สำรวจบริษัทที่ประกาศเพิ่มทุนในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบมาว่ามีกว่า 10 บริษัทที่ประกาศเพิ่มทุน ทั้งเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม (RO) และเสนอขายนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) โดยรวมเป็นมูลค่าระดุมราว 7.12 หมื่นล้านบาท
กรณีการเพิ่มทุนที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ บมจ.บ้านปู หรือ BANPU ซึ่งประกาศเพิ่มทุนจำนวน 5,074.58 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าเพิ่มทุน 31,716 ล้านบาท และ บมจ.ราช กรุ๊ป หรือ RATCH ซึ่งประกาศเพิ่มทุน 769.23 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าเพิ่มทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมี บมจ.เอ็กซ์ปสริง แคปปิตอล หรือ XPG ที่ประกาศเพิ่มทุน 7,778.54 ล้านหุ้น โดยเสนอขายทั้งแบบ PP ให้กับนักลงทุน 3 ราย และเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิม คิดเป็นมูลค่าเพิ่มทุน 7,110 ล้านบาท
สาเหตุที่ทำให้การเพิ่มทุนของบริษัทดังกล่าวได้รับความสนใจ เนื่องจากอัตราส่วนการเพิ่มทุนต่อทุนจดทะเบียนเดิมที่สูง โดย BANPU เพิ่มทุนเท่าตัว โดยเพิ่มจาก 5.07 พันล้านหุ้นเป็น 1.01 หมื่นล้านหุ้น (พาร์ 1 บาท) และสาเหตุอีกประการคือ การเพิ่มทุนเป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่าง RATCH ที่เพิ่มทุน จาก 14,500 ล้าน เป็น 22,192.30 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญที่ออกใหม่ 769.23 ล้านหุ้น (พาร์ 10 บาท)
มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST กล่าวว่า กรณีที่ บจ. ประกาศเพิ่มทุน โดยเฉพาะเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิม ส่วนมากจะเป็น Negative กับราคาหุ้นในกระดานเสมอ แต่อยากให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนไตร่ตรองและศึกษาข้อมูลให้มากขึ้น เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้
โดยหลักการที่นักลงทุนสามารถใช้พิจารณาประกอบการตัดสินประกอบด้วย
- การดูอัตราส่วนการเพิ่มทุนต่อทุนจดทะเบียน หากไม่เกิน 1 ใน 5 หรือ 25% ถือว่าเป็นระดับที่ไม่สร้างภาระและผลกระทบมากนัก นั่นหมายถึงแม้ผู้ถือหุ้นเดิมจะไม่ใช้สิทธิรับจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน สัดส่วนการถือครองหุ้นก็ลดลงในอัตราที่ไม่มาก หรือเกิด Dilution Effect ไม่มาก
- เงินลงทุนที่นักลงทุนมีอยู่ สามารถใช้สิทธิรับจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนหรือไม่
หากอัตราส่วนการเพิ่มทุนแล้วพบว่าไม่เกิน 25% และมีเงินลงทุนเพียงพอ พร้อมกับเชื่อมั่นในการเติบโตของบริษัทต่อก็ลงทุนต่อได้
“ในทางกลับกัน หากอัตราส่วนการเพิ่มทุนสูงมาก นักลงทุนมีอีกทางเลือกหนึ่งคือการขายหุ้นบางส่วนเพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุนจากส่วนต่างราคา เพราะปกติแล้วการประกาศเพิ่มทุนของ บจ. จะเป็น Negative ต่อราคาหุ้นบนกระดานเสมอ และหลังจากนั้นหากนักลงทุนยังเชื่อว่าบริษัทนั้นๆ จะเติบโตได้ต่อ ก็ค่อยมาทยอยสะสมใหม่ในกระดานได้ก่อนวันขึ้นเครื่องหมาย XR”
สำหรับกรณีของนักลงทุนที่ยังไม่มีหุ้นนั้นๆ แต่สนใจเข้าลงทุน การทยอยสะสมในช่วงราคาปรับลดลงรุนแรงก็เป็นโอกาสที่ดี แต่นักลงทุนก็ต้องรับความเสี่ยงของราคาหุ้นขาลงไปด้วย เพราะบริษัทที่ประกาศเพิ่มทุนนั้น กว่าราคาหุ้นจะรับรู้ข่าวร้ายจนหมดก็ใช้เวลานาน
