×

คน-ป่า-ชุมชน เรียนรู้และอนุรักษ์ป่าชายเลนอย่างยั่งยืนที่ภูเก็ต จากการสนับสนุนงบประมาณของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า

โดย THE STANDARD TEAM
17.06.2023
  • LOADING...
ป่าชายเลน ภูเก็ต

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยการให้งบประมาณเพื่อจัดตั้งโครงการศูนย์อนุรักษ์และฟื้นฟูปูแสม ปูดำ สู่การจัดการธรรมชาติ ที่จังหวัดภูเก็ต
  • จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และศึกษากระบวนการที่เชื่อมโยงไปสู่การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น การประกอบอาชีพ และเป็นแหล่งอาหารในชุมชนอย่างยั่งยืน
  • กองทุนพัฒนาไฟฟ้ามีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนให้มีการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น และพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นรอบโรงไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า

กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

 

โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการศูนย์อนุรักษ์และฟื้นฟูปูแสม ปูดำ สู่การจัดการธรรมชาติ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติที่ตั้งอยู่ในชุมชนป่าชายเลนคลองเกาะผี อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(3) เพื่อนำไปฟื้นฟูสภาพธรรมชาติป่าชายเลนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ สามารถสร้างแหล่งอาหาร สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้คนในชุมชนป่าชายเลนคลองเกาะผีอย่างยั่งยืน

 

ศูนย์อนุรักษ์และฟื้นฟูปูแสม ปูดำ สู่การจัดการธรรมชาติ

 

มนตรี พรผล ผู้อำนวยการ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า โรงเรียนตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 70 ไร่ หมู่ที่ 1 ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ในอดีตก่อนมีการก่อสร้างโรงเรียน พื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าชายเลนที่มีทรัพยากรธรรมชาติ มีพรรณไม้นานาชนิด เช่น โกงกาง การบูร ที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านประกอบอาชีพประมงจับสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา และรายได้ที่สำคัญของชุมชนบริเวณนี้มาจากการจับปูแสม ปูดำ ที่มีอยู่จำนวนมากในป่าชายเลนคลองเกาะผี ต่อมาสภาพธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เริ่มหมดไป สัตว์น้ำลดน้อยลง โดยเฉพาะปูแสม ปูดำ เรียกได้ว่าเกือบจะสูญพันธุ์ก็ว่าได้ ต่อมาเทศบาลนครภูเก็ตมอบที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงเรียน จึงทำให้พื้นที่ภายในโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ตฯ มีป่าโกงกางอยู่ในบริเวณโรงเรียน และยังมีป่าชายเลนคลองเกาะผีอยู่บริเวณด้านหลังโรงเรียน และด้วยป่าชายเลนมีมาก่อนที่โรงเรียนจะสร้างขึ้น เราจึงมุ่งพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนในโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ป่าชายเลนคลองเกาะผีแห่งนี้ ให้เป็น ‘ศูนย์อนุรักษ์และฟื้นฟูปูแสม ปูดำ สู่การจัดการธรรมชาติป่าชายเลนอย่างยั่งยืน’ มีนวัตกรรมและวิธีการสอนโดยบูรณาการงานสวนพฤกษศาสตร์และศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช สนองพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นแหล่งเรียนรู้จากโรงเรียนสู่ชุมชน

 

 

แหล่งเรียนรู้เพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรอย่างยั่งยืน

 

โรงเรียนได้รับรางวัลกองทุนพัฒนาไฟฟ้าอวอร์ด ประจำปี 2565 ระดับโครงการชุมชนในพื้นที่ประกาศ ด้านสิ่งแวดล้อมดีเด่น รางวัลชนะเลิศ โครงการศูนย์อนุรักษ์และฟื้นฟูปูแสม ปูดำ สู่การจัดการธรรมชาติ โดยโครงการนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลน ระบบนิเวศของป่า และสัตว์น้ำตามธรรมชาติ รวมถึงอนุรักษ์พันธุ์ปลาและพันธุ์ปูที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สร้างบ้านปลา-บ้านปูบริเวณป่าชายเลน ฟื้นฟูทรัพยากรชุมชนปูแสม ปูดำ เชื่อมโยงสู่การจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้แก่นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และครู โดยโรงเรียนได้วางแผนเพื่อพัฒนา ปลูกจิตสำนึกให้นักเรียนรักสิ่งแวดล้อม และสร้างอาชีพให้กับชุมชน เมื่อโรงเรียนเป็นศูนย์อนุรักษ์และฟื้นฟูปูแสม ปูดำ ก็จะเกิดการขยายพันธุ์สู่ภายนอก ทำให้ชุมชนเกิดรายได้ มีอาชีพ โดยให้นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม

 

 

โครงการศูนย์อนุรักษ์และฟื้นฟูปูแสม ปูดำ สู่การจัดการธรรมชาตินี้ โรงเรียนได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า จำนวน 473,000 บาท ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 เพื่อก่อสร้างสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน (Walkway) ในการศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนสู่จุดเรียนรู้ธรรมชาติป่าชายเลน การจัดทำคอนโด (บ้านอนุรักษ์พันธุ์ปู พันธุ์ปลา) และจัดทำแหล่งเรียนรู้ให้กับชาวบ้านในชุมชน มีการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์เพื่อจัดทำพื้นที่อนุรักษ์ปูแสม ปูดำ และจัดทำป้ายบอร์ดต่างๆ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวพันธุ์ไม้ ลักษณะพันธุ์ปู เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วย

 

 

กองทุนพัฒนาไฟฟ้า และภารกิจของกองทุน

 

ฤดี ภริงคาร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า ‘กองทุนพัฒนาไฟฟ้า’ มีลักษณะเป็นทุนหมุนเวียนที่ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นภายในสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนให้มีบริการไฟฟ้าไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง, กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น, พัฒนาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีการประกอบกิจการพลังงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยคำนึงถึงความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า โดยเงินกองทุนฯ ให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการตามมาตรา 97(1) – มาตรา 97(6) แห่งพระราชบัญญัติฯ ดังนี้ 

 

  1. เพื่อการชดเชยและอุดหนุนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส หรือเพื่อให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง หรือเพื่อส่งเสริมนโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค 
  2. เพื่อการชดเชยผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งต้องจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าแพงขึ้น จากการที่ผู้ได้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้ากระทำการฝ่าฝืนมาตรา 87 วรรคสอง 
  3. เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า 

 

มนตรี พรผล ผู้อำนวยการ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ตฯ (ซ้าย) / ฤดี ภริงคาร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ขวา)

 

  1. เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
  2. เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า 
  3. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนฯ 

 

โดยการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดย กกพ. ตามกรอบนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งสำนักงาน กกพ. จะทำหน้าที่เป็นผู้รับเงิน จ่ายเงิน เก็บรักษา และบริหารจัดการเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามระเบียบที่ กกพ. กำหนด โดยแยกออกจากงบประมาณของสำนักงาน กกพ. และมีการตรวจสอบการดำเนินงานโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน 

 

กองทุนพัฒนาไฟฟ้า กับโครงการเพื่อชุมชน

 

โครงการศูนย์อนุรักษ์และฟื้นฟูปูแสม ปูดำ สู่การจัดการธรรมชาติ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ตฯ มีการดำเนินงานของโครงการสอดคล้องตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(3) เพื่อการพัฒนาชุมชนและฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า และเป็นโครงการที่ทำให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าชายเลน ทั้งยังมีความโดดเด่นในการบูรณาการความรู้จากสาขาต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านการอนุรักษ์วิถีชีวิตของชุมชน และจัดการขยะในพื้นที่ได้ดียิ่งขี้น กองทุนพัฒนาไฟฟ้า จังหวัดภูเก็ต 1 นำส่งโครงการศูนย์อนุรักษ์และฟื้นฟูปูแสม ปูดำ สู่การจัดการธรรมชาติ เข้าประกวด กองทุนพัฒนาไฟฟ้าอวอร์ด ประจำปี 2565 ระดับโครงการชุมชนในพื้นที่ประกาศ ด้านสิ่งแวดล้อมดีเด่น ได้รับรางวัลชนะเลิศด้วยคะแนนเต็ม 100 คะแนน ซึ่งเป็นโครงการที่กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงาน กกพ. ภาคภูมิใจโครงการหนึ่ง สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้ดำเนินโครงการรายอื่นๆ ทั้งในด้านของแนวคิดการพัฒนาที่บูรณาการความรู้หลากหลายด้าน ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม สามารถฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์, ด้านเศรษฐศาสตร์ จำนวนปูแสม ปูดำมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และด้านสังคม เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนและผู้ที่สนใจ โดยมีการดำเนินงานโครงการที่เป็นระบบในทุกกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มโครงการจนกระทั่งสิ้นสุดโครงการ อีกทั้งยังจัดทำแผนการดำเนินงานภายหลังสิ้นสุดโครงการ ด้วยการบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนให้นักเรียนได้เข้ามาเรียนรู้ธรรมชาติของป่าชายเลน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

 

โครงการศูนย์อนุรักษ์และฟื้นฟูปูแสม ปูดำ สู่การจัดการธรรมชาติ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ตฯ เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของโครงการเพื่อชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงาน กกพ. ด้วยการนำเงินที่จัดเก็บจากผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า นำมาใช้พัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ตามมาตรา 97(3) แห่งพระราชบัญญัติฯ ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันได้อนุมัติเงินสนับสนุนการดำเนินโครงการต่างๆ ไปแล้วกว่า 70,000 โครงการ รวบงบประมาณกว่า 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าที่ครอบคลุม 7 ด้าน ได้แก่ สาธารณสุข, การศึกษา, เศรษฐกิจชุมชน, สิ่งแวดล้อม, สาธารณูปโภค, พลังงานชุมชน และด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน โดยโครงการที่ขอสนับสนุนจำเป็นต้องผ่านการทำประชาคมของคนในพื้นที่ เพื่อโครงการนั้นจะเป็นโครงการที่มาจากความต้องการของชุมชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X