×

เมื่อการกลับมาของ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ ไม่ใช่ฉากจบของความขัดแย้ง แต่เป็นเชื้อไฟในสงครามครั้งใหม่

โดย THE STANDARD TEAM
24.06.2024
  • LOADING...

“ผลการตรวจสอบพบว่ามีความขัดแย้งและความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความขัดแย้งระหว่างตำรวจระดับสูง กลาง เล็ก ทุกระดับทุกฝ่าย

 

“เรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันกับบุคคล 2 ท่าน คือ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.

 

“ตัวของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ได้รับคำสั่งให้กลับไปปฏิบัติงานที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน แต่ในวันเดียวกันนั้นมีการตั้งกรรมการเพื่อสอบสวนทางวินัยและตามมาด้วยคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

 

“ส่วนกรณีของ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สมควรที่จะส่งกลับไปปฏิบัติราชการตามหน้าที่เดิม เพราะวันนี้ไม่มีอะไรจะสอบสวนแล้ว ส่วนเรื่องคดีให้เป็นไปตามสายงาน”

 

ส่วนหนึ่งของถ้อยแถลงจาก วิษณุ​ เครืองาม​ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี​ ที่รับภารกิจมาจากนายกฯ ให้มาชี้แจงผลสอบคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จและข้อกฎหมาย กรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567

 

ในการแถลงข่าวราว 35 นาที 1 ในประเด็นสำคัญที่อยากบ่งบอกว่าจบสิ้นการสอบสวนความขัดแย้งแล้วคือ ให้ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กลับคืนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

นี่จะใช่คำตอบสุดท้ายของฉากความขัดแย้งที่มีมายาวนานกว่า 10 ปี จนนำไปสู่การปรองดองตามความหวังของนายกฯ หรือไม่

 

THE STANDARD พาไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ในระยะเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์

 

ความเห็นกฤษฎีกาไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าถูกหรือผิด

 

ให้หลังเพียง 2 วัน (22 มิถุนายน) นับตั้งแต่มีการแถลงของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มีการเปิดเผยประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็น 10 ต่อ 0 เรื่องคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแก้ไขหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง’

 

ประเด็นนี้ทำให้ พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ออกมาให้ข้อมูลว่า ความเห็นของกฤษฎีกาตามที่แถลงเป็นเพียงข้อสังเกตเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากการสอบถามไปก่อน จึงขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของแต่ละหน่วยงานว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้

 

ฉะนั้นการจะบอกว่า ‘คำสั่งของราชการ’ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จะต้องรอการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ซึ่งมีสถานะเทียบเท่าศาลปกครองขององค์กรตำรวจ

 

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าอนุกรรมการข้าราชการตำรวจระบุว่า คำสั่งออกจากราชการของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ซึ่งลงนามโดย พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ณ ขณะนั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

ครั้งนี้จึงถือเป็นการโต้ตอบครั้งแรกระหว่างฝ่ายคณะกรรมการกฤษฎีกาและฝ่ายของข้าราชการตำรวจ ที่มองเรื่องเดียวกันไม่เหมือนกัน

 

ฟ้องจนกว่าจะได้กลับสำนักงานตำรวจฯ

 

4 วันต่อมา (24 มิถุนายน) พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ปรากฏตัวที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ตามนัดหมายในคดีฟ้องหมิ่นประมาท พล.ต.ต. จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง

 

โดย พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระบุว่า ก่อนหน้านี้ที่เคยบอกว่าจะไม่มีการฟ้องร้องใดๆ หากกลับเข้าสู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว การที่ยังเดินหน้าฟ้องร้อง ณ วันนี้ที่ยังไม่ได้กลับเข้าสู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือเป็นการทวงคืนความยุติธรรมจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาก่อนหน้า

 

และขอยืนยันว่าตนเองยังคงเป็นตำรวจ ยังคงเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีสิทธิ์ในการเข้าร่วมประชุม ก.ตร. ซึ่งมีรายงานว่าจะมีการพิจารณาคำสั่งออกจากราชการ แต่ที่ไม่เข้าประชุมเป็นเพราะให้เกียรติ

 

