วันนี้ (7 กรกฎาคม) ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญ กรณีพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 บทนิยามคำว่า ‘การชุมนุมสาธารณะ’ มาตรา 10, 14 และ 28 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26, 34 และ 44 หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 15/2563, เรื่องพิจารณาที่ 21/2563, เรื่องพิจารณาที่ 26/2563 และเรื่องพิจารณาที่ 7/2564)
จากกรณีศาลจังหวัดตะกั่วป่า ศาลจังหวัดนครพนม ศาลแขวงเชียงราย และศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ส่งคำโต้แย้งของจำเลยรวม 4 คำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 บทนิยามคำว่า ‘การชุมนุมสาธารณะ’ มาตรา 10, 14 และ 28 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26, 34 และ 44 หรือไม่
ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 บทนิยามคำว่า ‘การชุมนุมสาธารณะ’ มาตรา 10, 14 และ 28 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26, 34 และ 44
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีศาลจังหวัดตะกั่วป่าได้มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานั้น พบว่าเป็นคดีวิ่งไล่ลุง โดยตกเป็นจำเลยในข้อหาเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 4, 10, 14, 28 ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26, 34 และ 44 หรือไม่
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