ขณะที่การพิจารณาเรื่องแผนการใช้เงินเพิ่มทุนก็สามารถช่วยได้บ้าง แต่โดยส่วนมาก บริษัทที่ประกาศเพิ่มทุนมักจะระบุแผนการใช้เงินไว้ 2 ประการ คือ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และ ใช้ลงทุนเพื่อขยายธุรกิจในอนาคต ซึ่งจะทำให้นักลงทุนไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่แน่ชัดนัก อาจไม่พอต่อการประกอบการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนสามารถประเมินแนวโน้มธุรกิจจากภาครวมอุตสาหกรรมเพิ่มได้
มงคลกล่าวเพิ่มว่า เท่าที่ติดตามข้อมูลการประกาศเพิ่มทุนของ บจ. ในช่วงปี 2564 เชื่อว่าบริษัทต่างๆ น่าจะกำลังเตรียมทุนไว้สำหรับการขยายธุรกิจและสร้าง Growth Engine ใหม่ เนื่องจากภาคธุรกิจของไทยถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง และมาเจอผลกระทบจากโควิดซ้ำเติม การทำธุรกิจแบบเดิมหรือสร้างการเติบโตจากธุรกิจดั้งเดิมเป็นเรื่องที่ยากขึ้น หรือบางธุรกิจก็อาจจะใกล้หายไปแล้วก็มี
ทางด้าน จักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ราคาหุ้น BANPU ปรับตัวลงอย่างรุนแรงหลังการประกาศเพิ่มทุน โดยคาดว่าเป็นผลจากที่นักลงทุนกังวล Dilution Effect กล่าวคือจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นเดิมถืออยู่จะลดลง 50% ขณะที่ราคาหุ้นจะมีมูลค่าลดลง 30% แม้ผู้ถือหุ้นจะได้มูลค่าเพิ่มจาก Warrant ที่บริษัทจัดสรร
นอกจากนี้คาดว่าราคาหุ้นในช่วง 1 สัปดาห์ต่อจากนี้ (1-7 กรกฎาคม) จะแกว่งผันผวนในกรอบ 11-15 บาท
ทั้งนี้ BANPU ประกาศเพิ่มทุนเท่าตัว ภายหลังอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) มีความเสี่ยงขยับเข้าใกล้อัตราหนี้สินที่สัญญาเงินกู้กำหนด (Covenant) ที่ 1.75 เท่า ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถขยายธุรกิจผ่านการกู้ยืมสถาบันการเงินเพิ่มได้ โดยฝ่ายวิจัยคาดว่าอัตราหนี้สินของบริษัทจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 1.5-1.6 เท่าในปลายปี 2564 จาก ณ สิ้นไตรมาส 1 ปีนี้ที่ 1.39 เท่า ขณะที่การเพิ่มทุนในครั้งนี้จะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทลดลงเหลือ 0.9 เท่า
ฝ่ายวิจัย บล.เอเชีย พลัส ระบุว่า กรณีการเพิ่มทุนของ RATCH จะกดดันราคาหุ้นช่วงสั้น เพราะเกิด Dilution Effect จนกว่าโครงการลงทุนใหม่ๆ ที่ใช้เงินจากการเพิ่มทุนจะสามารถสร้างผลกำไรเข้ามาชดเชยได้
ซึ่งฝ่ายวิจัยยังคงมุมมองเชิงบวกในระยะยาวสำหรับ RATCH โดยเชื่อว่ากำไรที่จะ
ทยอยเพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ๆ จะเพิ่มมูลค่าให้กับ RATCH ได้ ดังนั้นหากราคาหุ้นมีการปรับฐานแล้ว มองเป็นโอกาสทยอยสะสมลงทุน โดยผู้บริหารยังยืนยันจะจ่ายปันผลด้วย Payout Ratio เท่าเดิม
บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ กรณี บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ประกาศเข้าลงทุนราว 45% ในโรงไฟฟ้าถ่านหินอินโดฯ ขนาด 2,045 MW พร้อมกับประกาศเพิ่มทุน 769.23 ล้านหุ้น มอง Negative ในระยะสั้นต่อการเพิ่มทุน ส่วนปัจจัยบวกที่จะมาในระยะยาวจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อาจต้องรอความชัดเจนของมูลค่าเงินลงทุน
โดยระยะสั้นคาดราคาหุ้นของ RATCH จะถูกกดดันจากความกังวล Dilution Effect ที่จะเกิดขึ้นจากการเพิ่มทุน (Control Dilution คาดราว -35% และ Price Dilution คาดราว -8% ซึ่ง EPS Dilution ยังไม่ชัดเจน ขึ้นกับผลประกอบการของโรง Paiton (ยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ) และราคาเพิ่มทุนที่อาจกดดันราคาตลาด รวมถึง Return ของเงินลงทุนที่จะนำไปใช้ยังไม่ชัดเจน
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