×

แม้บัตรคอนเสิร์ตศิลปินต่างชาติจะราคาสูงปรี๊ด! สวนทางคอนเสิร์ตไทยที่เพิ่มราคาไม่ได้แม้ต้นทุนพุ่ง จึงต้องทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายสุด

06.02.2024
  • LOADING...

เปิดปี 2024 การจัดคอนเสิร์ตและงานมิวสิกเฟสติวัลทั้งศิลปินไทยและต่างประเทศคึกคักอย่างมาก เรียกว่าทั้งปีมีมากกว่า 30 งาน แต่ฝั่งผู้จัดก็มีความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะต้นทุนการจัดงานที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางปัญหากำลังซื้อที่ทำให้ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ ไม่เว้นแม้แต่ GMM SHOW ผู้จัดงานคอนเสิร์ตรายใหญ่ ภายใต้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค

 

THE STANDARD WEALTH สัมภาษณ์ ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม Senior Executive Vice President – Showbiz หน่วยงาน GMM SHOW บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด มาฉายภาพถึงทิศทางอุตสาหกรรมคอนเสิร์ตในปี 2024

 

โดยป๋าเต็ดเริ่มเล่าว่า ปีนี้จะมีความคึกคักมากขึ้น แทบจะเรียกว่าคือโอเวอร์ซัพพลาย เห็นได้จากตารางการจัดคอนเสิร์ตทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Music Festival หรือแม้แต่ K-Pop เองก็ตาม

 

ย้อนกลับไปในปี 2023 สถานการณ์คอนเสิร์ตเริ่มกลับมากระจุกอยู่ในครึ่งปีหลัง ผู้จัดหลายๆ งานประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะจัดงานไหนบัตรก็ Sold Out และจะเห็นว่าปีที่แล้วมีผู้จัดหน้าใหม่กระโดดเข้ามาในตลาดมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งความท้าทายยังมีรอบด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และต้นทุนการจัดงานที่เพิ่มขึ้นไม่หยุด

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

สะท้อนให้เห็นภาพว่าหากผู้จัดไม่แข็งแกร่งพอก็จะอยู่ในตลาดค่อนข้างลำบาก ที่สำคัญจะทำให้ภาพของปีนี้ยิ่งชัดขึ้นไปอีก ซึ่งปีที่แล้วเคยพูดเอาไว้ว่าเทรนด์การจัดงานคอนเสิร์ตจะไม่เหลือรูปแบบงานสเกล M แล้ว แต่จะเหลือเฉพาะงานสเกล S และ L หมายความว่าในสิ่งที่ทำหรือคอนเสิร์ตที่จะจัดต้องชัดเจนมาก ถ้าไม่จัดขนาดเล็กความจุคนดูประมาณ 300-400 คน ชูความแตกต่างและแหวกแนวมากๆ ก็ต้องจัดใหญ่และโดดเด่นที่สุดไปเลย แต่เมื่อไรที่จัดงานขนาดกลางๆ ก็ไม่โดดเด่น ท่ามกลางการแข่งขันสูง กลุ่มคนดูก็ต้องเลือกไปดูอย่างอื่น

 

 

ความท้าทายของเงินในกระเป๋าคนดู-ต้นทุนจัดงานสูง แต่ขึ้นราคาบัตรไม่ได้

 

ป๋าเต็ดสะท้อนมุมมองว่า ในปี 2024 จะเห็นงานคอนเสิร์ตสเกลใหญ่ระดับโลก และจะมาพร้อมกับราคาบัตรที่เพิ่มขึ้นมหาศาล โดยเฉพาะบัตรคอนเสิร์ตจากต่างประเทศ มีระดับราคาตั้งแต่ 5,000 ไปจนถึง 10,000 บาท

 

“จริงๆ แล้วต้นทุนคอนเสิร์ตต่างประเทศสูงมาตั้งแต่ต้นทางแล้ว ซึ่งถ้าเรามองดูราคาบัตรที่เป็นมาตรฐานของวันนี้ แปลว่าการทำราคาเพื่อให้ได้คุณภาพมาตรฐานไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าตัวศิลปิน Production แทบจะไม่มีข้อจำกัด อยู่ที่ว่าตัวผู้จัดสามารถให้ในสิ่งที่คนดูคาดหวังได้มากน้อยแค่ไหน”

 

ขณะที่คอนเสิร์ตในไทยเองราคายังอยู่ในระดับที่เข้าถึงได้ ต้องยอมรับว่าเป็นความท้าทาย เพราะวันนี้ต้นทุนการจัดงาน ค่าตัวศิลปิน ฝ่ายผลิต ค่าเช่าพื้นที่ เพิ่มขึ้นกว่า 10% เราก็ต้องพยายามบาลานซ์ราคา และต้องเข้าใจปัญหาต่างๆ ที่ทุกคนได้รับผลกระทบเรื่องกำลังซื้อมาตลอด คงไม่ใช่โอกาสที่จะมาขึ้นราคาบัตร แต่สิ่งที่ต้องทำคือหาแนวทางให้ผู้คนตัดสินใจซื้อได้ง่ายที่สุดมากกว่า

 

คนไทยดูคอนเสิร์ตเฉลี่ย 2 ครั้งต่อปี

 

อีกทั้งปัจจุบันคนไทยจะดูคอนเสิร์ตเฉลี่ย 2 ครั้งต่อปี แน่นอนว่าท้าทายมาก เพราะเรามีทั้งคู่แข่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นสิ่งที่ GMM SHOW ต้องทำคือต้องดึงกลุ่มคนดูให้ได้ 2 ครั้ง หรือ 1 ครั้ง ควบคู่ไปกับการเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภค และต้องแยกให้ได้ว่าในจำนวนการดูคอนเสิร์ต 2 ครั้ง ส่วนใหญ่แล้วมีโปรดักต์หรือเทรนด์ไหนบ้างที่ตอบโจทย์

 

สเต็ปถัดไปเมื่อดึงคนกลุ่มนี้มาได้หมดแล้วต้องเริ่มสร้างโปรดักต์ใหม่ เพื่อดึงดูดกลุ่มคนที่ยังไม่เคยมาเป็นลูกค้าเรา โดยเมื่อปีที่แล้วเราเริ่มงานแฟนมีตของศิลปินเกาหลีใต้ ซึ่งยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ปีนี้จะรุกหนักมากขึ้น

 

เตรียม Music Festival มากกว่า 7 งาน ยิงยาวถึงปลายปี

 

สิ่งที่น่าสนใจคือทิศทางของ GMM SHOW เน้นจัดงานสเกลใหญ่ระดับ 1-2 หมื่นคนขึ้นไป เพราะอยากให้ GMM SHOW เป็นธุรกิจจริงๆ ไม่ใช่แค่แพสชันโปรเจกต์ แม้ทุกอย่างจะเกิดจากแพสชัน แต่ต้องทำให้เป็นธุรกิจด้วย ที่ผ่านมาจัดกันมาหลายงาน ไอเดียงานที่เกิดขึ้นมาจากการรวบรวมข้อมูล Data ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มแฟนคลับแบบแคชชวลไปจนถึงแฟนคลับระดับสาวก

 

ทั้งหมดจะทำให้รู้ว่าในแต่ละคอนเสิร์ตจะวาง Positioning แบบไหน ต้องจัดที่ไหน จะขายบัตรช่วงไหน หรือจะขายกี่ใบ เมื่อรู้ข้อมูลแล้วก็จะนำมาวางแผนการจัดงานภายใต้คอนเซปต์ที่เหมาะสม เพื่อให้รองรับความต้องการของผู้บริโภคได้

 

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่บุกหนักมากคือ Music Festival ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ ที่ผ่านมาเราเริ่มทำ Festival หลายๆ งาน อาจจะเกิดคำถาม จะมีการแย่งคนดูกันบ้างหรือไม่ แต่เมื่อลองหาข้อมูลพบว่ามีช่องว่างตลาดอยู่มาก ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา หาดใหญ่ ทุกจังหวัดความต้องการของลูกค้าจะไม่เหมือนกันเลย

 

 

สำหรับงานคอนเสิร์ตในปี 2024 คอนเสิร์ตที่เพิ่งจบไปคือ Rock Mountain ที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ตามด้วยเฉียงเหนือเฟส 2 ส่วนงานที่กำลังจะมาถึงมีตั้งแต่ พุ่งใต้เฟส จังหวัดสงขลา, นั่งเล 3 จังหวัดเพชรบุรี, Water War Chiang Mai จังหวัดเชียงใหม่ และ Rock On The Beach 2024 จังหวัดระยอง ตามด้วย Big Mountain Music Festival จังหวัดนครราชสีมา ทุกๆ งานเป็นเทศกาลดนตรี แม้ไลน์อัพจะคล้ายๆ กัน แต่มีรายละเอียดที่น่าสนใจแตกต่างกัน

