×

ยินดีรับฟังทุกกลุ่ม กมธ.ศึกษา แก้ รธน. เปิดเวทีฟังความเห็นจากนิสิต-นักศึกษา ตัวแทนชี้มี รธน. ที่ดี จะได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ

โดย THE STANDARD TEAM
13.03.2020
  • LOADING...

วันนี้ (13 มีนาคม) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎรจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากนิสิต-นักศึกษาจำนวน 45 มหาวิทยาลัย โดยมี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ. เป็นประธาน 

 

พีระพันธุ์กล่าวเปิดเวทีว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่คำนึงถึงแต่ตัวเอง การที่คิดว่ามีสิทธิเสรีภาพจะทำอะไรก็ได้นั้น ถือว่าไม่ใช่ เพราะความจริงต้องคิดถึงคนอื่นด้วย เนื่องจากคนอื่นก็มีสิทธิเหมือนเรา ถ้าเราไม่คำนึง สังคมก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้น หัวใจรัฐธรรมนูญคือหมวดที่ด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และหมวดว่าด้วยการบริหารประเทศ ซึ่งเกี่ยวโยงกับการเลือกตั้ง ส.ส., ส.ว. และองค์กรอิสระ 

 

“รัฐธรรมนูญมี 2 ส่วนที่เกี่ยวกับประชาชน คือ เรื่องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และเรื่องสิทธิในการบริหารประเทศ ดังนั้น ทาง กมธ. จึงได้หารือว่าต้องทำรัฐธรรมนูญไม่ให้เป็นของฝ่ายการเมืองหรือคู่มือของฝ่ายการเมือง การที่เราจะทำแบบนี้ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการรับฟังขึ้นมา มอบหมายให้ วัฒนา เมืองสุข ไปรับฟังทุกกลุ่มตามระยะเวลาที่ กมธ. มีอยู่ หนึ่งในกลุ่มที่สำคัญคือ กลุ่มนักศึกษา ซึ่งท่านจะบอกว่าเป็นเด็กไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นวัยที่กำลังเติบโต” พีระพันธุ์กล่าว 

 

จากนั้นได้เปิดโอกาสให้นิสิต-นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็น โดย บุญเกื้อหนุน เป้าทอง ภาคีนักศึกษาศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเราไม่ได้เลือกมา เราไม่มีปากเสียงอะไรเลย ต่อมาเมื่อมีการทำประชามติ ก็ไม่ให้เราออกมาส่งเสียงว่าทำไมจึงไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งยังใช้อำนาจรัฐทุกช่องทางในการปิดเสียงคนเห็นต่าง ซึ่งนักศึกษาที่มาวันนี้ไม่อาจเรียกได้อย่างเต็มปากว่า เป็นตัวแทนนักศึกษาทั้งหมด ดังนั้น ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรจึงทำให้คนได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้มากที่สุด ทั้งนี้ อยากเรียกร้องให้ กมธ. เปิดพื้นที่ให้นิสิต-นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม เราให้คำมั่นสัญญาว่า หากทุกคนเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากพวกเราอย่างแท้จริง ขอให้ยื่นมือออกมา พวกเราพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ 

 

ด้าน วิริยะ ก้องศิริ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นที่อยากเรียกร้อง คือ 1. เรื่องสิทธิเสรีภาพ เช่น รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ให้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น แต่ห้อยท้ายว่า “เว้นแต่มีกฎหมายความมั่นคงของรัฐ” ตนจึงขอเสนอให้เขียนให้ชัดเจนว่า กฎหมายเหล่านี้ควรตีความอย่างไร ดังนั้น กฎหมายใดที่สามารถเข้ามาใช้กำกับสิทธิเหล่านี้ของประชาชนได้ ไม่ใช่อ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐและความเป็นคุณกับรัฐบาล 2. ขอเสนอให้แก้มาตรา 91 ว่าด้วยวิธีการคำนวณ ส.ส. เรื่องนี้ข้อดีคือ จะทำให้พรรคใหญ่ไม่มีเสียงที่มากจนเกินไป และให้พรรคเล็กได้มีพื้นที่ แต่หากพรรคการเมืองที่มีเสียงน้อยเกินไปไม่มีระบบการจัดการ จะไม่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของพี่น้องได้อย่างแท้จริง 3. ควรแก้ไขมาตรา 159 ว่าด้วยที่มานายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ ควรมาจาก ส.ส. ที่ประชาชนเลือกมา 

 

วิริยะกล่าวอีกว่า 4. ควรแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเลือกกันมาเอง มีที่มาไม่ชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐธรรมนูญกลับกำหนดให้ต้องใช้เสียง ส.ว. จึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ตรงนี้เป็นเสมือนกุญแจล็อกประเทศให้นิ่งอยู่กับที่ 5. องค์กรเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจ โดยองค์กรตุลาการถือเป็นศาลสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรม แต่วันนี้ไม่มีใครสามารถตรวจสอบองค์กรยุติธรรมได้เลย เพราะผู้บริหารศาลไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน จึงขอเสนอให้คนที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารศาลต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร โดยใช้เสียงรับรอง 3 ใน 4 เพื่อความชอบธรรมและประชาธิปไตย และ 6. องค์กรอิสระตามมาตรา 230 และมาตรา 247 วันนี้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก แต่ไม่มีอำนาจใดในการตัดสิน ทุกเรื่องจะถูกเขียนส่งไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีอำนาจในการฟ้องศาล กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนำเรื่องนี้ออกไป และทำให้เรื่องเหล่านี้กองอยู่ที่ กสม. โดยไม่ได้รับการแก้ไข 

 

“ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือ ใช้รูปแบบรัฐธรรมนูญปี 40 โดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่าง เพราะรัฐธรรมนูญที่ไม่ดีย่อมทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่ดี การมีรัฐธรรมนูญที่ดีจะทำให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพและสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้” วิริยะกล่าว

 

ด้าน พร้อมสิน บุญจันทร์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ภาคีนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า วันนี้ขอถามว่า เรียกพวกเราไม่กี่คนมาทำอะไร เพราะเวลาในการจัดเวทีครั้งนี้เพียงครึ่งวันในการรับฟังปัญหาและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่า เวลาไม่เพียงพอและวิธีการนี้ไม่ได้ผล ที่ผ่านมาเรามีการจัดแฟลชม็อบตามมหาวิทยาลัย เพื่อให้ กมธ. ได้ลงไปรับฟังความคิดเห็นตามที่นักศึกษาเสนอ เพราะตัวแทนนักศึกษาไม่กี่คนที่มานั่งอยู่ในห้องนี้ช่วยอะไรพวกท่านไม่ได้ เราเสนอความเห็นอะไรไม่ได้ เพราะไม่สามารถพูดได้ว่า พวกเราเป็นตัวแทนนักศึกษานับแสนคนทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม มาตรา 44 ได้ให้สิทธิสามารถชุมนุมไว้ แต่ก็มีการเข้ามาห้าม โดยอ้างเรื่องความมั่นคง จึงอยากถามว่า ความมั่นคงนี้เป็นของใคร ประเทศชาติ ประชาชน หรือความมั่นคงของอดีต คสช. วันนี้เราจึงขอเชิญพวกท่านลงไปรับฟังความคิดเห็นที่มหาวิทยาลัย ไม่ต้องกลัวโควิด-19 พวกเราเตรียมความป้องกันไวรัสไว้แล้ว 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising