ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี Bloomberg Commodity Spot พุ่งขึ้นถึง 9% รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1974 ซึ่งเป็นช่วงของวิกฤตการราคาน้ำมัน เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบประเภทต่างๆ ไล่ตั้งแต่น้ำมัน อะลูมิเนียม และข้าวสาลี ซ้ำเติมแรงกดดันจากเรื่องของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
ราคาน้ำมันดิบอย่างเบรนท์พุ่งขึ้น 25% ในสัปดาห์ที่ผ่านมาไป แตะจุดสูงสุดที่ 118 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่ JPMorgan Chase & Co. ระบุว่า ราคาอ้างอิงของน้ำมันดิบเบรนท์มีโอกาสจะพุ่งไปถึง 185 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากปริมาณการผลิตจากรัสเซียยังคงหายไป
เช่นเดียวกับราคาข้าวสาลีก็เพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดนับแต่ปี 2551 จากความกังวลว่าอุปทานจางหายไป เนื่องจากยูเครนและรัสเซียเป็นหนึ่งในแหล่งส่งออกสำคัญของโลก ส่วนราคาของอะลูมิเนียมก็เพิ่มขึ้นแตะ 3,700 ดอลลาร์ต่อตัน นับเป็นสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆ ก็ปรับตัวขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ยางพารา มันสำปะหลัง กาแฟ น้ำมันปาล์ม ท่อนซุง เป็นต้น
ปัจจัยดังกล่าวทำให้หุ้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ปรับตัวขึ้นเป็นส่วนใหญ่ หากดูจากสถิติของหุ้นไทยทั้งในดัชนี SET และ mai ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ วันที่ 3 มีนาคม 2565) ในบรรดาหุ้น 30 ตัวแรกที่ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด มีหุ้นถึง 12 ตัว ที่เป็นหุ้นที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าโภคภัณฑ์หรือให้บริการกับธุรกิจที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น SEAOIL ผู้จำหน่ายน้ำมันให้กับลูกค้าทางทะเล ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 64.19% AGE ผู้จำหน่ายถ่านหิน ราคาเพิ่มขึ้น 56.80% หรือ LANNA ผู้ผลิตและจำหน่ายถ่านหิน ราคาเพิ่มขึ้น 35.06%
“สินค้าโภคภัณฑ์ตอนนี้ไม่ใช่จังหวะซื้อแล้ว” สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย กล่าว “ที่ผ่านมาราคาสินค้าโภคภัณฑ์และหุ้นกลุ่มนี้ถูกเล่นใน 2 เรื่อง คือใช้ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อและแรงกดดันจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ราคาที่ขึ้นมาถึงจุดนี้ มันเลยปัจจัยเหล่านี้ไปหมดแล้ว”
ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครนน่าจะเดินทางมาเกินครึ่งทางแล้ว หลังจากผ่านเรื่องของการแบนทางการเงิน และการส่งกำลังทหารบุกเข้าไป สิ่งสำคัญที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือจะเกิดการเจรจาครั้งที่สองขึ้นหรือไม่ หากเกิดขึ้นเชื่อว่าจะทำให้ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงมาอย่างรวดเร็ว
“หากมีการเจรจาเกิดขึ้นน่าจะทำให้ราคาน้ำมันหลุดต่ำกว่า 100 ดอลลาร์อย่างรวดเร็ว และดึงให้ราคาสินค้าอื่นๆ ลดลงตาม”
หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์กลับมาน่าสนใจ
สรพลกล่าวต่อว่า หากมองภาพต่อไปในไตรมาส 2 กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจเข้าลงทุนมากกว่าในช่วงเวลานี้คือ กลุ่มไฟแนนซ์ เนื่องจากบอนด์ยีลด์มีโอกาสจะพักฐานลงมา จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจจะไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 0.5% ในเดือนมีนาคมนี้ โดยอาจจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ซึ่งจำทำให้บอนด์ยีลด์ปรับฐานลง
สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือเงินทุนมีโอกาสไหลเข้ากลุ่มไฟแนนซ์ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อผู้บริโภค (Consumer Finance) ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารมีโอกาสจะพักฐาน พร้อมกับการอ่อนค่าของเงินบาท หลังจากที่เงินทุนต่างชาติไหลเข้าค่อนข้างมากก่อนหน้านี้
“ก่อนหน้านี้เราเห็นหุ้นอย่าง KTC AEONTS และกลุ่มสินเชื่อรายย่อยมีผลประกอบการออกมาค่อนข้างดี ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปีนี้น่าจะดีเช่นกัน ทำให้กลุ่มไฟแนนซ์มีโอกาสจะโดดเด่นขึ้นมา”
ชี้เป็นจังหวะขายทำกำไรกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า ราคาหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้นมาค่อนข้างมากแล้ว ขณะที่ราคาน่าจะถูกผลักดันด้วยภาวะสงครามที่เกิดขึ้น หากอิงจากในอดีตเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์มักจะใช้เวลาไม่นานในการเข้าสู่จุดสมดุล
“หากการเจรจาเกิดขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ขึ้นไปมีโอกาสจะกลับลงมาเร็ว ก่อนหน้านี้อาจจะมีการเก็งกำไรเยอะ แต่เป็นการขึ้นด้วยปัจจัยเรื่องสงครามซึ่งไม่ได้ทำให้พื้นฐานของสินค้าเหล่านี้เปลี่ยนไป แต่ก็อาจจะมีสินค้าบางอย่างที่พื้นฐานเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เช่น อุตสาหกรรม EV ทำให้ดีมานด์ของลิเทียมเพิ่มขึ้นอย่างมาก”
โดยสรุปแล้ว การขึ้นของราคาด้วยเหตุการณ์ที่ผิดปกติน่าจะเป็นจังหวะในการขายออกมากกว่า ส่วนนักลงทุนที่ตัดสินใจถือต่อจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรับความผันผวนได้สูง เพราะหากสถานการณ์ไม่ได้ตึงเครียดมากขึ้น ราคาก็ไม่ควรจะขึ้นไปกว่าเดิม
“อย่างล่าสุดมีข่าวเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในยูเครน จะเห็นว่าการตอบสนองต่อข่าวเริ่มลดลง และอัตราเร่งในการขึ้นก็ไม่เหมือนก่อนหน้านี้”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: