วันนี้ (10 ธันวาคม) นิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า พรรคชาติไทยพัฒนามีความเห็นต่อเรื่องรัฐธรรมนูญ โอกาสที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้นยังมีอยู่ แต่ว่าอาจจะไม่ทันเสร็จสิ้นในสภาอย่างแน่นอน ส่วนตัวคาดว่าจะได้เพียงแค่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แต่ตรงจุดนี้ก็ยังติดปัญหาอยู่เช่นกัน เพราะโอกาสจะทำประชามติ 2 ครั้งยังไม่เชื่อว่าจะทำได้ ซึ่งต้องทำตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง เนื่องจากหากทำแค่ 2 ครั้ง สมาชิกรัฐสภาอาจจะอึดอัดกับการโหวต เพราะอาจจะไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีข้อผูกมัดอยู่
ดังนั้นวันเวลาที่เหลืออยู่ในตอนนี้เท่ากับว่าการจัดทำประชามติต้องยืดออกไปอีก 180 วัน และบวกอีก 100 วัน สำหรับการทำประชามติตามกฎหมาย ซึ่งการจัดทำประชามติจะเกิดขึ้นปลายเดือนธันวาคม 2568 ถึงต้นเดือนมกราคม 2569 โอกาสสุดท้ายที่จะทัน สสร. คือยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในเดือนมกราคม เพื่อจะพิจารณาให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2570 เป็นโอกาสครั้งเดียวที่จะต้องผ่าน
หลังจากเดือนมีนาคม หากกฎหมายผ่านก็จะไปทำการเลือก สสร. ขึ้นมา ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีก 80-90 วัน ก่อนนำเข้าที่ประชุมสภาอีกครั้ง ซึ่งสภาจะปิดในวันที่ 10 เมษายน 2570 จึงย้ำว่าเป็นโอกาสสุดท้าย ยังทันที่จะกลับมาพิจารณาในสภาที่มีอยู่ แต่หากครั้งแรกไม่ผ่านและดำเนินการในต้นปี 2570 ไม่ทัน เนื่องจากติดปัญหาวุฒิสภาไม่เห็นด้วย ก็จะไปเข้าสู่สมัยที่สอง ซึ่งเป็นสมัยสุดท้าย และจะไม่ทันตั้ง สสร. อย่างมากก็จะได้แค่การยื่นญัตติ
ดังนั้นส่วนตัวเห็นว่าเมื่อมีโอกาสเดียว พรรคร่วมรัฐบาลควรจะมีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การตั้ง สสร. เสียเอง เพราะจะได้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และมีทางเดียวที่จะผ่าน แต่หากต่างพรรคต่างยื่น ไม่เชื่อว่าจะผ่านได้
นิกรยังกล่าวอีกว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังค้างอยู่ในรัฐสภาของพรรคประชาชน ส่วนตัวมีความกังวลว่ามาตรา 256 ที่ค้างอยู่ในสภาขณะนี้ ที่นำเสนอสภาไปแล้ว ไม่มี สสร. โดยเฉพาะมาตรา 256 (8) ที่มีประเด็นว่าจากจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติอยู่ในนั้นด้วย แต่มาตราดังกล่าวเอาหมวดที่เกี่ยวพระมหากษัตริย์และรัฐออกไป คือไม่ต้องทำประชามติ จุดนี้จะมีปัญหา ส่วนตัวเชื่อว่าวุฒิสภาจะไม่เห็นด้วย แต่ร่างนี้อาจจะเข้าสู่การพิจารณาได้ ทั้งนี้ หากจะมีการยกร่างใหม่ มาตรา 256 ที่มี สสร. ไม่เชื่อว่าจะเข้าสภาตอนนี้ได้ ต้องรอให้การทำประชามติเสร็จเสียก่อน
“จึงขอบอกว่าเป็นโอกาสสุดท้ายในการที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้ทันสภาชุดนี้ แต่ว่ายังมี สสร. ก็ยังดี แต่ว่าโอกาสน้อยมาก ต้องพยายามอย่างยิ่ง และต้องคุยกับทางวุฒิสภา เมื่อไม่คุยก็ไปไม่ได้” นิกรกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการหารือกับฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ นิกรกล่าวว่า วันนี้ถึงตนเองได้เสนอเรื่องนี้ในวันรัฐธรรมนูญ และขอชี้ว่ามีโอกาสเดียวแล้วที่จะทำได้ตามนโยบายของรัฐบาล นั่นก็คือว่ารวมตัวกัน เหมือนการแก้ไขบัตรเลือกตั้งสองใบ ซึ่งตอนนั้นใช้ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลจึงทำได้ ดังนั้นเรื่องนี้ก็เหมือนกัน จำเป็นต้องใช้ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้ทุกพรรคที่ไปประกาศนโยบายเรื่องนี้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต้องมาร่วมกันทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ และจะเป็นผลงานสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ คือให้มี สสร. และบอกประชาชนให้ชัดว่าเราทำทั้งฉบับไม่ทัน แต่การมี สสร. ก็ถือว่าได้ทำอย่างเต็มที่และดีที่สุดแล้ว
นิกรกล่าวต่อว่า ตนเองอยู่กับเรื่องนี้มานานและพยายามจะแก้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ถูกยุบ จึงมีความตั้งใจ และขอบอกในฐานะคนที่อยากให้มีรัฐธรรมนูญจริงๆ จึงอยากฝากบอกผ่านสื่อมวลชนว่าพรรคการเมืองต้องมาร่วมกัน เพราะรัฐธรรมนูญเป็นของทุกคนและของวุฒิสภาด้วย ดังนั้นจะต้องมีการพูดคุยกับวุฒิสภาด้วย จะคิดแต่ในส่วนของพวกเราไม่ได้ เพราะต้องอาศัยเสียงของวุฒิสภา 1 ใน 3 ซึ่งหากไม่คุยกัน ไม่มีร่างของรัฐบาล ส่วนตัวเชื่อว่ายากมาก เพราะจะมีประเด็นที่แตกออกไปอีกมาก
เมื่อถามต่อว่าจะมีการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการเพื่อให้สำเร็จหรือไม่ นิกรกล่าวว่า ต้องมีร่างของรัฐบาลก่อน จากนั้นพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องไปคุยกันและต้องหารือว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เอาแต่ฝ่าย สส. แต่ก็ต้องคุยกับวุฒิสภาว่ารับได้แค่ไหนด้วย รัฐธรรมนูญเป็นของทุกฝ่าย ทุกคน ไม่ใช่เป็นของพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้าน แต่เป็นของทุกคน ทุกคนกังวลกับรัฐธรรมนูญนี้ หากจะยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในนามของรัฐบาลยังทัน โดยร่างจะต้องจัดทำเสร็จก่อนการจัดทำประชามติ ซึ่งจะไปตรงกับไทม์ไลน์ที่ระบุว่าทำประชามติในต้นปี 2569 ก็ยกร่างตอนนั้น
นิกรกล่าวต่อว่า ส่วนตัวเห็นว่าให้เสนอร่างตอนนี้เลย เพื่อให้ประชาชนได้เห็นและได้ไปลงคะแนน เพราะคะแนนการทำประชามติแม้ว่าจะเอาตามมติของ สส. แต่หากได้มาน้อยก็จะเป็นข้ออ้างด้วยเหมือนกัน เพราะหลักการของวุฒิสภาเห็นว่าจะออกมาเกินกึ่งหนึ่ง แต่หากได้เพียงร้อยละ 20 ทุกคนจะว่าอย่างไร ประกอบกับผลสำรวจนิด้าโพล ที่ประชาชนเห็นว่าเสียงประชามติต้องได้เกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ ตรงนี้จะเป็นหลังพิงฝา ซึ่งจะทำให้ยากขึ้นไปอีก