 

เทรนด์คนรุ่นใหม่เลือกคอนเสิร์ตที่ดูแล้วคุ้มค่า

 

ขณะเดียวกัน ศักดิ์สกุล แก้วมาตย์ Vice President – Showbiz Promoter ทีม Idea Fact หน่วยงาน GMM SHOW บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด กล่าวต่อกับ THE STANDARD WEALTH ว่าเทรนด์การดูคอนเสิร์ตของคนรุ่นใหม่จะเลือกดูคอนเสิร์ตแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น

 

“ที่ผ่านมาบริษัทมีการทำผลสำรวจ พบว่าในหนึ่งคนจะตัดสินใจดูคอนเสิร์ตประมาณ 2-3 ครั้ง เนื่องจากข้อจำกัดการดูคอนเสิร์ตนั้นมีค่าใช้จ่าย เริ่มตั้งแต่ค่าบัตรคอนเสิร์ต และยังมีปัจจัยอื่นๆ ทั้งการเดินทางและค่าที่พัก ดังนั้นหลายคนจึงเลือกไปในงานที่ชื่นชอบจริงๆ”

 

นอกจากฐานคนดูจะเลือกมากขึ้นแล้ว ความต้องการก็จะสูงและมองถึงความคุ้มค่าด้วย เช่น ในบางงานมีศิลปิน 30-40 คน แต่อีกงานมีศิลปิน 10 คน แน่นอนว่าคนดูจะเลือกงานที่คุ้มค่ากว่า ในฐานะของผู้จัดงานก็ต้องปรับวิธีการแนวทางโปรโมตให้สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้ามากขึ้น

 

 

โปรดักต์ใหม่ ‘Water War Chiang Mai’ เริ่ม Success ต่อขยายไปต่างจังหวัด

 

สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของผู้จัดที่ต้องคิดโปรดักต์ใหม่อยู่เป็นระยะๆ โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เราได้เริ่มประเดิมจัดงาน ‘Water War Chiang Mai’ ในจังหวัดเชียงใหม่ ในรูปแบบการจับมือกับผับบาร์มารวมอยู่ในงาน ซึ่งถือเป็นงานปาร์ตี้สงกรานต์ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ และที่เห็นได้ชัดคือผู้เข้าร่วมงานในช่วงสงกรานต์เป็นคนกรุงเทพฯ และส่วนใหญ่แล้วจะมาซื้อบัตรหน้างาน สำหรับปีนี้เราเตรียมยกทัพไลน์อัพ 9 ศิลปินชื่อดัง จัดในวันที่ 13 เมษายน 2024

 

จากนี้เรามองไปถึงการขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ซึ่งอยู่ในช่วงศึกษาการทำตลาด โดยเป็นไปได้ทั้งในจังหวัดที่เป็นหัวเมืองหลักและเมืองรอง เพราะในแต่ละจังหวัดมีการจัดงานสงกรานต์อยู่แล้ว เชื่อว่าในจังหวัดต่างๆ จะให้การตอบรับที่ดี

 

 

จัดงานในต่างจังหวัด ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มหาศาล

 

ในมุม GMM SHOW การที่เราจัดงานในต่างจังหวัดจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในจังหวัดนั้นๆ ถ้ามองในมุมค่าใช้จ่ายของคนหนึ่งคน เริ่มตั้งแต่ค่าตั๋ว 1,600 บาท แต่จ่ายค่าที่พักเฉลี่ยถึง 2,000 บาท ยังไม่รวมค่าเดินทาง ค่ากินและค่าดื่ม ดังนั้นในหนึ่งคนจะมีงบใช้จ่ายในงานคอนเสิร์ตรวมๆ แล้วประมาณ 40% และอีก 60% จะใช้กับธุรกิจรอบๆ พื้นที่จัดงาน

 

ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงจัดคอนเสิร์ตมหาศาล โดยปีที่ผ่านมาทีมการตลาดได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับหอการค้าในแต่ละจังหวัด ก่อให้เกิดโมเดลใหม่ๆ ที่มีความยั่งยืนมากขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X