×

ยุคธนาคารยุบสาขา ทำไมบางแบงก์กล้าขยายเพิ่ม?

15.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • สิ้นปี 2560 ที่ผ่านมา จำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยหายไป 230 สาขา คิดเป็นกว่า 3% ของทั้งระบบ
  • รายใหญ่อย่างธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ปิดสาขาลงเกือบแบรนด์ละ 100 แห่งหรือมากกว่า 7%
  • มีเพียงแบรนด์เดียวที่ขยายสาขาเพิ่มขึ้นถึง 50% และใช้กลยุทธ์อุดช่องว่างทางการตลาดที่น่าจับตามอง

ช่วงที่ผ่านมา เราเห็นพลังของ Digital Disruption กวาดล้างของเก่าเปลี่ยนผ่านสู่สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากธุรกิจสื่อที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจนล้มหายตายจากไปหลายแบรนด์แล้ว อุตสาหกรรมการเงินคือสมรภูมิรบบนโลกดิจิทัลที่ต้องปรับตัวอย่างหนัก เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปเร็วมาก จนพนักงานธนาคาร สาขาธนาคาร หรือกระทั่งตัวธนาคารที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายก็ไม่สามารถอยู่เฉยได้อีกต่อไป

 

สิ้นปี 2560 ที่ผ่านมา จำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยทั้งระบบหายไป 230 สาขา นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามอง สะท้อนความสำคัญและรูปแบบการบริการที่แตกต่างไปจากอดีต ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงมักมีโอกาสเสมอ แม้ธนาคารรายใหญ่จะทยอยปิดสาขาเพิ่มขึ้น ยังมีบางแบรนด์ที่ขยายสาขาเพิ่มสวนทางอย่างคาดไม่ถึง เพราะอะไรกัน? สำนักข่าว THE STANDARD จึงตั้งข้อสังเกตและหาคำตอบเรื่องนี้  

 

เมื่อธนาคารปิดกว่า 200 สาขา ระบบอยู่นี่ คนอยู่ไหน

 

จากข้อมูลสถิติธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้นปี 2560 พบว่าจำนวนสาขาของธนาคารลดลงรวม 230 สาขา ลดลง 3.28% จากปี 2559 โดยเมื่อพิจารณาผู้เล่นรายใหญ่ของธุรกิจการเงินพบว่าธนาคารกรุงเทพยังคงเปิดสาขาเพิ่มถึง 11 สาขา เพิ่มขึ้น 0.95% จากปีก่อน ธนาคารขนาดกลางอย่างธนชาต ปิดสาขาถึง 69 สาขา คิดเป็นสัดส่วนสูงสุดที่ 11.64% ขณะที่รายใหญ่อย่างธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทยปิดสาขาลงเกือบแบรนด์ละ 100 แห่งหรือมากกว่า 7% คู่แข่งสำคัญอย่างธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ส่วนธนาคารทหารไทยลดจำนวนสาขาลง 21 สาขาหรือ 4.64%

 

 

แบรนด์ที่ยกธงขาวให้กับธุรกิจบริการรายย่อยหรือ Retail Banking ไปอีกรายในปีที่ผ่านมา คือ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ที่ขายกิจการส่วนลูกค้ารายย่อยให้กลับธนาคารทิสโก้ด้วยดีล 5.5 พันล้านบาท โดยยุบสาขาทั้งหมด 17 สาขา เหลือเพียงสำนักงานใหญ่ที่ถนนสาทรสำหรับบริการลูกค้าองค์กรเท่านั้น ขณะที่ธนาคารทิสโก้ระบุจำนวนสาขาเพิ่ม 3 แห่ง

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2555 ธนาคาร HSBC จำเป็นต้องปรับโครงสร้างหลังผลประกอบการย่ำแย่เข้าขั้นวิกฤต ในประเทศไทย HSBC ขายธุรกิจรายย่อยทั้งหมดให้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยาไป จึงเหลือแบรนด์ธนาคารระดับโลกที่ยังรุกตลาด Retail Banking ของไทยไม่มากนักปัจจุบัน

 

หากพิจารณาข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยย้อนหลัง 10 ปี พบว่าที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ขยายสาขาเพิ่มต่อเนื่องมาโดยตลอด ปี 2551 ขยายเพิ่มขึ้นถึง 7.52% แม้กระทั่งปีน้ำท่วมใหญ่ 2554 จำนวนสาขาของทั้งระบบยังเพิ่มขึ้น 3.77% หรือปี 2557 ที่เกิดรัฐประหารครั้งล่าสุดก็ยังขยายเพิ่ม 4.3%

 

สิ่งที่น่าสังเกตคือ ปี 2558 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบกลับชะลอการเพิ่มสาขา โดยขยายตัวเพียง 0.81% หรือแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย ถัดมาปี 2559 ปรากฏการณ์ปิดสาขารับ Digital Disruption เริ่มเห็นชัดเจน เป็นครั้งแรกที่จำนวนสาขาเริ่มลดลงในรอบทศวรรษ จนเมื่อปี 2560 นี้เอง ตัวเลขสาขาปิดตัว 230 แห่งหรือ 3.28% จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่งที่สะท้อนการปรับตัวขนานใหญ่

 

ในเมื่อผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการทางอินเทอร์เน็ตหรือโมบายแบงกิ้งได้ตลอดเวลา ความจำเป็นในการเดินทางไปทำธุรกรรมที่สาขาก็ลดลงไป ธนาคารจึงหันไปลงทุนพัฒนาระบบและแพลตฟอร์มให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นสอดรับกับการตลาดดิจิทัล ขณะที่การบริการดั้งเดิมผ่านสาขาก็ถูกลดความสำคัญจนห่างไกลจากบทบาทของตัวเอกที่เคยเป็นมาหลายสิบปี

 

คนอื่นปิด ‘ไทยเครดิต เพื่อรายย่อย’ เดินหน้าเปิดสาขาเพิ่ม

 

เมื่อพิจารณาข้อมูลจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ สำนักข่าว THE STANDARD ตั้งข้อสังเกตว่าขณะที่บรรดาธนาคารต่างๆ พากันลดจำนวนสาขา แต่ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่กลับเปิดสาขาเพิ่มมากขึ้นสวนทางกับภาพรวมของทั้งอุตสาหกรรม

 

ปี 2560 ที่ผ่านมา ธนาคารเปิดสาขาเพิ่มขึ้น 44 สาขา หรือคิดเป็น 50% จากปี 2559 ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 132 สาขา ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 30 สาขา ภาคกลาง 50 สาขา และภาคอื่นทั่วประเทศ 62 สาขา โดยที่ส่วนใหญ่เป็นสาขาสินเชื่อเพื่อรายย่อย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการขยายฐานลูกค้าที่ธนาคารรุกคืบอย่างรวดเร็ว ให้คำปรึกษาด้านการเงิน บริการสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตสำหรับธุรกิจรายย่อย ซึ่งเน้นจับกลุ่ม SMEs พ่อค้าแม่ขายที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการอุดช่องว่างทางการตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากลูกค้าระดับฐานรากมักจะขาดหลักประกันหรือมีที่มาของรายได้ไม่ชัดเจนและมักจะไม่ผ่านเกณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป จึงถือเป็นโอกาสขนาดเล็กแต่จำนวนมหาศาลที่แบงก์เล็กจะเช้าชิงพื้นที่

 

หากพิจาณาผลการดำเนินการของธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ในช่วงที่ผ่านมา รายได้จากดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และบริการเติบโตขึ้นทุกปีสอดคล้องกับเงินให้สินเชื่อที่เติบโตขึ้นจนล่าสุดทะลุกว่า 3 หมื่นล้านบาทแล้ว

 

 

เป็นระยะเวลา 11 ปีเท่านั้นที่ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย ดำเนินการด้าน Retail Banking แม้จะเป็นธนาคารขนาดเล็กและอาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นตาของคนเมืองมากนัก แต่เดินเกม ‘ป่าล้อมเมือง’ เก็บเบี้ยใต้ถุนร้านจากลูกค้ารายเล็กๆ ไปเรื่อยๆ จนสร้างฐานได้กว้างขวาง เติบโตรวดเร็ว มีตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) ที่ไม่ธรรมดาคือ ‘ธนาคารขนาดเล็กที่ดีที่สุด’ เพื่อคนตัวเล็กนั่นคือหน่วยธุรกิจระดับฐานรากของประเทศทั้งหลาย แม้ธนาคารอื่นจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่หวือหวา ล้ำสมัย ใช้ปัญญาประดิษฐ์ และฟาดฟันกันในยุค 4.0 นี้อย่างไร ยังมีช่องว่างให้กับผู้ที่มองเห็นโอกาสได้เก็บเกี่ยวดอกผลที่มักถูกมองข้ามไปได้เสมอ

 

การแข่งขันในโลกธุรกิจปัจจุบัน หากเปรียบเป็นสนามยิงปืน อาวุธจะเล็กหรือใหญ่เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ายิงได้ตรงจุดแล้ว จะเล็กแค่ไหนก็สู้กับรายใหญ่ได้ไม่ยาก

 

Infographic: Karin Foxx.

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising