วันนี้ (17 เมษายน) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวกรณีที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 20 วรรคหนึ่ง (2) ที่ประธานรัฐสภา (ผู้ร้อง) มีหนังสือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ดังนี้
(1) รัฐสภาจะบรรจุวาระและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่
(2) ในกรณีที่รัฐสภาสามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ การจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะต้องกระทำในขั้นตอนใด
โดยก่อนการพิจารณา เนื่องจาก สุเมธ รอยกุลเจริญ หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ระหว่างรอการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ และ อุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2561 มาตรา 37 เนื่องจากเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดให้ถอนตัวจากการพิจารณาคดีได้
องค์คณะตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้จึงประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 7 คน ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 52
โดยผลการพิจารณานั้น ศาลพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44 กรณีต้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับ
หน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว การบรรจุวาระการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นหน้าที่และอำนาจของประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 119 กรณีไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา และคำร้องมีสาระสำคัญเป็นเพียงข้อสงสัย และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายเนื้อหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนแล้ว ไม่ใช่กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องด้วยเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ (7 ต่อ 0) สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย