ในยุคที่องค์กรธุรกิจทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเงินเฟ้อสูง และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ รวมไปถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่อาจส่งผลต่อการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และอื่นๆ ผู้บริหารจึงต้องเตรียมความพร้อมขององค์กรในเชิงรุกเพื่อให้ธุรกิจเติบโตและอยู่รอดได้ ซึ่งกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรก้าวข้ามวิกฤตต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในโลกที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไม่เว้นแต่ละวัน คือความสามารถในการฟื้นตัวขององค์กร (Resilience)
เมื่อเร็วๆ นี้ PwC ได้จัดทำรายงานผลสำรวจ Global Crisis and Resilience Survey 2023 เพื่อศึกษาถึงการเตรียมตัวขององค์กรต่างๆ ในการรับมือกับผลกระทบจากภาวะวิกฤตและความสามารถในการฟื้นตัว รวมทั้งการจัดการทรัพยากร และการลงทุน โดยรวบรวมความคิดเห็นจากผู้บริหารจำนวน 1,812 รายทั่วโลกพบว่า ผู้นำธุรกิจส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของแนวคิดในการบริหารองค์กรที่มุ่งเน้นการสร้างความยืดหยุ่น เพราะช่วยให้ธุรกิจของพวกเขาสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดย 89% ของผู้บริหารกล่าวว่า ความสามารถในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญขององค์กร แต่ก็ยังมีองค์กรอีกจำนวนมากที่ขาดองค์ประกอบพื้นฐานที่จะช่วยให้องค์กรมีความยืดหยุ่น และฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยผมขอสรุปสามประเด็นสำคัญที่พบจากรายงานฉบับนี้ ดังต่อไปนี้
- การบูรณาการโปรแกรมการสร้างความยืดหยุ่นเพื่อฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วถือเป็นสิ่งจำเป็น องค์กรไม่สามารถอยู่รอดได้หากยังทำงานแบบไซโล (Silo) แต่ควรต้องบูรณาการการทำงานที่มีความยืดหยุ่นเพื่อจัดการกับความเสี่ยงต่างๆ ที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น ทั้งนี้ องค์กรต่างๆ ควรใช้แนวทางที่ผนวกความสามารถในการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วผ่านการบูรณาการกระบวนการทำงานที่ดูแลจากส่วนกลางไปพร้อมๆ กับเพิ่มความยืดหยุ่นในส่วนที่จำเป็นของธุรกิจ และต้องปลูกฝังแนวคิดเหล่านี้ในกระบวนการทำงานและวัฒนธรรมองค์กร
- ผู้นำธุรกิจต้องสามารถนำพาองค์กรฝ่าวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยกระดับทักษะของทีมงาน การที่ธุรกิจจะเติบโตในภาวะวิกฤตได้ ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีผู้บริหารและทีมงานที่มีทักษะในการวางกลยุทธ์ และมีผู้บริหารระดับ C-suite ที่ให้การสนับสนุน ผลสำรวจระบุว่า ธุรกิจควรมีการกำหนดตัวผู้บริหารที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านความสามารถในการฟื้นตัวขององค์กรอย่างชัดเจน นอกจากนี้ 31% ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวด้วยว่า การสร้างทีมงานที่มีทักษะที่เหมาะสม คือความท้าทายสำคัญ ขณะที่ 57% เชื่อว่าการยกระดับทักษะให้กับผู้นำที่จะขึ้นมาบริหารในอนาคต ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้องค์กรมีความสามารถในการฟื้นตัว
- กระบวนการทำงานขององค์กรต้องมีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ (Operational resilience: OpRes) องค์กรควรสร้างกระบวนการทำงานที่ยืดหยุ่น โดยมุ่งเน้นไปที่การปกป้องส่วนที่สำคัญที่สุดของธุรกิจผ่านการวางแผนงาน และการเตรียมตัวเพื่อไม่ให้การดำเนินงานต้องหยุดชะงัก เมื่อองค์กรมีกระบวนการทำงานที่บูรณาการแผนเพื่อการฟื้นตัวมากขึ้นแล้ว ก็ควรนำแนวทางของการสร้างความยืดหยุ่นมาปรับใช้ และจัดอันดับความสำคัญของการลงทุน ความสำคัญต่อธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะทำให้องค์กรมีการจัดการความเสี่ยงที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ลงทุนเพื่อรับมือกับความเสี่ยงและสร้างความยืดหยุ่น
