×

สทนช. เทียบสถานการณ์อุทกภัย 3 ปี เชื่อไม่รุนแรงเท่าปี 2554

โดย THE STANDARD TEAM
26.08.2024
  • LOADING...
สถานการณ์อุทกภัย

วานนี้ (25 สิงหาคม) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้เกิดข้อกังวลของพี่น้องประชาชนว่าสถานการณ์จะมีความรุนแรงเทียบเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2554 และจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก 

 

สทนช. จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวโน้มความเสี่ยงอุทกภัยระหว่าง 3 ปี ได้แก่ ปี 2554, ปี 2565 และปี 2567 ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 

 

การประเมินพายุจรที่พัดผ่านเข้าประเทศไทยพบว่า ในปี 2554 มีพายุพัดผ่านเข้าไทย จำนวน 5 ลูก, ในปี 2565 มีพายุพัดผ่านเข้าไทย จำนวน 1 ลูก ได้แก่ พายุโนรู (เดือนกันยายน) และยังได้รับอิทธิพลจากดีเปรสชันและไต้ฝุ่นที่เข้ามาบริเวณประเทศเพื่อนบ้าน 

 

สำหรับปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีพายุพัดผ่านเข้าประเทศไทย จำนวน 2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือนกันยายนหรือตุลาคม เมื่อเปรียบเทียบปริมาณฝนสะสมพบว่า ปี 2554 ฤดูฝนในประเทศไทยเริ่มต้นเร็วกว่าปกติและมีฝนตกสะสมต่อเนื่อง โดยไม่มีภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าค่าปกติ 24% และมีค่ามากที่สุดในคาบ 61 ปี (นับจากปี 2494) 

 

ในปี 2565 มีปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศ 1,876 มิลลิเมตร สูงกว่าค่าปกติ 27% หรือมากที่สุดเมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีตย้อนหลัง 40 ปี ซึ่งหมายรวมถึงมากกว่าปี 2554 ที่ประเทศไทยเกิดอุทกภัยร้ายแรง แต่ในปี 2565 กลับพบว่าสถานการณ์อุทกภัยไม่รุนแรงและยาวนานเหมือนปี 2554 

 

สำหรับปี 2567 ณ เดือนสิงหาคมนี้ ปริมาณฝนในภาพรวมของประเทศไทยยังคงต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 4 และต่ำกว่าปี 2554 

 

เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า เมื่อเปรียบเทียบศักยภาพในการรองรับน้ำของ 4 เขื่อนหลัก ณ วันที่ 24 สิงหาคม ประกอบด้วย เขื่อนน้ำภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พบว่า ปี 2554 สามารถรองรับได้ 4,647 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ส่วนปี 2565 สามารถรองรับได้ 11,929 ล้าน ลบ.ม. 

 

สำหรับปี 2567 ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 12,071 ล้าน ลบ.ม. เมื่อดูที่ปริมาณน้ำท่า ณ วันที่ 24 สิงหาคม พบว่า ปี 2554 สถานี C.2 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,284 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) (ค่าสูงสุด 4,689 ลบ.ม./วินาที) และการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา (C.13) 1,832 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 3,726 ลบ.ม./วินาที) ในปี 2565 สถานี C.2 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,582 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 3,099 ลบ.ม./วินาที) และการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา (C.13) 1,500 ลบ.ม./วินาที (ค่าสูงสุด 3,169 ลบ.ม./วินาที) สำหรับปี 2567 ปริมาณน้ำท่ายังคงอยู่ในการควบคุมและเป็นไปตามแผน กล่าวคือ ที่สถานี C.2 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 837 ลบ.ม./วินาที (คาดว่าจะสูงสุด 2,860 ลบ.ม./วินาที) และการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา (C.13) 499 ลบ.ม./วินาที (คาดว่าสูงสุด 2,700 ลบ.ม./วินาที) 

 

“เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปรากฏการณ์เอนโซ จากสภาวะเอลนีโญสู่สภาวะลานีญา ประกอบกับอิทธิพลของมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ต่างๆ และส่งผลให้เกิดน้ำหลากในหลายพื้นที่ จากการติดตามประเมินสถานการณ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างใกล้ชิดของหน่วยงานต่างๆ พบว่า ปริมาณฝนตกในทุกพื้นที่ขณะนี้ ระดับความรุนแรงยังเทียบไม่ได้กับปี 2554 อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังและเตรียมแผนบริหารจัดการกรณีเกิดพายุที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย 

 

“สำหรับผลกระทบและความเสียหายที่ประชาชนได้รับขณะนี้ จะขอให้หน่วยงานต่างๆ พิจารณาใช้งบกลางปี 2567 ในการแก้ไขปัญหา และเข้าให้ความช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะของน้ำหลากทะลักเข้าท่วมในพื้นที่อย่างฉับพลันเกินกว่าจะทันตั้งตัว ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ ก็มีกลไกในการดำเนินการอยู่แล้วในลักษณะการตั้งรับปัญหาไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะเร่งเข้าแก้ไขให้สถานการณ์กลับสู่ปกติโดยเร็วต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X