ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต อันเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนพฤษภาคม 2564 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 41.6 เทียบกับระดับ 43.5 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต ในทุกภาคและทุกอาชีพ
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 36.4 มาอยู่ที่ระดับ 34.3 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตพบว่า ปรับลดลงจากระดับ 48.2 มาอยู่ที่ระดับ 46.5
หากจำแนกรายภูมิภาคจะพบว่าลดลงในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคกลางมีสัดส่วนการลดลงมากที่สุด ปรับตัวลดลงจากระดับ 44.2 มาอยู่ที่ระดับ 39.7 รองลงมาคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากระดับ 41.5 มาอยู่ที่ระดับ 38.5 ภาคเหนือ จากระดับ 43.5 มาอยู่ที่ระดับ 40.5
เมื่อจำแนกรายอาชี ก็ลดลงทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาปรับลดลงจากจากระดับ 41.6 มาอยู่ที่ระดับ 37.1 ซึ่งมีสัดส่วนการปรับลดลงมากที่สุด, กลุ่มไม่ได้ทำงานปรับลดลงจากระดับ 37.2 มาอยู่ที่ระดับ 36.9 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นต่ำที่สุด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากที่สุด และมีความไม่มั่นคงในการดำรงชีพ
ส่วนกลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 49.6 มาอยู่ที่ระดับ 47.4, กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 43.1 มาอยู่ที่ระดับ 41.2, กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 42.4 มาอยู่ที่ระดับ 40.6, กลุ่มเกษตรกร จากระดับ 44.3 มาอยู่ที่ระดับ 42.6 และกลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 41.0 มาอยู่ที่ระดับ 39.3
ภูสิตระบุว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่มียอดผู้ติดเชื้อรายวันจำนวนมาก รวมถึงความล่าช้าของการฉีดวัคซีนและการกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ
อย่างไรก็ดี หากภาครัฐสามารถกระจายและฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว จะส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยฟื้นปรับตัวดีขึ้นตามลำดับได้
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล