บ่ายวันนี้ (9 ตุลาคม) สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเวทีระดมความคิดเห็น ‘การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก’ นำโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สำนักคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นเดินหน้าโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน
โดยสนธิรัตน์เปิดเผยว่า เป้าหมายของโรงไฟฟ้าชุมชน คือการเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ด้วยการผลิต ใช้ และจัดจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ โดยยืนยันว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้คือชุมชนฐานราก ซึ่งการระดมสมองในวันนี้มีขึ้นเพื่อจัดทำโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชนที่เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชนฐานรากอย่างแท้จริง
“หวังว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เป็นอีกโครงการของกระทรวงพลังงานที่จะสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก ผลจากการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนครั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะนำข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นไปประกอบการพิจารณารูปแบบโครงการที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางในการเปิดรับภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนกับชุมชน โดยกรอบนโยบายจะนำเสนอสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติอีกครั้ง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนในปี 2563”
สำหรับกรอบนโยบายพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชน จะมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่ตั้งโรงไฟฟ้า โดยต้องเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด รวมถึงพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์ และมีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ทั้งระบบขนส่ง ระบบจัดจำหน่ายที่รองรับไฟฟ้าที่ผลิตได้จากชุมชน โดยแนวทางการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน จะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างเอกชนและชุมชน โดยมีเงื่อนไขให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง และเปิดให้ชุมชนถือหุ้นในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ยังวางเป้าหมายตามแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ซึ่งกำหนดประเภทเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มาจากชีวมวล ก๊าซชีวภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานผสมผสาน ด้วยขนาดกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าที่สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ โดยมีสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่สำคัญคือราคาซื้อไฟฟ้าต้องกระทบกับค่าไฟฟ้าให้น้อยที่สุด และมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทนในสัดส่วน 30% ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือแผน PDP 2018
ในเอกสารที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนมีการกำหนดรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชน 7 รูปแบบ ประกอบด้วย เช่น โรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพ, ชีวมวล โรงไฟฟ้าชุมชนไฮบริดก๊าซชีวภาพ, ชีวมวล-พลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าชุมชนน้ำเสีย, ของเสีย โดยกำหนดให้ชุมชนเป็นผู้จัดหาเชื้อเพลิงจากการปลูกพืชโตเร็ว มีการประกันราคาเชื้อเพลิงที่จะรับซื้อ และไฟฟ้าทุกหน่วยที่ผลิตจะมีส่วนแบ่งรายได้สู่ชุมชนอย่างน้อย 25 สตางค์ต่อหน่วย
ทั้งนี้ในช่วงเช้า คณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ยังได้เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดย กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า บรรยากาศในการพูดคุยกันเป็นไปด้วยดี เน้นการสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน โดยคณะกรรมาธิการร้องขอให้กระทรวงพลังงานมีบทบาทมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งในระยะสั้น กระทรวงพลังงานมีนโยบายสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงไบโอดีเซล B10 มากขึ้น เพื่อทดแทนการใช้ B7 โดยตั้งเป้าว่าจะให้ทุกสถานีบริการน้ำมันสามารถจำหน่าย B10 ให้ครบทุกแห่งตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยกำหนดกรอบการใช้อยู่ที่ 30-40 ล้านลิตรต่อวัน และเพิ่มเป็น 57 ล้านลิตรต่อวันภายในไตรมาส 2/62
ในที่ประชุมกระทรวงพลังงานยังได้ชี้แจงถึงนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมแผนการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั้งระบบ โดยร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ เพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่การเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ของภูมิภาค และกระตุ้นการใช้ EV ให้เกิดขึ้นในวงกว้าง โดยเฉพาะในการขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะมีการแถลงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งคณะกรรมาธิการได้เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว พร้อมให้คำปรึกษา และยินดีร่วมมือในการทำงาน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า