การนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดินโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องการประสานงานและงบประมาณที่ต้องใช้
ก่อนหน้านี้ THE STANDARD เคยนำเสนอบทความที่รวบรวมปัจจัยต่างๆ มาประเมินความเป็นไปได้ในกระบวนการนำสายไฟและสายสื่อสารลงดินมาแล้วครั้งหนึ่ง (อ่านบทความก่อนหน้าได้ที่ https://thestandard.co/lead-possibility-wires-communication-cables-to-ground/)
คราวนี้เราจะมาฉายภาพให้เห็นว่า ‘ตัวละคร’ ที่สำคัญๆ และเกี่ยวข้องกับกระบวนการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดินนั้นมีหน่วยงานใดบ้าง และขั้นตอนหลักๆ ในการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน ตลอดจนการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานนั้นเป็นอย่างไร
- เริ่มต้นที่การนำสายไฟฟ้าลงดินกันก่อน โดยในเขต กทม. ผู้รับผิดชอบทั้งในการสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าและนำสายลงดิน ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งมีการดำเนินการไปในถนนหลายสายแล้ว
- กรณีแรกคือ เมื่อ กฟน. ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย จะประสานงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งจะประสานงานต่อไปยังผู้ประกอบการด้านสื่อสารและโทรคมนาคมรายต่างๆ เช่น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน เคเบิลทีวี ค่ายโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้นำสายสื่อสารลงดินด้วย
- อย่างไรก็ตาม สายสื่อสารที่จะนำลงดินนั้นจะต้องร้อยไว้ใน ‘ท่อร้อยสายสื่อสาร’ ซึ่งในปัจจุบันท่อที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ 1. ท่อเดิมของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ในบางพื้นที่ของ กทม. ซึ่งมีการนำสายสื่อสารร้อยเข้าไปเพื่อใช้งานแล้ว แต่อาจจะเป็นเทคโนโลยีเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ซึ่งแหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. คาดการณ์กับ THE STANDARD ว่าท่อที่มีอยู่มากกว่าร้อยละ 90 น่าจะเป็นของ NT และ 2. ท่อของหน่วยงานอื่นๆ อาทิ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) หรือท่อของผู้ประกอบกิจการด้านสื่อสารและโทรคมนาคมบางราย ซึ่งสามารถขออนุญาตวางท่อเป็นของตนเองได้ เป็นต้น แต่แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. ระบุว่าที่ผ่านมาเอกชนจะขออนุญาตได้ค่อนข้างยาก
- ส่วนอีกกรณีหนึ่งคือ หากในพื้นที่ใดมีท่อร้อยสายสื่อสารอยู่ใต้ดินแล้ว แม้ว่า กฟน. อาจจะยังไม่มีแผนจะนำสายไฟลงดิน กสทช. เองก็จะประสานกับผู้ประกอบการนำสายสื่อสารลงดินก่อนได้
- อีกหนึ่งตัวละครที่สำคัญของเรื่องนี้ คือ KT ซึ่งเป็นวิสาหกิจของ กทม. เดิมที KT ก็มีแผนจะสร้างท่อร้อยสายสื่อสารเพื่อให้บริการด้วยเช่นกัน แต่เพราะ KT กำหนดราคาค่าเช่าท่อไว้สูงในยุคก่อนหน้านี้ ซึ่งสูงกว่าทั้งอัตราค่าพาดสายสื่อสารบนเสาไฟและอัตราค่าเช่าท่อร้อยสายสื่อสารของ NT ทำให้ยังไม่มีผู้ประกอบการด้านสื่อสารและโทรคมนาคมรายใดมาใช้บริการท่อของ KT เลย
- แหล่งข่าวจาก KT ระบุกับ THE STANDARD ว่า ล่าสุด KT สร้างท่อไปได้เพียง 9.9 กิโลเมตรในเวลา 2 ปีกว่า จากที่วางแผนไว้ราว 2,400 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก โดยในการสร้างท่อเกือบ 10 กิโลเมตรดังกล่าวใช้งบประมาณไปกว่าร้อยล้านบาท ซึ่งถือว่าต้นทุนการสร้างท่อต่อกิโลเมตรนั้นสูงมาก และเมื่อขาดความต้องการใช้จากภาคเอกชน ทำให้เกิดคำถามต่อการลงทุนของ KT ตามมา ซึ่งตามมาด้วยความล่าช้าในการก่อสร้าง
- นอกจากนี้ แหล่งข่าวจาก KT ยังยอมรับว่า ในอดีต KT ไม่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ NT ได้ง่ายนัก เนื่องจากไม่ใช่การประสานงานระหว่างรัฐและรัฐโดยตรง ซึ่งเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ ทำให้มีบางพื้นที่ที่พบว่ามีทั้งท่อของ KT และ NT อยู่ในพื้นที่เดียวกัน
- และมีรายงานว่าในช่วงก่อนหน้านี้ที่ กทม. ให้สิทธิแก่ KT ในการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารก็ทำให้ช่วงนั้น NT ประสบกับอุปสรรคมากขึ้นในการขออนุญาตสร้างท่อร้อยสายสื่อสารด้วย
- กลับมาที่กระบวนการอีกครั้ง สมมติว่าถ้าไม่มีปัญหาตามที่กล่าวไปก่อนหน้า เมื่อผู้ประกอบกิจการสื่อสาร-โทรคมนาคมจะนำสายสื่อสารลงดิน ผู้ประกอบกิจการจะต้องประสานและเจรจาดีลการใช้งานท่อร้อยสายสื่อสารกับหน่วยงานเจ้าของท่อ จากนั้นจึงทำแผน และดำเนินการร้อยสายสื่อสารลงดิน ซึ่งแหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. ระบุว่าส่วนใหญ่ผู้ประกอบกิจการจะเป็นผู้ดำเนินการเอง
- ขั้นสุดท้ายจึงจะเป็นการรื้อถอนสายบนเสาไฟฟ้า ซึ่งดำเนินการโดยผู้ประกอบกิจการ และการหักเสาไฟฟ้าหากจุดนั้นๆ ไม่มีสายเหลืออยู่บนเสาอีกต่อไปแล้ว ซึ่งดำเนินการโดยการไฟฟ้านครหลวง
- แล้วทาง กทม. เกี่ยวอะไรกับกระบวนการนี้?
คำตอบที่เราได้รับคือฟุตปาธเป็นของ กทม. การเดินท่อก็ต้องมาขออนุญาต กทม. ซึ่งแหล่งข่าวจาก KT ชี้ว่าจุดนี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจในอดีตได้ว่า KT จะสามารถสร้างท่อได้ง่ายเพราะเป็นวิสาหกิจของ กทม. แต่ในทางปฏิบัตินั้น ความง่ายนี้ไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบกิจการสื่อสาร-โทรคมนาคมได้รับประโยชน์อะไร เพราะหากต้นทุนในการเช่าท่อสูงก็ไม่ดึงดูดใจให้ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวมาเช่าอยู่ดี ซึ่งบทบาทของ กทม. ในขณะนี้อาจหมายถึงการเป็น ‘ผู้อำนวยความสะดวก’ ในการอนุมัติเปิดหน้าดินเพื่อฝังท่อ และกำกับดูแลให้การคืนสภาพฟุตปาธเมื่อดำเนินการเสร็จเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า แม้ว่าที่ผ่านมาในกระบวนการจะมีการประสานงานกันภายในระหว่างหน่วยงานกันอยู่ แต่อาจจะเป็นเพียงแค่การประสานงานกันเป็นรายกรณี โดยยังไม่ได้เป็นระบบมากนัก
แหล่งข่าวจาก KT ระบุกับ THE STANDARD ว่า ขณะนี้มีการสั่งให้ชะลอโครงการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของ KT ไว้ก่อน เนื่องจากมีการหารือกันแล้วระหว่าง ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นอย่าง กฟน., กสทช. และมีข้อสรุปออกมาแล้ว ทำให้ KT กำลังรอรับคำสั่งจาก กทม. เรื่องการดำเนินการต่อไปอยู่
ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. ระบุว่า นอกจากแผนเรื่องการนำสายสื่อสารลงดินที่เรารายงานไปก่อนหน้าแล้ว ยังมีแผนในการจัดระเบียบสายสื่อสารที่ยังไม่สามารถนำลงดินได้ โดย กฟน. จะติดตั้งไม้คอนไว้บนเสาไฟฟ้าก่อน แล้วผู้ประกอบกิจการจะนำสายสื่อสารใหม่ไปไว้บนไม้คอน เพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่บ้านคน จากนั้นสายใดที่ไม่อยู่ในไม้คอนก็จะรื้อถอนทิ้งทั้งหมด ซึ่งจะทำให้จำนวนสายลดน้อยลงไปเป็นอย่างมาก (แต่เป็นคนละระดับกับสายไฟ) โดยมีแผนจะดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารในส่วนนี้ราว 800 กิโลเมตรในปีนี้
ซึ่งเรื่องงบประมาณจะแบ่งเป็นการติดตั้งไม้คอน มี กฟน. เป็นผู้ดำเนินการ, การติดตั้งสายใหม่บนไม้คอน ซึ่งผู้ประกอบการจะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนอีกขั้นตอนคือการรื้อถอนสายเก่านั้นแม้ กฟน. จะเป็นผู้ดำเนินการ แต่สามารถมาเบิกค่าดำเนินการจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) ได้
ส่วนการนำสายสื่อสารลงดิน แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่าเฉพาะในปี 2564 ก็มีการดำเนินการไปแล้วราว 30-40 กิโลเมตร และปีนี้ก็มีการดำเนินการไปแล้วส่วนหนึ่งเช่นกัน และการสนับสนุนงบประมาณในการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินเพิ่มนั้น กสทช. กำลังรอกระทรวงดีอีเอสหารือกับ กทม. ก่อนว่า กทม. จะให้หน่วยงานใดเป็นผู้ดำเนินการสร้างท่อดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานที่จะดำเนินการสร้างก็ต้องประเมินว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าใด ก่อนจะเสนอต่อ กสทช. เพื่อขอใช้กองทุน USO ซึ่งบอร์ดของ กสทช. จะต้องเป็นผู้พิจารณาคำขอใช้เงินจากกองทุนดังกล่าวว่าจะเห็นชอบหรือไม่ต่อไป โดยอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
ท้ายสุด แหล่งข่าวจาก KT ให้ความเห็นว่าทางออกที่เป็นอุดมคติที่สุดของการทำงานเรื่องนี้ คือการทำงานไปพร้อมกันและร่วมกันระหว่างทุกหน่วยงาน โดยมี กทม. อำนวยการ ก็จะได้สิ่งที่สมประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย ทั้ง กทม., กฟน., กสทช. ตลอดจนผู้ประกอบการและหน่วยงานอื่นๆ