วันนี้ (16 พฤศจิกายน) คํานูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ต่อการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. โดยให้สมญานามร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนว่าเป็นฉบับปฏิวัติ เนื่องจาก
- รวมศูนย์ คือรวมศูนย์อำนาจของประเทศไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร
- บั่นทอน คือบั่นทอนการพิจารณาพิพากษาโดยศาล และบั่นทอนการถ่วงดุลอำนาจในศาลและองค์กรอิสระ
- ควบคุม คือควบคุมงบประมาณ ทั้งการตั้งงบประมาณและการใช้จ่ายงบประมาณ ควบคุมคน กำหนดโครงสร้างองค์กรศาลและองค์กรอิสระ ควบคุมการพิพากษา และควบคุมการถอดถอน
คำนูณกล่าวว่า ผู้เสนอพยายามบอกว่าออกแบบระบบตรวจสอบถ่วงดุลเอาไว้ โดยให้ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาล คำถามคือเพียงพอหรือไม่ แล้วเท่ากันหรือไม่ระหว่างการตรวจสอบถ่วงดุลในองค์กรเดียวกันระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล กับผู้ที่ถืออำนาจตรวจสอบถ่วงดุลที่อยู่ต่างองค์กรกัน เช่น มาตราการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาไม่เคยทำได้สำเร็จ สุดท้ายนี้แล้วการแก้ปัญหาด้านเดียวจะเป็นการแก้หรือเป็นการสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่
คำนูณยังกล่าวอีกว่า เรามุ่งแก้แต่เรื่องการทำรัฐประหาร แต่เราไม่พยายามมองไปถึงสาเหตุที่เกิดจากปัญหาการเมือง ที่บางครั้งก็เป็นการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บางครั้งก็เป็นการเมืองที่เป็นพฤติกรรมของรัฐบาลในขณะนั้น บางครั้งก็เป็นการรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจไว้ที่พรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาฯ การแก้ปัญหาด้านเดียวจะนำไปสู่อะไร การมุ่งแก้ปัญหาการรัฐประหารและผลพวงของการรัฐประหาร แต่ละเลยที่จะพูดถึงปัญหาทางการเมืองก่อนหน้านั้น สิ่งที่จะได้มาแทนที่คือระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างนั้นหรือ หรือเรียกว่าระบอบเผด็จการโดยสภาผู้แทนราษฎร เป็นสิ่งที่ต้องใคร่ครวญให้หนักก่อนตัดสินใจ