×

‘พิพัฒน์’ รัฐมนตรีแรงงาน ยันไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทแบบกระชาก พร้อมขอเจรจาไตรภาคี 3 ฝ่าย ในเดือน พ.ย. ก่อนเสนอเป็นของขวัญปีใหม่

15.09.2023
  • LOADING...
พิพัฒน์ รัชกิจประการ

‘พิพัฒน์ รัชกิจประการ’ ย้ำหากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องมากกว่าเงินเฟ้อ ขอหารือ 3 ฝ่าย ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 ก่อนเคาะเป็นของขวัญปีใหม่ ยืนยันค่าแรง 400 บาทต่อวัน ไม่ขึ้นแบบกระชาก แต่เป็นแบบ Pay by Skill พร้อมผลักดันกระทรวงแรงงานให้เป็นหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจ ขณะที่ ส.อ.ท. ชี้หากขึ้นทันทีจะกระทบ SMEs และขณะนี้อุตสาหกรรมไทยกำลังได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและอินโดนีเซียยังมีแต้มต่อสูง

 

วันที่ 15 กันยายน พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเด็นด้านแรงงานและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งในวันแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่าจะปรับขึ้น

 

อย่างไรตาม ที่ได้มีการหาเสียงในฐานะกระทรวงที่ดูแลเรื่องดังกล่าว จึงเร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ทั้งลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ เพื่อหาแนวทางให้ชัดเจนขึ้น และเพื่อให้ทุกฝ่ายต้องยอมรับได้ ทั้งนี้ คาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 จะมีข้อสรุป 

 

ต้องดูอัตราเงินเฟ้อ

 

ทั้งนี้ หากจะต้องปรับขึ้นค่าแรง ต้องติดตามตัวเลขเงินเฟ้อของไทยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยว่า ณ ขณะนั้นตัวเลขเงินเฟ้อจะอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์ โดยค่าแรงขั้นต่ำจะต้องปรับขึ้นให้สูงกว่าเงินเฟ้อ เมื่อพิจารณาตามความเหมาะสมแล้ว จะประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ปี 2567 ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานช่วงใกล้สิ้นปีนี้ 

 

“นโยบายค่าแรง 400 บาทต่อวัน ยืนยันว่าจะไม่ปรับฐานเป็นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะจะกระทบนายจ้าง และภาค SMEs ลดลง แต่จะพิจารณาตามทักษะความสามารถ (Pay by Skill) ให้กลุ่มแรงงานที่พัฒนาทักษะสูงด้วย โดยจะหารือ 3 ฝ่ายอีกครั้ง เพื่อลงรายละเอียดว่าจะเป็นแรงงานในภาคส่วนใด อย่างไร” 

 

นอกจากประเด็นการปรับขึ้นค่าแรง ยังได้หารือถึงการผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย และการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว และการผลิตและพัฒนากำลังคน รวมถึงเตรียมผลักดันกระทรวงแรงงานให้เป็นหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างภาครัฐ-เอกชน ในการขับเคลื่อนนโยบายด้านแรงงานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น 

 

ห่วงกระทบธุรกิจ SMEs 

 

ด้าน เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอชื่นชมรัฐบาลที่เมื่อเข้ามาทำงานแล้วมีนโยบายเร่งด่วน ช่วยเหลือปากท้องประชาชนได้ทันทีทั้งค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน ส่วนการหารือกับพิพัฒน์ในวันนี้ ส.อ.ท. มีข้อเสนอหลายเรื่อง โดยเน้นอุตสาหกรรมที่ต้องการเพิ่มทักษะให้มีประสิทธิภาพ และหาทักษะใหม่เพื่อหารองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนประเด็นค่าแรงขั้นต่ำนั้น รัฐบาลต้องมองถึงอัตราเงินเฟ้อ แต่สำหรับค่าแรงงานที่พัฒนาทักษะแล้ว ปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างอยู่ที่ 600-800 บาทต่อวัน ตรงนี้ภาคเอกชนเห็นด้วย 

 

“ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันอยู่ที่อัตราเริ่มต้น 328 บาท สูงสุด 354 บาท หากมีการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาท จากฐานต่ำสุด ภาคเอกชนมองว่าจะเป็นการปรับขึ้นค่าแรงสูงถึง 19-20% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก ทำให้ต้นทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นถูกกระชากอย่างรุนแรง กระทบธุรกิจ SMEs ให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น และอาจถึงขั้นปิดกิจการได้ จึงไม่ควรปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน และยังไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง”

 

อุตสาหกรรมไทยเจอคู่แข่งรอบด้านและภูมิรัฐศาสตร์

 

นอกจากนี้ เกรียงไกรยังได้นำเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) ในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทย เพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม

 

“อุตสาหกรรมไทยกำลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ภูมิรัฐศาสตร์ และต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล เราพบว่าการจะทำให้อุตสาหกรรมอยู่รอดอย่างที่เราทราบกัน ประสิทธิภาพแรงงานไทยในกลุ่มอาเซียนยังไม่สามารถเทียบเท่าเวียดนามและอินโดนีเซียได้ เราต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานไทยให้ได้ก่อน เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ เราต้องทำงานเป็นปาท่องโก๋กัน เพราะอุตสาหกรรมจะเติบโตได้ต้องมีกระทรวงแรงงานคอยสนับสนุน” เกรียงไกร ย้ำ

 

ทั้งนี้ การยกเครื่องภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดขณะนี้ ดังนี้

 

  • เปลี่ยนจาก Original Equipment Manufacturer – OEM (ผู้รับจ้างผลิต) เป็น Original Design Manufacturer – ODM (ผู้รับจ้างที่ออกแบบและผลิตสินค้าให้กับบริษัท) 
  • Original Brand Manufacturer – OBM (ผู้ผลิตภายใต้รูปแบบและตราสินค้าของตนเอง) เปลี่ยนจากใช้แรงงานเป็นใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เครื่องจักร และระบบ Automation 
  • เปลี่ยนจากผลิตเพื่อกำไรเป็นการผลิตควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม 
  • เปลี่ยนจากแรงงานไม่มีฝีมือ (Unskilled Labor) เป็นแรงงานที่มีฝีมือขั้นสูง (High-skilled Labor) ผ่านการเสริมสร้างทักษะ
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X