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า วันนี้รูปแบบการทำงานแบบดั้งเดิมเพื่อจัดการกับการฟื้นตัวจากความเสี่ยง ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป เพราะการตรวจสอบและปฏิบัติตามกฎระเบียบเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้องค์กรมีความพร้อม โดยองค์กรหลายแห่งพลาดโอกาสที่จะค้นพบต้นตอของปัญหา และแก้ไขช่องโหว่ก่อนที่วิกฤตจะเกิดขึ้น ดังนั้นผู้นำธุรกิจจึงต้องเข้าใจกลยุทธ์ในการสร้างความยืดหยุ่นและการฟื้นตัวขององค์กร รวมถึงลงทุนในเทคโนโลยีที่สามารถดึงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อนำมารวบรวมและวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ผ่านการทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ รายงานของ PwC ระบุว่า 60% ของผู้นำธุรกิจเข้าใจถึงความจำเป็นของการนำเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ความยืดหยุ่น ขณะที่เกือบ 90% วางแผนที่จะลงทุนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ตามมาด้วยการลงทุนในการจัดการภาวะวิกฤต (86%) และการจัดการในภาวะฉุกเฉิน (85%) อย่างไรก็ดี ยังมีองค์กรอีกจำนวนมากที่ไม่ได้วางแผนการลงทุนที่จำเป็นเพื่อจัดการกับความเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเฝ้าระวังภัยคุกคามและการสร้างความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งหากผู้บริหารยังคงไม่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเด็นต่างๆ เหล่านี้อย่างเพียงพอ ก็จะทำให้องค์กรตกอยู่ในความเสี่ยง และขาดศักยภาพในการจัดการภาวะวิกฤตอย่างไม่ต้องสงสัย
แนวทางในการสร้างความยืดหยุ่นให้กับองค์กร
รายงานของ PwC ฉบับนี้ ยังได้แนะนำห้าแนวปฏิบัติที่จะช่วยสร้างองค์กรให้มีความยืดหยุ่น และสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจากภาวะวิกฤตหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ดังต่อไปนี้
- ส่งเสริมให้มีผู้บริหารที่รับผิดชอบแผนความยืดหยุ่น โดยมอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่รับผิดชอบในส่วนของการวางแผนเพื่อสร้างความสามารถในการฟื้นตัวอย่างชัดเจน
- ระบุบริการทางธุรกิจที่มีความสำคัญ เพื่อจับคู่การพึ่งพาและผนวกความสามารถในการฟื้นตัวจากบริการเหล่านี้
- มีโปรแกรมการสร้างความยืดหยุ่นแบบข้ามสายงาน โดยบูรณาการกระบวนการสร้างความยืดหยุ่นและการฟื้นตัวให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ คุณค่า และลำดับความสำคัญในการลงทุนทั่วทั้งองค์กร
- สร้างมุมมองภาพรวมของความเสี่ยงที่ไม่เหมือนใคร ก้าวข้ามการจัดการความเสี่ยงแบบเดิมๆ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อหาจุดอ่อนและตัวชี้วัดอื่นๆ เพื่อการฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถจำกัด ต้านทาน และฟื้นตัวจากความเสี่ยงได้อย่างมั่นใจ
- เสริมความแข็งแกร่งให้กลยุทธ์การฟื้นตัวผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และหมั่นทดสอบอยู่เป็นประจำ กลยุทธ์ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีและมีการจัดการกับข้อมูลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จะช่วยให้องค์กรสามารถคาดการณ์ ป้องกัน เตรียมตัว และเรียนรู้จากความเสี่ยงและวิกฤตได้ ทั้งนี้ องค์กรจะต้องหมั่นประเมินความสามารถในการรับมือความเสี่ยงอยู่เป็นประจำด้วยเช่นกัน
อ้างอิง:
- Global Crisis and Resilience Survey 2023, PwC