วันนี้ (16 พฤศจิกายน) มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายสนับสนุนให้ยกเลิกมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ว่า มีอย่างที่ไหนที่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่เลือกมากับมือโหวตเลือกตนเป็นนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งแต่เดิมตนเห็นว่าประเทศไทยควรที่จะมี ส.ว. ไว้เพื่อกลั่นกรองกฎหมาย เพื่อความรอบคอบ เนื่องจากบางที ส.ส. อาจจะมีความรอบคอบไม่เพียงพอ เนื่องจาก ส.ส. จะมีสมาชิกที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความเป็นอิสระทางการเมือง และยึดโยงกับพี่น้องประชาชน ซึ่งไม่ใช่แบบ ส.ว. ในปัจจุบัน ที่ยึดโยงกับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีความซื่อสัตย์ภักดีกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่น เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ในการประชุม ส.ว. พล.อ. ประยุทธ์ได้ถาม ส.ว. ในห้องประชุมว่า ในที่นี้มีใครไม่เชื่อมั่นผมหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าในขณะนั้นไม่มี ส.ว. ท่านใดยกมือเลย
ตนอยากจะให้นายกรัฐมนตรีกลับไปถามพี่น้องประชาชน หรือเปิดคอมเมนต์ใน Facebook ส่วนตัว ก็จะทราบว่ามีประชาชนรักท่านแค่ไหน หรือให้นายกรัฐมนตรีเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ด้วยตนเองโดยไม่มีผู้ติดตาม และให้ไปถามพี่น้องประชาชนว่ายังสนับสนุนตนเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่หรือไม่ ให้ไปฟังกับหู เชื่อกับตา และยอมรับว่าคือเรื่องจริง คนเรามีสูงย่อมมีต่ำ มีอำนาจย่อมหมดอำนาจ มีวาสนาย่อมหมดวาสนา และมีบุญก็ยอมหมดบุญ
มงคลกิตติ์กล่าวว่า ส.ว. ทั้ง 250 คน ไม่มีส่วนใดยึดโยงกับประชาชน ซึ่งหากมี ส.ว. เป็นเช่นนี้ ตนจึงเห็นด้วยกับการยกเลิกให้มี ส.ว. ตามมาตรา 272 ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และถือเป็นการประหยัดงบประมาณอีกทางหนึ่ง และอาจเพิ่มจำนวน ส.ส. เข้ามาอีก 250 คน อาจดีกว่าการมี ส.ว. เนื่องจาก ส.ส. นั้นมาจากประชาชน
นอกจากนั้น มงคลกิตติ์กล่าวว่า ส.ว. ทั้ง 250 คน ในปัจจุบันยังเป็นผู้รับรองการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) หรือกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดิน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลในการรักษาบ้านเมืองเอาไว้
ทั้งนี้ ในส่วนของแผนการปฏิรูปประเทศ ตนมองว่าเป็นแผนการปฏิรูปที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากบุคคลที่เข้าไปดำรงตำแหน่งในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและกรรมการปฏิรูป เป็นบุคคลที่ไม่หลากหลาย ไม่ครบถ้วนในช่วงวัยสมควรที่จะปรับปรุงแก้ไขใช้คนให้ถูกกับงาน และสำหรับหมวด 16
ในส่วนการลบล้างผลพวงรวมถึงการป้องกันรัฐประหารนั้น หากการพิจารณาในวาระที่หนึ่งไป หากมีกลุ่มทหารหรือกลุ่มบุคคลที่กระหายอำนาจและเกรงว่าจะสูญเสียอำนาจอีก ไม่ว่าจะเขียนดีแค่ไหนก็ไม่สามารถที่จะห้ามสันดานของกลุ่มคนเหล่านี้ได้ ซึ่งมีเพียงวิธีเดียวในการต่อต้านการทำรัฐประหารได้คือ ประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันไม่จ่ายภาษีในทุกรูปแบบให้กับรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร
“นายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะต้องเป็นเซลแมนที่ดีและจะต้องไม่มีคุณสมบัติที่มาจากการทำรัฐประหาร เนื่องจากนายกรัฐมนตรีที่มาจากการทำรัฐประหารที่ผ่านมาเป็นนายกฯ ที่บริหารงานไม่เป็น กู้เงิน แจกและซื้ออาวุธเป็นอย่างเดียว ประเทศไทยต้องมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากพลเรือน ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าหรืออาชีพอื่นก็ตามยกเว้นอาชีพทหาร”
มงคลกิตติ์กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เนื้อหาสาระในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าเป็นเนื้อหาที่ดี ส่วนตัวอยากให้ผ่านวาระที่หนึ่ง วาระที่สอง และวาระที่สาม ซึ่งเมื่อผ่านทั้งสามวาระแล้วจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 256 (8) เพื่อจัดทำประชามติ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าประชาชนจะให้ผ่าน แต่ในรัฐสภาแห่งนี้เชื่อมั่นว่า ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ชุดปัจจุบัน จะไม่ให้ผ่านตั้งแต่วาระที่หนึ่ง