×

ประธานศาลรัฐธรรมนูญยืนยัน วางตัวเป็นกลาง เป็นที่พึ่งประชาชน แก้พิพาทการเมือง ย้ำศาลเป็นผู้ช่วยแก้ ไม่ใช่ผู้สร้างปัญหา

โดย THE STANDARD TEAM
10.04.2025
  • LOADING...
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (10 เมษายน) ที่โรงแรมอัศวิน ศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงวาระครบรอบ 27 ปี ศาลรัฐธรรมนูญกับความคาดหวังของประชาชนว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลพิเศษตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยมีระเบียบวิธีพิจารณาคดีที่ชัดเจน เชื่อว่าความคาดหวังของประชาชนมีมากขึ้น เพราะขณะนี้มีเรื่องร้องตรงมาจากประชาชนมากขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ที่ไม่เคยลดน้อยลง 

 

ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความเดือดร้อนจากการถูกละเมิดสิทธิ์ แต่ไม่ทราบว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร หรือเขียนคำร้องอย่างไร จึงหารือในศาลว่าจะต้องมีการปรับปรุง ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการเขียนคำร้องให้ถูกต้องตามกระบวนการ ซึ่งหากเรื่องใดที่ศาลรับได้ก็จะรับไว้พิจารณา แต่หากรับไม่ได้ก็จะไม่รับ อย่างไรก็ตาม การร้องตรง บางคนเรียกว่าการร้องทุกข์ตามรัฐธรรมนูญ เรียกว่าเป็นตัวบ่งชี้ว่าประชาชนเชื่อมั่นใจศาลรัฐธรรมนูญ เช่น คำร้องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพการยื่นฟ้องชู้ ให้สิทธิ์ผู้หญิงและผู้ชายเท่าเทียมกันในการยื่นร้องแต่ละฝ่าย ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงฝ่ายชายที่ยื่นฟ้องฝ่ายหญิง แต่ศาลชี้ชัดว่า การฟ้องชู้ของผู้หญิงสามารถยื่นฟ้องได้ ไม่ว่าชู้นั้นจะเป็นหญิงหรือชาย ซึ่งศาลได้แก้ไขสิทธิ์ตรงนี้ให้ใช้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน 

 

ศ.นครินทร์ กล่าวว่า อีกมุมหนึ่งคือหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องที่มาจากองค์กรทางการเมือง เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้โดดเดี่ยว อยู่ร่วมกับสถาบันต่างๆ ทั้ง ครม. รัฐสภา องค์กรอิสระ การที่ยื่นเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะช่วยแก้ไขปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหา เมื่อพูดถึงความรักสามัคคี ไม่ใช่เฉพาะในมิติบุคคลเท่านั้น แต่ยังมีมิติขององค์กร หรือสถาบันทางการเมืองต้องมีความเชื่อมโยงกัน และมีความรัก สามัคคี มีสัมพันธ์อันดีต่อกัน ศาลจะพิจารณารับเรื่องที่มาจากสถาบันต่างๆ ซึ่งยื่นถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา หรือรัฐสภาก็รับอย่างที่ปรากฏให้เห็น

 

“แสดงให้เห็นว่าในทางหนึ่ง สถาบันข้างเคียงไม่ได้ปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การเผชิญหน้ากันของสถาบันต่างๆ หมดไปแล้ว คาดว่าจะถึงยุคที่จะพัฒนาไปสู่ความร่วมมือระหว่างสถาบันต่างๆ” ศ.นครินทร์ กล่าว

 

เมื่อถามว่า ศาลรัฐธรรมนูญหนักใจหรือไม่ ด้วยถูกมองว่าเป็นองค์กรที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการล้มล้างรัฐบาล เช่น ล่าสุด สว.ประกาศว่าจะฟ้องจริยธรรมสภาหากรับหลักการร่างกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร ศ.นครินทร์ กล่าวว่า การที่องค์กรต่างๆ มีปัญหากันเอง และแก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ต้องหาองค์กรภายนอกเข้ามาช่วย และองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่สามารถช่วยได้ก็มีแต่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลมีหน้าที่ควบคุมความชอบด้วยกฎหมาย ให้สังเกตว่าคนพยายามยื่นเรื่อง ก็จะใช้วิธีการขู่ว่าจะยื่นศาล แต่ศาลจะพิจารณาด้วยความระมัดระวัง รอบคอบว่าผู้ร้องมีสิทธิ์ยื่นร้องหรือไม่ หรือศาลมีอำนาจที่จะตัดสินเรื่องนั้นหรือไม่ หากไม่ใช่ก็จะไม่ยื่นมือไปเกี่ยวข้อง 

 

เมื่อถามผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า หนักใจหรือไม่ที่จะต้องตัดสินคดีทางการเมือง ชี้ขาดผู้ดำรงตำแหน่งพ้นจากหน้าที่ ศ.นครินทร์ กล่าวว่า ความหนักใจเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรื่องการเมืองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้พยายามบอกกับทุกคนว่า ศาลเป็นองค์กรควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย 

 

ส่วนการตัดสินคดีทางการเมือง เป็นหน้าที่เสริมเท่านั้น แต่คนสนใจแค่อำนาจหน้าที่เสริม เช่น เมื่อไม่กี่วันศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีก็ตัดสินให้ประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เพราะมีกลไกพิจารณา ซึ่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้มาจากการเลือกตั้งทางตรงจากประชาชน ไม่ได้มาจากรัฐสภา ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง เป็นตัวอย่างให้เห็น 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่า มีบางฝ่ายมองว่ามีคนใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง ศ.นครินทร์ กล่าวว่า เป็นธรรมดา เพราะต่างฝ่ายต่างช่วงชิง แต่ศาลวางตัวเป็นกลาง ตั้งมั่นอยู่ในกฎกติกาศาลรัฐธรรมนูญ เวลามีคำร้องเข้ามาไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกลั่นแกล้ง ซึ่งมีคนส่งเข้ามาเยอะแยะ แต่ศาลก็จะดูว่าผู้ร้องมีสิทธิ์ร้องหรือไม่ ถูกขั้นตอนหรือไม่ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายก็ตัดออก เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมาก็มีให้เห็น ในคำร้องที่ 1 ที่ศาลได้ออกเอกสารข่าวมา เขากลั่นแกล้งกันเต็มที่เราก็ตัดออก ทั้งนี้ ตนไม่ขอให้รายละเอียดข่าวไม่ขอให้รายละเอียด 

 

ศ.นครินทร์ กล่าวถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า มีความเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมืองผ่านทางสภาสูงว่า เรื่องที่มา หากอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายกำหนดว่าการสรรหาเห็นชอบต้องผ่านวุฒิสภา แต่มีที่มา 2 ส่วน 1. ผู้แทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง 2 คนก็ต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา และกรรมการสรรหาอีก 4 คน ก็ต้องผ่านวุฒิสภา 

 

“ผมไม่ขัดข้องหากจะแก้รัฐธรรมนูญเรื่องที่มา แต่อย่างไรก็ตาม ควรที่จะมีองค์กรที่ให้การรับรองอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่กรรมการสรรหาได้ลงมติไปแล้ว” ศ.นครินทร์ กล่าว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising