×

วันนอร์คาด รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต.ค. นี้ หวั่น สว. แก้เกณฑ์ประชามติ ทำล่าช้าทั้งกระบวนการ

โดย THE STANDARD TEAM
27.09.2024
  • LOADING...
แก้ไขรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (27 กันยายน) ที่อาคารรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเสนอร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ รายมาตรา โดยระบุว่า เบื้องต้นได้รับการประสานว่าขณะนี้มีร่างที่ถูกบรรจุในระเบียบวาระแล้ว 3 ร่าง ซึ่งมีร่างของพรรคประชาชน แต่ไม่ทราบความชัดเจนกรณีที่เป็นข่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอีก 2-3 ร่างหรือไม่ จึงต้องรอดูว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังรอความชัดเจนทั้งร่างที่เสนอโดยพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยให้ครบถ้วน ก่อนบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเพิ่มเติมในเรื่องเดียวกันเพื่อพิจารณาพร้อมกัน และคาดว่าจะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ตามที่กำหนดว่าหากยื่นแล้วต้องบรรจุในระเบียบวาระไม่เกิน 15 วัน

 

ส่วนร่างของพรรคประชาชนที่ส่งมาแล้วจะต้องทำประชามติหรือสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่นั้น วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า หากมีการแก้ไขทั้งฉบับหรือแก้ไขอำนาจขององค์กรอิสระหรือของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะลดหรือเพิ่มอำนาจ ก็ต้องทำประชามติและถามความคิดเห็นประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ขณะที่เรื่องการแก้ไขมาตรฐานจริยธรรมจะต้องพิจารณาว่าแก้ไขเป็นอย่างไร เนื่องจากมีทั้งประเด็นที่ต้องทำประชามติและไม่ต้องทำ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับสาระสำคัญ

 

หาก สว. แก้กระบวนการประชามติ ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่

 

นอกจากนี้ วันมูหะมัดนอร์ยังกล่าวถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แก้ไขให้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติกลับมาใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น หรือ Double Majority โดยระบุว่าต้องรอดูว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไร เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรเคยแก้ไขไปแล้ว หาก สว. คิดเห็นไม่เหมือนกันจะต้องแก้ไขอีกครั้งโดยการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ส่วนผลจะออกมาอย่างไรก็ให้เป็นไปตามนั้น

 

ส่วนจะส่งผลต่อกระบวนการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือไม่นั้น วันมูหะมัดนอร์ระบุว่า หากร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติก่อน ก็คงล่าช้าและไม่ทราบว่าจะเสร็จทันในสมัยประชุมนี้หรือไม่ ซึ่งไม่อยากพูดไปก่อนล่วงหน้า เพราะหากมีการแก้ไขกระบวนการทำประชามติ กระบวนการอื่นๆ ก็จะล่าช้าไปด้วย

 

“จะช้าหรือไม่ช้าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามีการแก้ไขกฎหมายประชามติ เวลาที่ดำเนินการมาทั้งหมดก็ใช้ไม่ได้ ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่ขณะนี้ความเห็นร่วมกันเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่มีข้อยุติ ส่วนจะทันในสมัยรัฐบาลนี้หรือไม่นั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ” วันมูหะมัดนอร์กล่าว

 

วันมูหะมัดนอร์ระบุด้วยว่า ความล่าช้าของกระบวนการขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย เช่น ประเด็นที่จะมีการทำประชามติเป็นประโยชน์หรือน่าสนใจสำหรับประชาชนหรือไม่ พร้อมยกตัวอย่างการเลือกตั้ง สส. ที่มีประชาชนมาใช้สิทธิเกิน 70% เพราะได้รับความสนใจจากประชาชน ขณะที่การทำประชามติ ไม่รู้ว่าประชาชนสนใจหรือไม่ ยังไม่รู้ว่าจะถามอะไรและจะคุ้มค่ากับที่ประชาชนต้องเสียเวลามาหรือไม่ หากแก้ไขแล้วไม่ถูกใจ ประชาชนก็อาจมองว่าไม่ออกมาใช้สิทธิดีกว่า เพราะทำให้เสียโอกาส เสียเวลา และเสียงบประมาณ แต่เรื่องนี้เดาล่วงหน้าไม่ได้เพราะยังไม่เกิดขึ้น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X