ประเด็นคำสั่งให้ออกจากราชการที่เกิดขึ้น พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้รอดูว่าหัวหน้าองค์กรตำรวจอย่างนายกรัฐมนตรีจะทำอย่างไรต่อไป เพราะหากไม่มีการดำเนินการ ปล่อยปละละเลย จะเดินหน้าฟ้องนายกรัฐมนตรีฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน

 

และในวันเดียวกันในช่วงบ่าย พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ได้เดินทางไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้พิจารณาการลงนามในคำสั่งออกจากราชการ ซึ่งขณะนั้นคือ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ว่ากระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นความประมาท หรือเจตนากลั่นแกล้ง

 

ซึ่งฝั่งของ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าเป็นสิทธิ์ของ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ที่จะมองว่าเกิดความไม่เป็นธรรมกับตัวเองและจะฟ้องการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองในขณะนั้น ส่วนตัวไม่ได้กังวลว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นการเช็กบิล พร้อมกล่าวถึงสัจธรรมว่า

 

“ทุกคนเกิดมาต้องตาย ไม่มีใครหลุดพ้น ความตายเป็นธรรมะอย่างหนึ่ง ดังนั้นเมื่อความตายมาเยือน เราก็ต้องพร้อมที่จะรับ แต่เราอยู่บนพื้นฐานของความสุจริตใจและความโปร่งใส ปฏิบัติตามหลักนิติธรรมเพื่อองค์กร”

 

ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นอีกหนึ่งอาฟเตอร์ช็อกหลังการหวนคืนองค์กรตำรวจของ ผบ.ตร. ที่แม้จะยังไม่ปรากฏตัวอย่างเป็นทางการต่อสื่อมวลชนหรือให้สัมภาษณ์ใดๆ แต่ผู้ใต้บังคับบัญชากลับออกโรงมาประกาศสงครามกัน

 

ฉากทัศน์หลังจากนี้ของ 1 ผบ.ตร. กับอีก 2 รอง ผบ.ตร.

 

การกลับมาของ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ ตามความมุ่งหวังของนายกรัฐมนตรีคือให้กลับมาจัดการและสะสางภารกิจในฐานะเป็นหัวเรือใหญ่ขององค์กรตำรวจที่ต้องบริหารคนกว่า 2 แสนคน นายกฯ คาดหวังเพียงว่าหลังจากที่ส่งตัวกลับจะเกิดความปรองดองในหน้าที่การงาน แต่ไม่ได้มุ่งหวังถึงการปรองดองความสัมพันธ์ส่วนตัว

 

หลังจากที่ผ่านพ้นการสอบสวนของคณะกรรมการฯ ที่นายกฯ ตั้งขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมมองว่าการกลับมาของ ผบ.ตร. ครั้งนี้ เกิดขึ้นแบบมี ‘ดีล’ เป็นไปได้ดังต่อไปนี้

 

  • พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กลับมาเพื่อลาออกตามขั้นตอน คงไว้ซึ่งความสง่างามของตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพียงเท่านั้น
  • พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กลับมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนเองจนครบวาระในเดือนกันยายน (เกษียณ)
  • พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กลับมาเพื่อแก้ไขคำสั่งออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งลงนามโดย พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ และสอบสวนการออกคำสั่งว่าเป็นไปถูกหรือไม่
  • พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กลับมาเพื่อยกเลิกคำสั่งออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งลงนามโดย พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ และให้ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ กลับมาปฏิบัติหน้าที่ดังเดิม

 

เป็นเรื่องที่ต้องตามต่อว่า ‘ดีล’ ไหนที่จะเกิดขึ้นจริง และจะมีปฏิกิริยาลูกโซ่ใดตามมา ซึ่งหลังจากที่ดีลนั้นเกิดขึ้นแล้วเราจึงจะมาวิเคราะห์ต่อไปว่า ผลประโยชน์ของดีลนั้นจะเกิดขึ้นกับใคร ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าประโยชน์ไม่เกิดกับประชาชนผู้เสียภาษีหล่อเลี้ยงองค์กร 

 

เพราะนอกจากภาพความขัดแย้งที่นำมาซึ่งความรู้สึกเสื่อมศรัทธาแล้ว ยังไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเลยตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่โยก 2 นายพลออกไปจากรั้วปทุมวัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising