×

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘ถอดถอนเศรษฐา’

โดย THE STANDARD TEAM
14.08.2024
  • LOADING...
ถอดถอนเศรษฐา
วันนี้ (7 สิงหาคม) องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ ลงมติ และออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดเดิม 40 คน ได้ยื่นคำร้องผ่านประธานวุฒิสภา ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ กรณีนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
 
 
เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่
 
 
ต่อมาตั้งแต่เวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย และเศรษฐาเดินทางมาฟังคำวินิจฉัยด้วยตนเอง โดยสรุปคำวินิจฉัยเบื้องต้นศาลเห็นว่า
 
 
คดีนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงยุติการไต่สวน
 
 
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำชี้แจงข้อกล่าวหา และเอกสารประกอบจากบุคคลและหน่วยงานต่างๆ กำหนดประเด็นวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะลงตัวหรือไม่
 
 
ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ผู้จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จะต้องมีคุณสมบัติสูงกว่าคนเป็นสส. เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดหลักเกณฑ์แตกต่างกันอย่างชัดเจน ตามมาตรา 160 (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เป็นเรื่องของบุคคลทั่วไป แต่ในมาตรา 160 (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ในกิจการที่ตนเองลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในการแต่งตั้งบุคคลใดเป็นรัฐมนตรี
 
 
จากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พิชิต ได้นำถุงขนมใส่เงินสดเพื่อมอบให้ตุลาการ โดยเชื่อว่าพิชิต เป็นตัวการร่วม การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และน่าจะมีมูลความผิดในการให้สินบนเจ้าพนักงาน ซึ่งพิชิต ย่อมตระหนักดีว่าจะส่งผลต่อความเชื่อถือของสถาบันตุลาการ และได้ถูกลงโทษจำคุก 6 เดือน และต่อมาสภาทนายความ ได้ชี้ว่าเป็นการกระทำที่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรม และผิดต่อมรรยาททนายความจึงถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ
 
 
จากการไต่สวนเศรษฐา และ เลขาธิการครม. ก่อนตั้งรัฐมนตรี ต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติก่อน และหากพบมีคุณสมบัติหรทอลักษณะต้องห้ามต้องทำเรื่องไปถามคณะกรรมการกฤษฎีกา เศรษฐา ต้องรู้ประวัติและคุณสมบัติต้องห้าม ของพิชิต ทั้งการถูกลงโทษจำคุก และการถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ ก่อนการตัดสินใจเสนอแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี
 
 
พฤติการณ์ที่พิชิตที่ถูกลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ เป็นการเสื่อมเสียต่อวงการทนายความ การที่เศรษฐา เสนอชื่อพิชิต จึงขัดรัฐธรรมนูญ เพราะนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อการบริหารบ้านเมือง ต้องตระหนักรู้ต่อมาตรฐานเยี่ยงวิญญูชน
 
 
การกระทำของพิชิต ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเศรษฐา ตั้งพิชิต และนำความกราบบังคมทูล จึงเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) เพราะการตั้งรัฐมนตรีไม่ใช่อาศัยแค่ความเชื่อถือส่วนตัว ความสามารถอย่างเดียว ต้องเป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานทางจริยธรรมด้วย
 
 
เศรษฐา จึงขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 160 (4) ว่าด้วยการมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่ปรากฏการสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาในการตั้งครม.รอบที่ 2 การที่เศรษฐา อ้างว่าไม่มีความรู้ความชำนาญทางกฎหมายและบริหารราชการแผ่นดินจึงฟังไม่ขึ้น ขณะที่กรณีพิชิต เป็นข้อเท็จจริงที่วิญญูชนรู้ได้โดยทั่วไป เศรษฐารู้ข้อเท็จจริงแต่ยังตั้งพิชิต เป็นรัฐมนตรี
 
 
ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยว่า เศรษฐา มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 160 (5) คือต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
 
 
เมื่อเศรษฐารู้ข้อเท็จจริงของพิชิต แต่เศรษฐา ยังตั้งพิชิตเป็นรัฐมนตรี ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตุลาการเสียงข้างมากจึงให้เศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้รัฐมนตรีพ้นตำแหน่งทั้งคณะ แต่ยังคงต้องรักษาการอยู่จนกว่าจะมีครม.ชุดใหม่
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X