×

ถอดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณี #สมรสเท่าเทียม จุดเปลี่ยนของการเรียกร้องสิทธิ LGBTQ ในไทย

04.12.2021
  • LOADING...
สมรสเท่าเทียม

​เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ผลคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการสมรสระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ซึ่งอนุญาตให้เฉพาะชายกับหญิงเท่านั้นสมรสกันได้ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อแนะนำให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเหมาะสมต่อไป 

 

และเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 เว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ฉบับเต็มของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 อันนำไปสู่ประเด็นข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับเนื้อหาในคำวินิจฉัยฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะเหตุผลเกี่ยวกับลักษณะของการสมรสและประโยชน์สาธารณะ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ยกมาเป็นหลักในการวินิจฉัยถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 

 

โดยศาลเห็นว่าลักษณะตามธรรมชาติของร่างกายชายกับหญิงอันสอดคล้องกับการตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรนั้นมีความสัมพันธ์กับการสมรสจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ เป็นเหตุให้การสมรสเป็นเรื่องระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น ตลอดจนการสมรสซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งครอบครัวและให้กำเนิดบุตรนั้นเป็นพื้นฐานอันสำคัญยิ่งของสังคม

ถ้อยคำที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ในการทำคำวินิจฉัยฉบับดังกล่าวออกจะเป็นที่กังขาของบุคคลทั่วไปซึ่งได้อ่านคำวินิจฉัยอยู่ไม่น้อย เนื่องจากมีหลายส่วนในคำวินิจฉัยมีลักษณะของการเปรียบเทียบและยกตัวอย่างเพื่อก่อให้เกิดข้อสรุปที่ชัดเจนของความแตกต่างกันในเรื่องเพศของบุคคล ตลอดจนการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของสังคมบนพื้นฐานของการสืบเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ อาทิ ‘ผู้ที่กำหนดเพศไม่ได้’ หรือแม้แต่การเปรียบเทียบกระบวนการเกิดขึ้นของการคุ้มครองความหลากหลายทางเพศในสังคมกับ ‘สัตว์โลกบางประเภท’ ที่มีพฤติกรรมหรือลักษณะทางชีวภาพแปลกแยกออกไปเพื่อการศึกษาต่อไป อันไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลซึ่งมีความหลากหลายทางเพศ

อย่างไรก็ตาม หากได้วิเคราะห์ถึงคำวินิจฉัยฉบับดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมาด้วยจิตใจอันเที่ยงธรรมดังเช่นวิญญูชนจะพึงกระทำแล้ว ถ้อยคำต่างๆ ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอันอาจจะฟังไม่เข้าหูสักเท่าใดนักนั้น ย่อมแสดงให้เห็นถึงลักษณะการใช้อำนาจอย่างเต็มที่และตรงไปตรงมาของศาลรัฐธรรมนูญ 

 

ที่ว่าการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างเต็มที่นั้นหมายถึงศาลรัฐธรรมนูญมิได้ประหยัดถ้อยประหยัดคำที่จะหยิบยกมาใช้ในการเขียนคำวินิจฉัย ในทางตรงข้ามศาลรัฐธรรมนูญกลับแสวงหาและนำเหตุผลทั้งหลายที่คิดว่ามีน้ำหนักออกมาสนับสนุนในคำวินิจฉัยอย่างตรงไปตรงมา ด้วยเหตุนี้จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญเจตนาหรือจงใจที่จะเหยียดหยามเพศทางเลือกหรือเพศใดเพศหนึ่งให้ต่ำกว่าเพศอื่น 

 

ทว่าการใช้อำนาจของศาลอย่างเต็มที่และตรงไปตรงมานั้นย่อมกระทบกระเทือนต่อลักษณะอันละเอียดอ่อน โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และในขณะเดียวกันอาจผลักไสประชาชนคนไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งโดยปกติมีลักษณะชายขอบอยู่แล้วให้ยิ่งห่างเหินจากความกลมกลืนในสังคม ซึ่งแท้จริงแล้วพวกเขาควรจะได้รับการรับรู้และเคารพถึงความหลากหลาย โดยเฉพาะในด้านอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคลว่าเป็นสิ่งที่งดงาม

 

​แม้ว่าผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 จะเป็นที่ทราบกันดีอยู่ทั่วไปแล้ว กล่าวคือ นอกจากจะส่งผลให้การสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 นั้นยังคงทำได้เฉพาะระหว่างชายกับหญิงอยู่ต่อไป ผลแห่งคำวินิจฉัยดังกล่าวยังอาจนำไปสู่การตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศในอนาคต ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้กล่าวไว้ชัดแจ้งพอสมควรในหน้าที่ 9 ของคำวินิจฉัย ว่าความเสมอภาคในการจัดตั้งครอบครัวนั้นสามารถดำเนินการได้ “โดยบัญญัติกฎหมายเฉพาะขึ้นมาใหม่เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนถึงกฎหมายหลักที่ได้วางรากฐานความเป็นสถานบันครอบครัวมาตั้งแต่อดีตกาล” 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นคุณูปการของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะอยู่ที่ผลซึ่งคำวินิจฉัยมีต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะด้านการเรียกร้องสิทธิ LGBTQ ในประเทศไทย ที่ลักษณะถ้อยคำอันเร่าร้อนรุนแรงของคำวินิจฉัยฉบับนี้อาจเปลี่ยนโฉมหน้าการเรียกร้องสิทธิ LGBTQ ในประเทศไทยไปอย่างน้อยสองประการ 

 

ประการแรก การเรียกร้องสิทธิในการสมรสระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันในประเทศไทยนั้นจะแปรเปลี่ยนจากการต่อสู้เพื่อให้บุคคลเพศทางเลือกสามารถมีสิทธิและหน้าที่ในการใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมกับคู่ของชายกับหญิง ไปสู่การกู้คืนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งบุคคลเพศทางเลือกอาจรู้สึกว่าเขาสูญเสียไปเพราะลักษณะแห่งถ้อยคำอันเร่าร้อนรุนแรงเช่นว่านั้น 

 

ประการที่สอง คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 จะเป็นเสมือนการจุดระเบิดในห้องเครื่องยนต์ที่ดับอยู่ และนำไปสู่แรงผลักดันมหาศาลในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิ LGBTQ ในประเทศไทย อันอาจเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากประเทศซึ่งมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอย่างเบาบาง เนื่องจากขาดแรงบีบคั้นจากสังคมไปสู่ประเทศที่มีการขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพอย่างดุดันและจริงจังดังเช่นในโลกตะวันตก 

 

ในทัศนะของผู้เขียน คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 จึงกลับจะเป็นคุณต่อแนวคิดเรื่องการสมรสเท่าเทียมมากกว่าจะเป็นโทษ โดยเฉพาะที่คำวินิจฉัยดังกล่าวอาจทำให้สิทธิเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยซึ่งรวมถึงการสมรสเท่าเทียมด้วยนั้นเกิดสำเร็จผลมั่นคงขึ้นได้จริงเร็วกว่าที่เคยคิดกันมาก่อนหน้านี้ ​

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X