เกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกอยู่บนวัฏจักรขาขึ้นรอบใหญ่ (Supercycle) จนทำให้ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์หลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว
แต่ล่าสุดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวลดลงมาจากจุดสูงสุดก่อนหน้านี้ อย่างดัชนี Bloomberg Commodity Index ซึ่งติดตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก ล่าสุดปรับตัวลดลงมาประมาณ 10% จากจุดสูงสุดช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ขณะที่ บล.กสิกรไทย ระบุเช่นกันว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับลดลงเฉลี่ย 16% จากจุดสูงสุดในรอบ 52 สัปดาห์
สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เชื่อว่า ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์น่าจะผ่านจุดสูงสุดของวัฏจักรขาขึ้นรอบใหญ่ไปแล้ว แต่โอกาสที่เราจะเห็นราคาสินค้าแต่ละชนิดดิ่งลงแรงหรือไม่นั้น อาจแตกต่างกันไปในแต่ละผลิตภัณฑ์
“อย่างราคาน้ำมันอาจจะผ่านจุดพีคแล้ว แต่เชื่อว่าจะยังยืนอยู่ในระดับ 90-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะความเสี่ยงเรื่อง Geopolitics แต่สินค้าอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลก เช่น เคมีภัณฑ์ โลหะ”
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าราคาของสินค้าโภคภัณฑ์อาจจะยังไม่ได้ดิ่งลงแรงดังเช่นการจบรอบในอดีต เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่จะชะลอลง แต่เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวมาช่วยหนุน
“ภาพของหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์จะไปในทิศทางคล้ายกัน คือหุ้นพลังงานจะยังยืนอยู่ได้ แต่หุ้นอื่นๆ จะถูกกดลงมา อาจจะเร็วหรือช้าแตกต่างกัน แต่โดยภาพรวมแล้วหุ้นโภคภัณฑ์น่าจะซึมไปจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อีกครั้ง และหากไม่มีสงครามรัสเซียกับยูเครน ราคาน้ำมันเองก็น่าจะลดลงไปต่ำกว่า 80 ดอลลาร์เรียบร้อยแล้ว”
ด้าน Credit Suisse ประเมินว่า อุปทานของสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ยังคงจำกัดและมีความเสี่ยงจากภาวะขาดแคลน โดยรวมแล้วทำให้ในระยะสั้นยังมีโอกาสที่ราคาจะปรับตัวขึ้นได้ แต่ก็ใกล้จะถึงจุดพีคเต็มที ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์จะเป็นเพียงสินทรัพย์ที่ใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเรื่องของเงินเฟ้อ และความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ขณะที่ วิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่าย Private Wealth Management ธนาคารกรุงไทย มีมุมมองที่แตกต่างไปว่า “อาจจะยังพูดได้ยากว่า Supercycle ของสินค้าโภคภัณฑ์ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เนื่องจากตอนนี้โลกของเราเริ่มมีความไม่สอดคล้องกันระหว่างห่วงโซ่อุปทานต่างๆ และอุปทานใหม่ยังขึ้นมาได้น้อย ในขณะที่อุปสงค์ที่หายไปจากเศษฐกิจที่ชะลอ อาจเป็นเพียงการทำให้อุปสงค์และอุปทานสมดุลกันมากขึ้น”
หากดูจากวัฏจักรในอดีต เมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูง จะเห็นการเร่งการผลิตเข้ามา แต่ครั้งนี้เป็นช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่พลังงานใหม่ ทำให้บริษัทต่างๆ ไม่กล้าลงทุนมาก เมื่ออุปทานใหม่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมา จึงมีโอกาสที่ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์จะยังอยู่ในเทรนด์ขาขึ้นต่อ แต่ในระยะสั้นอาจจะทำได้แค่คงตัวอยู่ในระดับสูงเพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
“ส่วนตัวมองว่าหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะลดลงแรง จะต้องเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ช่วงที่ผ่านมาเรายังเห็นนักลงทุนอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ใส่เงินลงทุนในหุ้นอย่าง Occidental Petroleum เพิ่มขึ้นอีก”
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์อาจต้องเลือกมากขึ้น เพราะในหลายสินค้า เช่น สินค้าเกษตร ก็มีปัจจัยกดดันเฉพาะตัว อย่างราคาปุ๋ยที่แพงมาก หรือราคาอาหารสัตว์ที่กระทบต่อผู้เลี้ยงไก่หรือหมูเช่นกัน
ทั้งนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงมาแรงในระยะหลังคือกลุ่มโลหะหนัก ซึ่งเกิดจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ในขณะที่น้ำมันและทองคำยังไม่ได้ลดลงมากนัก
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP