. สุธรรม ได้ 7 คะแนน ขณะที่ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหนึ่งในกรรมการสรรหาฯ งดออกเสียง

 

สำหรับกรรมการสรรหาฯ ที่ลงคะแนนให้ ศ. ร.ต.อ. สุธรรม เช่น วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เหตุผลว่า เป็นบุคคลที่มีประวัติดี มีความรู้ ความสามารถในการที่จะดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เหมาะสมอย่างดี หรือ อรรถยุทธ ศรีสมุทร บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาฯ ให้เหตุผลว่า เป็นผู้มีอิสระทางความคิด มีความรู้ด้านรัฐศาสตร์และการปกครอง

 

  1. ผู้ทรงคุณวุฒิที่รับหรือเคยรับราชการในตําแหนงไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตําแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

 

กรรมการสรรหาฯ ลงคะแนนกันถึง 3 ครั้ง เนื่องจากไม่มีผู้ได้คะแนนเสียงถึง 2 ใน 3 จนท้ายที่สุดในการลงคะแนนครั้งที่ 3 สราวุธ ทรงศิวิไล ได้ 6 คะแนน ขณะที่ ธัญญา เนติธรรมกุล อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับ 1 คะแนน ส่วนณัฐพงษ์ยังคงงดออกเสียงทั้ง 3 รอบ

 

ทั้งนี้ สุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ บุคคลที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาฯ ได้ลงคะแนนให้ธัญญาในรอบแรก และเปลี่ยนมาลงคะแนนให้ รื่นวดี สุวรรณมงคล อดีตอธิบดีกรมคุมประพฤติ ในรอบที่ 2 ก่อนที่ในรอบ 3 จะลงคะแนนให้สราวุธ

 

เช่นเดียวกับ อรรถยุทธ ศรีสมุทร บุคคลซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาฯ ได้ลงคะแนนให้รื่นวดีในรอบแรก และเปลี่ยนมาลงคะแนนให้ธัญญาในทั้งรอบที่ 2 และ 3 ส่วน เจษฎา กตเวทิน บุคคลซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาฯ ได้ลงคะแนนให้รื่นวดีในรอบแรก และเปลี่ยนมาลงคะแนนให้สราวุธ ในทั้งรอบที่ 2 และ 3 

 

ในรอบที่ 3 สุพัตราให้เหตุผลว่า เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญด้านการบริหารงาน ตามคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องการ ขณะที่เจษฎาให้เหตุผลว่า สราวุธมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่องานในตําแหน่ง

 

โดยในวันนี้ (22 กรกฎาคม) ที่ประชุมวุฒิสภาจะประชุมลับเพื่อพิจารณาคุณสมบัติ ประวัติ และลักษณะต้องห้ามของบุคคลทั้ง 2 ที่คณะกรรมการสรรหาฯ เสนอชื่อมา ก่อนจะลงมติว่า จะให้ความเห็นชอบทั้ง 2 บุคคล หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising