การเกิดขึ้นของโควิดกลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หนึ่งในภาพสะท้อนที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องคือ ตลาดควิกคอมเมิร์ซ (Quick Commerce) ที่ยังคงได้รับความนิยม โดยได้รับอานิสงส์จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
เหล่านี้ทำให้การซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มแบบออนดีมานด์กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ สะท้อนผ่านยอดสั่งซื้อสินค้าผ่านบริการแกร็บมาร์ทที่ยังคงเติบโตขึ้น โดยเฉพาะในสินค้าประเภทผักสดและผลไม้ที่เติบโตขึ้นกว่า 10% ในไตรมาสสอง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ซึ่งแม้ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลสัดส่วนลูกค้าได้ แต่แกร็บก็ย้ำว่านี่เป็นบริการที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด
“ที่ผ่านมาแกร็บมาร์ทเน้นใช้กลยุทธ์ Moment Marketing เพื่อทำการตลาดและสร้างดีมานด์ในช่วงเทศกาล วันสำคัญ หรือโมเมนต์พิเศษต่างๆ โดยใช้ส่วนลดและโปรโมชันเพื่อกระตุ้นให้เกิดการซื้อแบบทันที (Impulse Buying)” จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพาณิชย์และการตลาด แกร็บ ประเทศไทย กล่าว
จากการศึกษาพฤติกรรมการจับจ่ายและอินไซต์ของผู้ใช้บริการแกร็บมาร์ทตลอดทั้งวันพบว่า ผู้ใช้บริการมีการซื้อสินค้าที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา โดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลัก
1. Fresh Start Morning (ระหว่างเวลา 05.00-09.00 น.)
- สินค้าที่ขายดีในช่วงเช้าตรู่ ได้แก่ ไข่ไก่ นมสด และนม UHT รวมถึงกาแฟกระป๋อง เพื่อใช้เป็นอาหารเช้าหรือนำไปปรุงอาหารเมนูง่ายๆ นอกจากนี้ ดอกไม้สดและพวงมาลัยก็เป็นอีกไอเท็มขายดี โดยมียอดสั่งสูงกว่าช่วงปกติถึง 20% โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงหรือแม่บ้านที่มักซื้อไปไหว้พระหรือไปมอบให้คนอื่นก่อนเริ่มงาน
- แต่ละวันมียอดเฉลี่ยในการซื้อไข่ไก่บนแกร็บมาร์ทสูงถึง 36,000 ฟอง และนมสดสูงถึง 18,000 ลิตร
2. Daytime Cooking (ระหว่างเวลา 09-00-16.00 น.)
- ช่วงกลางวันเป็นช่วงที่มียอดการสั่งซื้อสินค้าประเภทของสดหรือผลิตภัณฑ์สำหรับการปรุงอาหารมากกว่าช่วงอื่นๆ สูงถึง 25% โดย 5 ประเภทสินค้าขายดี ประกอบด้วย ผักสด ผลไม้ เนื้อหมู เนื้อไก่ และเครื่องปรุงรส และ 3 เมนูอาหารที่กลุ่มแม่บ้านนิยมปรุงมากที่สุด ได้แก่ สเต๊ก สุกี้ และข้าวผัด
- อีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่ขายดีในช่วงกลางวัน โดยเฉพาะระหว่างเวลา 11.00-16.00 น. คือ สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น กระดาษทิชชู น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม รวมถึงของใช้จิปาถะภายในบ้าน ซึ่งมียอดสั่งซื้อสูงกว่าช่วงอื่นๆ ถึง 15%
- แต่ละวันมียอดเฉลี่ยในการซื้อสินค้าประเภทเนื้อสัตว์เพื่อใช้ทำอาหาร (หมู ไก่ เนื้อ ซีฟู้ด) บนแกร็บมาร์ทสูงถึง 4 ตัน และผัก-ผลไม้มากกว่า 4,100 กิโลกรัม
3. Evening Celebration (ระหว่างเวลา 16.00-22.00 น.)
- ช่วงเวลาเย็นถึงหัวค่ำเป็นช่วงที่คนมักสั่งซื้อสินค้าไปใช้ในการปาร์ตี้หรือเฉลิมฉลอง โดยสินค้าที่ขายดีในช่วงเวลานี้ ได้แก่ น้ำแข็ง โซดา น้ำอัดลม รวมถึงขนมขบเคี้ยว โดยเฉพาะยอดขายขนมขบเคี้ยวในช่วงระหว่างเวลา 16.00-18.00 น. สูงกว่าช่วงเวลาอื่นถึง 30%
- นอกจากนี้ สินค้าที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น อาหารสุนัข และอาหารแมว ขายดีมากในช่วงระหว่างเวลา 18.00-20.00 น. โดยมากกว่าช่วงเวลาอื่นถึง 42%
- แต่ละวันมียอดเฉลี่ยในการซื้อสินค้าประเภทขนมขบเคี้ยวบนแกร็บมาร์ทสูงถึง 12,800 ซอง และน้ำอัดลมมากกว่า 17,000 ขวด/กระป๋อง
4. Overnight in Need (ระหว่างเวลา 22.00-05.00 น.)
- ในช่วงกลางคืนมีดีมานด์ในกลุ่มสินค้าที่จำเป็นหรือไอเท็มที่ขาดไม่ได้ โดย 5 อันดับสินค้าขายดี ได้แก่ ถุงยางอนามัยและผลิตภัณฑ์หล่อลื่น ผ้าอนามัย น้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำดื่ม
- แต่ละวันมียอดเฉลี่ยในการซื้อถุงยางอนามัยบนแกร็บมาร์ทสูงถึง 1,500 ซอง และผ้าอนามัยมากกว่า 1,120 ชิ้น
จันต์สุดาย้ำว่า หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง และผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ พฤติกรรมผู้ใช้บริการแกร็บมาร์ทมีความชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของโอกาสและช่วงเวลาที่ใช้บริการ ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงสถานการณ์โควิดผู้ใช้บริการจะเน้นสั่งซื้อของใช้เร่งด่วน หรือสั่งซื้อเพื่อกักตุนของเข้าบ้านโดยไม่ได้แบ่งช่วงเวลาการซื้อที่ชัดเจน
แต่เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ใช้บริการสั่งซื้อสินค้าต่างๆ ตามความต้องการการใช้งานที่สอดคล้องกับแต่ละช่วงเวลาของวัน เช่น มักสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อนำไปปรุงอาหารในช่วงระหว่างวัน มักซื้อสินค้าประเภทเครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยวในช่วงเวลาเย็น เพื่อนำไปปาร์ตี้ ส่วนการตุนของเข้าบ้านมักจะเป็นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
สำหรับช่วงครึ่งปีหลังนี้ได้มีการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น โดยจะเน้นไปที่การทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายหลักเพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำหรือมีการจับจ่ายอย่างเป็นนิสัย หรือที่เรียกว่า Habitual Marketing โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าหลัก (Heavy User) อย่างแม่บ้านหรือผู้หญิงที่มีครอบครัว (Professional Housewife) ที่ใช้บริการแกร็บมาร์ทในการซื้อของสดหรือของใช้ในครัวเรือนเป็นประจำ และกลุ่มคนโสดเจนวาย (Single, Busy Spender) ที่มักอาศัยอยู่คนเดียวและไม่มีเวลาในการไปซื้อสินค้าด้วยตัวเอง จึงนิยมการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
“เราไม่ได้มองช่วงเวลาที่เหลือของปีเป็นความท้าทาย แต่มองว่าเป็นโอกาสมากกว่าที่ธุรกิจควิกคอมเมิร์ซเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากเทียบกับมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ (ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 8.2 แสนล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตกว่า 10.5% ในปี 2566) โดยเฉพาะปัจจุบัน สถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้นหลังมีการประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งน่าจะส่งผลให้ทิศทางเศรษฐกิจไทยเป็นไปในเชิงบวก”