×

‘ไม่เสื่อมเสียต่อหน้าที่และเกียรติศักดิ์’ ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชี้ปม อุดม หลังวิจารณ์คดียุบก้าวไกล

โดย THE STANDARD TEAM
11.10.2024
  • LOADING...

วันนี้ (11 ตุลาคม) เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎรได้เผยแพร่เอกสารประกอบการประชุมสำหรับวาระในวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ในหัวข้อ เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม วาระที่ 2.2 รับทราบเรื่อง ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรับทราบข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของสภาผู้แทนราษฎรในญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเกี่ยวกับการแสดงออกของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตุลาการบนเวทีสาธารณะ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยประชาชน จนนำไปสู่การตั้งคำถามต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ เพื่อส่งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของสภาผู้แทนราษฎรให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดำเนินการต่อไป

 

สำหรับเอกสารประกอบดังกล่าวเป็นหนังสือราชการ ออกโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 4 ตุลาคม ส่งถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างถึงหนังสือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ด่วนที่สุด ที่ สผ 0014/8412 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2567 มีรายละเอียดระบุว่า

 

ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรส่งสรุปประเด็นและข้อเสนอแนะการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเกี่ยวกับการแสดงออกของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตุลาการบนเวทีสาธารณะ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยประชาชน จนนำไปสู่การตั้งคำถามต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญรับทราบ หากศาลรัฐธรรมนูญได้ปฏิบัติตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะประการได้โปรดแจ้งให้ทราบด้วยนั้น

 

สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญขอเรียนว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรับทราบข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เห็นว่าการแสดงความคิดเห็นของ อุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว เป็นการตอบคำถามเกี่ยวกับข้อกฎหมายพรรคการเมืองในการสัมมนาทางวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญ มิได้เป็นการแสดงความคิดเห็นอันมีลักษณะเป็นการเสียดสีหรือประชดประชันพรรคการเมืองใด ที่จะส่งผลต่อความเป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยคดี ไม่กระทบกระเทือน หรือก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากมีการเผยแพร่เนื้อหาในคลิปวิดีโอ เป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ซึ่งอุดมเข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ ‘ศาลรัฐธรรมนูญกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560’ ภายใต้โครงการเสริมสร้างความรู้สู่ประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี

 

สำหรับหัวข้อนี้ยังมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ศ.พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ประเสริฐ บุญประสพ นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี, กนกวรรณ จารุจารีต ประธานเขตพัฒนาชุมชนที่ 1, จตุรงค์ นิลอนันต์ ประธานเขตพัฒนาชุมชนที่ 2, ชาญณรงค์ พรหมใจดี ประธานเขตพัฒนาชุมชนที่ 3 และ วัชรินทร์ ทับทิมทอง ประธานเขตพัฒนาชุมชนที่ 4 ดำเนินรายการโดย รศ. ดร.อัคคกร ไชยพงษ์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพัฒนากระบวนการยุติธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

 

ช่วงหนึ่งของการสัมมนา อุดมกล่าวว่า พรรคประชาชนต้องขอบคุณตนเองที่ทำให้พรรคได้เงินบริจาคเพิ่ม โดยกล่าวว่า “เหมือนอย่างวันนี้ เขายังมีปัญหาอยู่ พรรคคุณไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อ คุณไปรับเงิน คุณออกในนามพรรคประชาชน ซึ่งคุณยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อโดยถูกต้อง ทำได้หรือไม่ในกรณีนี้ เขาบอก ผมใช้บัญชีเดิม เขาก็ต้องตรวจสอบ คุณใช้บัญชีเดิมของพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลจริงหรือเปล่า หรือคุณเปิดบัญชีใหม่

 

“จริงๆ ต้องขอบคุณผมนะ มีการยุบพรรคเขา เห็นไหมครับ เขาได้เงินตั้งกี่ล้านภายในสองวัน ถ้าไม่ยุบ เขาร้องไห้ฟรีเลยนะ ก่อนหน้านั้นเงินไม่มีนะ ต้องขอบคุณผมนะ ทำให้เขามีเงินเข้าไปตั้ง 20-30 ล้าน ใช่ไหม สมาชิกเก่าเข้าไปจดทะเบียนเป็นสมาชิกตามไปด้วย เห็นไหม ก็ไม่เห็นจะเดือดร้อนตรงไหนเลย”

 

อุดมกล่าวด้วยว่า “ทุกวันนี้แล้วแต่มุมมอง คนเชียร์ก็เชียร์สุดใจขาดดิ้นโดยไม่ฟังคนอื่น ฟังสั้นๆ พอแล้ว รู้ว่าไม่ควรยุบ แต่ยุบเพราะอะไรไม่รู้ ไม่สนใจ ยุบปั๊บ อ้าว ไปเปิดพรรคใหม่ได้ ไม่ข้องใจแล้วหรือ

 

“เมื่อวานร้องไห้อยู่ พรรคเราจะไปแล้ว อย่างนู้นอย่างนี้ โอ้ 2 วันเลิก จากน้ำตาเป็นเสียงหัวเราะ ‘ยักไหล่แล้วไปต่อ’ เงิน 20 ล้าน” อุดมกล่าวติดตลกก่อนจะหัวเราะ

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง และมีมติโดยเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) วินิจฉัยให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง โดยอุดมเป็นหนึ่งในตุลาการเสียงข้างมาก

 

ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 – 31 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา 92 วรรคสอง มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising