×

นิกรเชื่อ ทั้ง สส.-สว. ไม่ยอมถอยปมขัดแย้งประชามติ หวั่นแตกหักทำกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญช้าออกไป

โดย THE STANDARD TEAM
20.11.2024
  • LOADING...

วันนี้ (20 พฤศจิกายน) ที่อาคารรัฐสภา นิกร จำนง ในฐานะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เปิดเผยว่า ในการประชุมกรรมาธิการวันนี้ ซึ่งคาดว่าเป็นวันสุดท้ายเพื่อหาข้อยุติระหว่าง สส. และ สว. ขณะนี้เกิดความเห็นต่างกันเป็นอย่างมากระหว่าง 2 ฝ่าย ในขั้นตอนการออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นกุญแจดอกสำคัญสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

นิกรระบุว่า วันนี้ต้องมีการลงมติกัน ซึ่งแม้จะมีกรรมาธิการฝั่งละ 14 คนเท่ากัน แต่ฝั่ง สส. ขาดไป 1 คน คือ ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่ลาประชุมไว้ก่อนแล้ว และตามที่ได้รับฟังทั้ง 2 ฝ่ายที่ยืนยันในมติของตัวเองมาโดยตลอด เกรงว่าจะมีปัญหาอันอาจนำไปสู่การแตกหักกันระหว่าง 2 สภา และต้องชะลอร่างกฎหมายประชามติออกไปอีก 180 วัน

 

“ขณะนี้มีการท้ากันว่ากฎหมายประชามติช้าออกไป 180 วันก็ไม่เป็นไร ผมยืนยันว่า 180 วันเป็นปัญหา เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐบาลนี้ไม่มีทางทำได้ แต่ถ้าให้ได้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ก็ยังดี เพราะตอนนี้เวลาเราจะเหลือคือปี 2568 และ 2569 แต่หากสภาผู้แทนราษฎรยืนตามมติเดิมก็จะต้องรอไปอีก 180 วัน หรือ 6 เดือน และรอออกเป็นกฎหมายอีกประมาณ​ 1 เดือน รวมเป็น 7 เดือน อีกทั้งต้องรออีก 100 วันจึงจะทำประชามติครั้งแรกได้ เท่ากับว่าหมดปีพอดี” นิกรกล่าว

 

นิกรกล่าวต่อไปว่า ถึงแม้กฎหมายนี้จะผ่านออกมาภายในปี 2568 แต่ส่วนตัวเชื่อว่าวุฒิสภาจะไม่ให้เสียงเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเหมือนสภาผู้แทนราษฎรไปแตกหักกับวุฒิสภาแล้ว ทำให้ต้องรอสภาสมัยหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 อีกครั้ง ซึ่งใช้เวลา 3-4 เดือน ดังนั้นแม้แต่ สสร. ก็สุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดขึ้นไม่ทันหากไม่ประคับประคองกันให้ดี

 

“ดังนั้นในโอกาสที่มีอยู่นี้ผมเสนอทางออกที่เป็นสายกลาง ให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากชั้นครึ่งในการออกเสียงประชามติหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น โดยเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่จัดทำประชามติ” นิกรกล่าว

 

นิกรยังเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะเป็นทางออกสายกลาง และยังได้เพิ่มการเสนอแก้ร่างกฎหมายประชามติของวุฒิสภาที่มีข้อบกพร่องในบางกรณีไปด้วยในคราวเดียวกัน สำหรับการเสนอแนวทางของตนเองในวันนี้มีความตั้งใจเต็มร้อย แม้ความหวังจะไม่มาก ซึ่งกรรมาธิการฝ่าย สว. มีทั้งหมด 14 เสียง ฝ่าย สส. ขาดไป 1 เสียง หากตนเองเป็นผู้เสนอก็จะขาดไปอีก 1 เสียง ซึ่งต้องรอดูว่าประธานในที่ประชุมที่เป็นฝั่ง สว. จะลงมติด้วยหรือไม่

 

“เหลือเพียงทางเดียวคือฝั่ง สว. ต้องถอย 1 ก้าวตามที่ผมเสนอ แต่คิดว่าคงไม่ถอย เพราะตอนนี้การเมืองแรงเหลือเกิน” นิกรระบุ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางออกเสียงประชามติแบบหลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นครึ่งตามที่นิกรเสนอนั้น วิทยา แก้วภราดัย กรรมาธิการในสัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติเห็นด้วย แต่กรรมาธิการในสัดส่วนพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนยังยืนยันตามร่างแก้ไขเดิมของสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่การประชุมวันนี้ได้เชิญตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมชี้แจงต่อที่ประชุมถึงแนวทางการออกเสียงประชามติผ่านช่องทางไปรษณีย์ด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising